ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
· ภาพรวมสินเชื่อไตรมาสแรก ปี 2564 ชะลอตัว แต่สินเชื่อธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่อง ภาพรวมเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ระดับ 12.85 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.55% QoQ นำโดย สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.43% YoY ในไตรมาสที่ 1/2564 จากที่เติบโต 6.13% YoY ในไตรมาส 4/2563 เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงมากในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกแรก ส่วนภาพรวมเงินรับฝากของธ.พ. จดทะเบียนในประเทศอยู่ที่ระดับ 14.70 ล้านล้านบาทในไตรมาส 1/2564 ชะลอการเติบโตลงมาที่ 4.98% YoY จากที่เติบโตสูงถึง 10.92% ในไตรมาสที่ 4/2563 อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างเงินฝากยังคงขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า นำโดย การเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน
· สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 2/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อของระบบธ.พ. จดทะเบียนในประเทศจะสามารถประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่องในไตรมาส 2/2564 แต่อัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะทำได้ใกล้เคียงหรือชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยสถานการณ์สินเชื่อในไตรมาสที่ 2/2564 น่าจะสะท้อนภาพ 2 ด้านในเวลาเดียวกัน โดยในขณะที่ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องสำหรับลูกค้า และเร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อภายใต้มาตรการด้านสินเชื่อใหม่ของธปท. (อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้) แต่สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศระลอกสามที่มีความเสี่ยงมากขึ้นและยังคงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ก็มีผลให้ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเพื่อลงทุนใหม่หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนยังจำกัดตามภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารยังคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปการเน้นติดตามให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และดูแลคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตไปพร้อมกัน
댓글