top of page
379208.jpg

ธกส. พร้อมพักหนี้ 3 ปี! เติมเงินให้อีก 1 แสนบาท/ราย


ธ.ก.ส.บริการฉับไว พร้อมเดินหน้าพักหนี้เกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล มีลูกหนี้ ธ.ก.ส.เข้าข่ายร่วมโครงการพักหนี้ 2.7 ล้านราย แต่ละรายมีหนี้ทุกบัญชีร่วมกันไม่เกิน 3 แสนบาท รวมเป็นเงินที่ใช้ในโครงการพักหนี้ 2.7 แสนล้านบาท ระบุ...เป็นการพักหนี้แบบสมัครใจ หนี้ NPL ก็ร่วมโครงการได้ พักทั้งต้นทั้งดอกรวม 3 ปี โดยดอกเบี้ยคงค้างเก่ายังถือเป็นภาระลูกหนี้ ส่วนดอกเบี้ยเกิดใหม่ระหว่างพักหนี้ทางรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพช่วยจ่ายให้ อีกทั้งตลอดช่วงเวลาพักหนี้ ทาง ธ.ก.ส.จะเข้าไปดูแลและประเมินศักยภาพลูกหนี้ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย การผลิต การตลาด เพื่อฟื้นฟูอาชีพให้มีรายได้เพิ่มเพียงพอที่จะกลับมาชำระหนี้หลังจบโครงการ นอกจากนั้น ยังเติมทุนให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการด้วยสินเชื่ออีกรายละ 1 แสนบาท เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายโดยไม่ไปกู้เงินนอกระบบ ตั้งเป้ามีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 70% และเชื่อมั่นว่าลูกหนี้ที่ร่วมโครงการทุกรายจะกลับมาเป็นลูกหนี้ที่ดี สามารถปลดหนี้ได้ในที่สุด



Interview : คุณไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษก

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


กนง.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 2.50% ทาง ธ.ก.ส.จะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องอัตราดอกเบี้ยด้วยหรือไม่

ตอนนี้ ธ.ก.ส.กำลังดำเนินการดูอยู่ว่าจะกระทบแค่ไหน เราคิดว่าโดยบทบาทของเราจะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพราะไม่อยากให้กระทบกับพี่น้องเกษตรกร ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงต้องปรับตามกลไกตลาด ในหน่วยงานส่วนนี้ยังไม่ได้เคาะออกมา ตอนนี้ยังคงเดิมไว้ก่อน


เรื่องมติครม.มีมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย นอกจากพักต้นยังต้องมีการฟื้นฟูหนี้ให้ลูกหนี้ทาง ธ.ก.ส.มีแผนงานเรื่องนี้อย่างไร

นโยบายพักชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยในครั้งนี้เป็นการพักต้นเงินและดอกเบี้ย และระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในมาตรการดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รัฐบาลก็จะดูแลด้วยการจ่ายแทนพี่น้องเกษตรกรและลูกหนี้รายย่อย หลักๆ เป็นการแบ่งเบาภาระหนี้สิน หนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรหลังภาวะวิกฤตโควิด อย่างที่ทราบกันว่าในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ ก็หนักหนาพอสมควรโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยก็ได้รับผลกระทบ รัฐบาลเลยมีมาตรการมาช่วย


พักหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี

โดยตัวมาตรการกำหนด 3 ปี แต่เราแบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงนี้เรากำลังดำเนินการช่วงที่ 1 หลักๆ คือพักชำระหนี้ให้เกษตรกรและบุคคลรายย่อยที่มีสถานะหนี้ทั้งหนี้ปกติและเลยกำหนดชำระหนี้ด้วย คือ NPL สามารถเข้าร่วมมาตรการได้ แต่กำหนดเรื่องของเงินต้นที่เป็นหนี้ทุกๆ สัญญารวมกัน ณ วันนี้ 30 กันยายน 2566 ต้องมีหนี้รวมกันไม่เกิน 300,000 บาทถึงจะเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งตอนนี้ ธ.ก.ส.ประมวลผลลูกหนี้ที่มีอยู่ เรามีลูกหนี้ 4.28 ล้านราย แต่พอประมวลผลพบว่าที่มีวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งมาตรการนี้สามารถช่วยพี่น้องเกษตรกรได้ประมาณ 2.7 ล้านราย หรือ 60% ของลูกหนี้ ธ.ก.ส.


ส่วนคนที่มีหนี้เกิน 300,000 บาท จะไม่ช่วยเขาเลย หรือว่าช่วยเฉพาะ 300,000 บาทแรกไหม

ตามคณะกรรมการรัฐมนตรีมีมติให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการ การพักหนี้ครั้งหนี้พักหนี้สำหรับคนไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนคนที่เป็นหนี้เกิน 300,000 บาท ไม่ได้อยู่ในมาตรการนี้ อีกทั้งหนี้ในกลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท รวม 2.7 ล้านรายต้องเข้าโครงการพักหนี้ โดยสมัครใจ เราไม่ได้พักทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เพราะพี่น้องเกษตรกรบางรายที่มีภาระหนี้ไม่มากเขาอาจดูแลตัวเองได้ เขาอาจไม่เข้าร่วมโครงการได้ ก็เป็นความสมัครใจของพี่น้องเกษตรกรเอง


คิดว่าลูกค้าจะสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้มากไหม

มาตรการนี้นอกจากจะให้ความช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ผู้ที่อยู่ในมาตรการยังมีสิทธิ์เข้าร่วมประเมินศักยภาพในเรื่องหนี้ที่มีอยู่ โดย ธ.ก.ส.จะเข้ามาดูว่าหนี้ที่มีอยู่มีรายได้เป็นยังไง ค่าใช้จ่ายเป็นยังไง การทำมาหากินของเขาพอไหมและติดขัดเรื่องอะไร เช่น บางท่านติดขัดเรื่องการผลิต บางท่านติดขัดเรื่องการตลาด อันนี้จะเป็นโอกาสคนที่เข้าร่วมมาตรการจะได้รับการช่วยเหลือโดย ธ.ก.ส.ได้ประเมินศักยภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะร่วมภาคีกันกับ ธ.ก.ส.โดยไปฟื้นฟูอาชีพให้เขาและหวังว่าคนที่อยู่ในมาตรการ 3 ปีเมื่อครบแล้ว จะมีกำลังมีแรงกลับมาส่งชำระหนี้ตัวเองที่มีอยู่ได้ อันนี้เป็นข้อดีของการเข้าร่วมมาตรการ และอีกอย่างคือในระหว่างที่เข้าร่วมมาตรการนอกจาก ธ.ก.ส.เข้าไปฟื้นฟูอาชีพแล้วธนาคารยังมีสินเชื่อเพิ่มเพื่อนำไปเป็นทุนในการผลิตล็อตใหม่ ซึ่งการพักหนี้ที่ผ่านมาเราไม่ได้เติมสินเชื่อให้ แต่มาตรการนี้มีการเติมทุนให้รายละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้พี่น้องที่อยู่ในมาตรการกลับไปเป็นหนี้นอกระบบเวลาไม่มีเงินใช้สอย อันนี้ก็ดูตามความจำเป็น

ธ.ก.ส.จึงประเมินว่ากว่า 70% ของกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่ายน่าจะเข้าร่วมมาตรการ จากนั้นพอเฟสที่ 1 เราจะมาประเมินกันอีกรอบนึงว่าเขาพอไปได้ไหม หรือใครที่ยังไม่ฟื้นตัวต้องได้รับการช่วยเหลือต่อไปในเฟสที่ 2 อันนี้ ธ.ก.ส.จะต้องมีการประเมินทุกปี คิดว่าเฟสที่ 1 น่ามีลูกหนี้จะเข้าร่วมมาตรการกว่า 70%


ที่บอกมีลูกค้า 2.7 ล้านรายที่สามารถร่วมโครงการได้ พวกนี้เป็น NPL กี่ราย

ที่เราดู 2.69 ล้านรายในปัจจุบันมีคนเป็น NPL ประมาณ 600,000 เป็นรายเล็กๆ น้อยๆ รวมกันแล้วไม่มาก ตรงนี้จะเป็นโอกาสของคนที่เป็น NPL สิ่งที่คนเป็น NPL เนื่องจากเขามีต้นเงินกับดอกเบี้ยที่เป็นภาระหนักอยู่ เพราะถ้าเขาไม่มีต้นเงินกับดอกเบี้ยก็จะไม่เป็น NPL ตอนนี้เขามีหนี้ก้อนนึงก่อนวันที่ 30 กันยายน เป็น NPL ถ้าเข้ามาอยู่ในมาตรการคนที่เป็น NPL จะได้รับการดูแลโดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้การผลิตของเขา แต่ถ้าคนที่เป็น NPL นำเงินมาส่งในช่วงนี้ คือผู้กู้มีความประสงค์ชำระหนี้ตัวเองโดยการเอาเงินมาส่งธนาคารก็สามารถรับชำระได้ คนเป็น NPL มาส่งเราจะนำเงินตัวนี้ไปตัดต้น 100% ทำให้ภาระหนี้ลดลงไป อันนี้เป็นมาตรการนึงที่ช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้ NPL ให้กลับมาเป็นหนี้ดี


ทำไมตัดยอดหนี้แค่รายละไม่เกิน 300,000 ไม่เพิ่มการช่วยเหลือให้ผู้ที่เป็นหนี้ไม่เกิน 500,000 บาท

อันนี้เราดูเรื่องของความจำเป็นต้องช่วยเหลือตามกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากก่อน ซึ่งตอนนี้ดูแล้วลูกค้ารายย่อยเขามีการทำกินแค่นี้ หนี้ไม่เกิน 300,000 บาทเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะ ถือเป็นเงินก้อนนึงของครอบครัวเขาที่จำเป็น ก็เลยทำกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากก่อน ส่วนลูกค้าที่อยู่นอกมาตรการที่มีหนี้เกินกว่า 300,000 บาทก็ยังสามารถได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อที่จะขยายกิจการหรือนำไปทำการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนตามโครงการของแต่ละประเภท อันนี้ ธ.ก.ส.ยังดำเนินการช่วยเหลือในกลุ่มหนี้ที่ไม่เกิน 300,000 นี้ด้วย


การพักต้นพักดอกเป็นใครก็ชอบ แต่มีวรรคนึงที่บอกว่าการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. อันนี้เราทำอะไรให้เขาบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อหนี้นอกระบบ

อันที่ 1 เราไม่อยากให้เขามีภาระหนี้เพิ่ม ก็กันไม่ให้กู้ใหม่ ยกเว้นการกู้เพื่อฟื้นฟูอย่างที่บอกไป และสิ่งที่เราจะฟื้นฟูเขาคือเราจะพัฒนาอาชีพและความรู้ แต่ความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาอาชีพด้วย เราจะเติมความรู้ทางการเงินให้เขาเพื่อให้มีความรู้ในการบริหารจัดการในครัวเรือน

อันที่ 2 การพัฒนาด้านอาชีพไม่ว่าจะเป็นอาชีพเดิมที่เขาทำอยู่หรืออาชีพเสริมหรือเติมอาชีพใหม่เข้าไป อันนี้ ธ.ก.ส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าไปดูหลังจากที่สแกนตัวลูกหนี้แต่ละรายว่าเขามีปัญหาอะไรซึ่งปัญหาหลากหลายมาก บางคนผลิตแล้วไม่รู้จะขายให้ใคร อันนี้มีปัญหาเรื่องการตลาด เราต้องไปดูเป็นรายๆ ไป ก็เป็นการเพิ่มเติมให้เขานำนวัตกรรม นำเทคโนโลยี มาแก้ไขปัญหาให้เขา ทำให้หน่วยการผลิตของเขากลับมาเป็นส่วนสำคัญของประเทศ และเราคาดหวังว่าครั้งนี้ถ้าเราทำครบทุกมิติในเรื่องลดภาระหนี้สินของเขา เติมความรู้ทางการเงินของเขามา สแกนรายได้ค่าใช้จ่ายให้เขาแล้วปิดปัญหาที่เขามี คาดว่า 3 ปีนี้เกษตรกรน่าจะกลับมามีรายได้เพียงพอต่อความเป็นอยู่ ก็เป็นความตั้งใจทำให้เขาสามารถฟื้นฟูได้จริงๆ


มีการตั้งเป้าว่าลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการพักต้นพักดอก สุดท้ายจะประสบความสำเร็จตามโปรแกรมกี่เปอร์เซ็นต์

จริงๆ ในลูกหนี้ 2.7 ล้านราย เราคาดหวังทุกราย แต่ใน 2.7 ล้าน บางคนอาจจะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการลดภาระเรื่องดอกเบี้ย คนอื่นยังพอไปต่อได้เขาก็ไป ถ้าบางคนจำเป็นต้องทำถึง 3 มิติ ในเฟสแรกถ้าใครมีความหนักจริงๆ เราจะเร่งรัดทำกลุ่มที่เป็นหนี้ 300,000 บาทให้พัฒนาแบบเข้มข้นปีต่อๆ ไปก็จะมีงบประมาณรัฐบาลมาช่วย เราคาดหวังว่าเมื่อทุกรายเข้ามาในมาตรการแล้วทุกครัวเรือนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ


การพักหนี้ทั้งหมด 3 ปี รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือเป็นเงินเท่าไหร่

เบื้องต้นที่เข้าครม.ในปีนี้เนื่องจากชุดแรกเต็มจำนวน คือ 2.7 ล้านราย จะครอบคลุมวงเงินเป็นหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการประมาณ 2.7 แสนล้าน ถ้าเข้าทั้งหมด 100% รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณช่วยดูแลเรื่องของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ แต่ดอกเบี้ยเก่ายังเป็นภาระของลูกหนี้อยู่ ส่วนดอกเบี้ยเกิดขึ้นใหม่ที่ผมบอกว่าพี่น้องเกษตรกรไม่ต้องเสียนั้นรัฐบาลดูแลโดยจัดสรรงบประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนปีที่ 2-3 ต้องมาดูอีกทีนึงว่าจะมีคนเข้าร่วมมาตรการมากน้อยแค่ไหน


ถ้าครบกำหนด 3 ปีแล้ว ดอกเบี้ยเก่าก็ต้องเอามาชำระใช่ไหม

ใช่ ภาระดอกเบี้ยเก่าที่วางไว้ต้องมาชำระ ถือว่าเป็นภาระของตัวลูกหนี้อยู่ แต่เรามีมาตรการอย่างที่บอก ถ้ากรณีคนที่เป็นหนี้ NPL เข้ามาชำระก็เข้าต้น 100% แต่ถ้าคนที่ไม่เป็น NPL เอาเงินมาชำระ 100 บาท เราก็ช่วยเขาลดภาระด้วยการนำ 100 บาทไปตัดดอกเบี้ย 50 และตัดต้น 50 ทำให้ภาระเงินต้นเขาลดลง เมื่อเงินต้นเขาลดลง ดอกเบี้ยใหม่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็ลดลงด้วย


ในส่วนของ ธ.ก.ส. เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่พร้อมไหม เพราะเหนื่อยเหมือนกันที่ต้องไปนั่งคุย

จริงๆ พร้อมมากเพราะเราได้ซักซ้อมพนักงานทั้งหมดที่เรามีอยู่ 8,000-9,000 คนในพื้นที่ อีกเรื่องคือ ธ.ก.ส. จะประมวลข้อมูลทั้งหมดของคนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการเข้าไปอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ให้ลูกหนี้สมัครใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถตรวจสอบสิทธิ์ว่าท่านมีสิทธิ์หรือไม่ โดยดูผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. หรือที่เรียกว่า BAAC Mobile ลูกค้าที่มีวงเงินเป็นหนี้ที่ไม่เกิน 300,000 บาทเข้าไปเช็ก จะมีเมนูให้ ใช้เลขที่บัตรประชาชน 13 หลักเข้าไปตรวจสอบ ถ้าท่านสมัครใจก็กดเข้าร่วมมาตรการ เสร็จแล้วทาง ธ.ก.ส.จะมีการนัดหมายกลับไปที่มือถือของท่าน ซึ่งทาง ธ.ก.ส.จะลงไปพื้นที่ให้บริการ เรามีความพร้อม

3,003 views

Comments


bottom of page