top of page
358556.jpg

ธอส. เผย 9 เดือนแรกปี 66 ปล่อยสินเชื่อช่วยให้คนไทยมีบ้าน 1.74 แสนล้านบาท


ธอส. เผย 9 เดือนแรกปี 66 ปล่อยสินเชื่อช่วยให้คนไทยมีบ้าน 1.74 แสนล้านบาท

พร้อมเดินหน้ายกระดับการบริการด้านดิจิทัล เพิ่มความสะดวกลูกค้ามากขึ้น


ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เผยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ปล่อยสินเชื่อใหม่ ได้ถึง 138,184 บัญชี 174,272 ล้านบาท คิดเป็น 74% ของเป้าหมายในปี 2566 ที่ตั้งไว้ 235,480 ล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,669,492 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,721,295 ล้านบาท เงินฝากรวม 1,475,077 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 70,809 ล้านบาท คิดเป็น 4.24% ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองเตรียมพร้อมรองรับหนี้เสียจำนวน 141,808 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 200.27% พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไป และพร้อมลดภาระค่าใช้จ่ายการผ่อนชำระเงินงวดลงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งยกระดับการให้บริการด้านดิจิทัลขึ้นไปอีกขั้นกับ 3 บริการพิเศษจาก ธอส. ประกอบด้วย Digital AppraisalDigital Loan Process Digital Loan Documentation Process , และ

นายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ยังคงเดินหน้าสานต่อพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 138,184 บัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 174,272 ล้านบาท คิดเป็น 74% ของเป้าหมายในปี 2566 ที่ตั้งไว้ 235,480ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางถึง 78,666 ราย ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,669,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.45% สินทรัพย์รวม 1,721,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.73% เงินฝากรวม 1,475,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.14% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (NPL) จำนวน 70,809 ล้านบาท คิดเป็น 4.24% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.50% จากสิ้นปี 2565 ที่มี NPL อยู่ที่ 3.74% มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 141,808 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 200.27% และยังคงมีกำไรสุทธิ 11,923 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.08% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดที่ 8.5%


สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง มาจากมาตรการรัฐบาลในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียน การจดจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% ของรัฐบาลที่จะสิ้นสุดในปี 2566 นี้ เป็นตัวเร่งทำให้ประชาชนโอนที่อยู่อาศัยให้ทันตามระยะที่กำหนดเพื่อรับสิทธิ์ดังกล่าว ประกอบกับความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนยังคงมีอยู่สูง แม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ ธอส. ได้จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำรองรับความต้องการของลูกค้าในหลากหลายอาชีพ และให้ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดถึง 40 ปี ทำให้ลูกค้าตัดสินใจ ขอสินเชื่อกับ ธอส. อย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุดได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ ปี 2566 อัตราดอกเบี้ยปีแรก MRR-2.80% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.10% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. ปัจจุบันเท่ากับ 6.90% ต่อปี) มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 39,143 ล้านบาท, โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2566 อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 3.90% ต่อปี มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 27,195 ล้านบาท และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก เพียง 3.00บ้านสำหรับลูกค้าสวัสดิการ ธอส. % ต่อปี มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 13,949 ล้านบาท ในด้านโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 5 ปีแรก เพียง 3.00% ต่อปี ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 11,373 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 10,422 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 10,555 ล้านบาท ล่าสุด ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2566 มีผู้รับรหัสเข้าร่วมโครงการแล้ว 61,705 ราย

“จากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามเป้าหมายที่ 235,480 ล้านบาท ได้อย่างแน่นอน โดย ธอส. ยังคงพร้อมช่วยเหลือลูกค้า ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไว้ต่อไป เพื่อไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดูแล ค่าครองชีพของประชาชน” นายกฤษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการของธนาคารได้อย่างสะดวกและคล่องตัว ธอส. จึงได้ยกระดับการให้บริการ ด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงได้พัฒนาการบริการเหนือระดับขึ้นไปอีกขั้น อาทิ โครงการประเมินราคาหลักทรัพย์ผ่านระบบดิจิทัล ระยะที่ 2 (Digital Appraisal) โครงการที่จะช่วยประเมินราคาทรัพย์ที่ลูกค้าประสงค์จะซื้อและมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อประมาณการวงเงินอนุมัติเบื้องต้นให้กับลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น โดยได้ขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มขึ้น ไปยัง จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา และสงขลา จากเดิมให้บริการในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าใช้บริการประเมินราคาทรัพย์ ผ่านระบบ Digital Appraisal แล้วกว่า 7,500 ราย และในอนาคตเตรียมขยายพื้นที่ ให้ครอบคลุมการให้สินเชื่อทั่วประเทศ โครงการ Digital Loan Process โครงการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการยื่นขอสินเชื่อ ผ่าน Application : GHB ALL GEN สำหรับลูกค้าอาชีพประจำ วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท และนำเอกสารประกอบการขอสินเชื่อเข้าระบบดิจิทัล แทนการใช้แฟ้มเอกสารกระดาษ ลดการเคลื่อนที่ของแฟ้มเอกสารและการใช้กระดาษ เพื่อใช้ข้อมูลในระบบดิจิทัลพิจารณาสินเชื่อให้แก่ลูกค้า และแจ้งผลการอนุมัติสินเชื่อผ่าน Application : GHB ALL GEN อีกครั้ง ซึ่งสามารถลดขั้นตอนและระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อลงถึง 20% ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่อเร็ว โดยตั้งแต่เริ่มโครงการ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ปัจจุบันมีลูกค้ายื่นกู้ผ่านโครงการดังกล่าวแล้ว 52,304 บัญชี คิดเป็น 89.60% ของลูกค้าที่ยื่นกู้ทั้งหมด 58,072 บัญชี ทั้งนี้ ในอนาคตธนาคาร มีแผนจะขยายโครงการไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นเพิ่มขึ้นต่อไป


โครงการ DigitalLoan Documentation Process ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมสินเชื่อในด้านเอกสารต่าง ๆ ประกอบด้วย โครงการลงนามสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Loan e-Contract) ปัจจุบันเปิดให้บริการที่ธนาคาร สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีลูกค้าลงนามสัญญากู้เงินผ่านระบบแล้วกว่า 83% ของลูกค้าสินเชื่อใหม่ที่มาติดต่อ โดยคาดว่าจะขยายการลงนามสัญญากู้เงินผ่านระบบดังกล่าวไปยังสาขาทั่วประเทศ ภายในเดือนธันวาคม 2566 โครงการลดการจัดทำแคชเชียร์เช็คเงินกู้ (Transfer Loan Amount) ธนาคารได้เชิญชวนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เข้าร่วมรับเงินโอนเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝาก แทนการรับแคชเชียร์เช็คเงินกู้ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วกว่า 300 โครงการ และโครงการจัดเก็บ Copy File Electronic แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ (โฉนด) ซึ่งลูกค้าที่เป็นลูกค้าสินเชื่อใหม่ จะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับไปทุกราย ขณะที่ลูกค้าเดิม ธนาคารได้มีการทยอยเชิญชวนให้มารับโฉนดฉบับจริงไปจัดเก็บเอง ซึ่งลูกค้าจะได้รับความสะดวก และลดขั้นตอนในการติดต่อธนาคารเพื่อคัดสำเนาโฉนด หรือขอยืมโฉนดจากธนาคารเพื่อนำไปติดต่อกับส่วนงานราชการที่จำเป็นต้องใช้ฉบับจริง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร.0-2645-9000 หรือFacebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

18 views

Comments


bottom of page