EIC ประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปีพบว่า เศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นตัว อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีมาตรการทางการคลังและการเงินคอยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะข้างหน้า ต้องจับตามองหนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐที่อาจปรับสูงขึ้นเร็ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) จากการปิดเมืองและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่การทยอยเปิดเมืองและการฟื้นตัวแบบ ค่อยเป็นค่อยไป : การระบาดของ COVID-19 และการใช้มาตรการปิดเมือง (lockdown) ที่เข้มงวดในช่วงไตรมาสแรก-ครึ่งแรกของไตรมาสที่ 2 ของหลายประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง
อย่างไรก็ดี หลังภาครัฐออกมาตรการการเงินและการคลังขนาดใหญ่ และเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 EIC ประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน (U-shaped and Uneven recovery) ผู้บริโภคจึงจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะถูกกดดันจากยอดขายที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนในระดับสูง
2) ผลของมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทางการเงินในรูปแบบที่ไม่ปกติมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดการเงิน : ภาครัฐได้ออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยนโยบายการคลังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ได้แก่ 1) นโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เช่น โครงการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 2) นโยบาย ที่สนับสนุนภาคครัวเรือน เช่น การให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ว่างงาน และ 3) นโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป สำหรับนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional measures) ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน การสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
3) จากภาวะวิ่งเข้าหาเงินสดสู่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น : การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการปิดเมืองทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเกิดภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญของโลกปรับลดลงมากที่สุดราว 30-40% ทั่วโลก อย่างไรก็ดี หลังภาครัฐอกกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องขนาดใหญ่และเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง ความเชื่อมั่นรวมถึง risk appetite ของนักลงทุนได้เริ่มกลับมา ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินเริ่มทยอยปรับตัวสูงขึ้นในบางสินทรัพย์ เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มมีการไหลกลับเข้ามาบ้างในบางประเทศ
4) หนี้ภาคเอกชนและภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะข้างหน้า โอกาสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ จากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (default risks) ปรับสูงขึ้น : การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ก่อให้เกิดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหากยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทาง คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอาจลดลง การดำเนินนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น และความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐอาจปรับแย่ลง สำหรับระยะต่อไป ต้องจับตามองความเสี่ยงจากการเกิดโรคระบาดรอบสองซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน อีกทั้งความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6881
ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
- ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- วชิรวัฒน์ บานชื่น ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- พงศกร ศรีสกาวกุล ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Comments