top of page
369286.jpg

แนะเร่งบังคับใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ...หวั่นผู้บริโภคชะลอซื้อ


ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แนะ ควรเร่งบังคับใช้ เพราะจะช่วยตลาดให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น หวั่นผู้บริโภคชะลอซื้อ เพื่อรอมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หากล่าช้าจะส่งผลกระทบให้ตลาดชะงักงัน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือว่าออกมาในจังหวะที่เหมาะสมและไม่สายเกินไปในการกระตุ้นตลาด ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหากมีผลบังคับใช้เร็วก็จะช่วยตลาดให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้เร็ว แต่หากมีผลบังคับใช้ล่าช้าจะทำให้ตลาดเกิดสุญญากาศหรือตลาดชะงักงันได้ เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคที่จะซื้อบ้านในช่วงนี้จะชะลอการซื้อและการโอนเพื่อรอรับประโยชน์จากมาตรการ

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ทั่วประเทศมีประมาณ 140,000 หน่วย หรือมีมูลค่ารวมกว่า 210,000 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยที่ 1.5 ล้านบาท/หน่วย) และคาดว่าจะมีบ้านสร้างเสร็จที่จะทยอยออกสู่ตลาดในปี 2563 อีกประมาณ 40,000 หน่วย ซึ่งจะทำให้มีบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการจนถึงปี 2563 ประมาณ 180,000 หน่วย นับเป็นโอกาสดีสำหรับคนที่ซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท รวมถึงผู้ประกอบการที่พัฒนาบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกลุ่มราคาที่มีสัดส่วนมากสุดในตลาดถึง 50%

ดร.วิชัย กล่าวอีกว่ามาตรการลดภาระภาษีผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะช่วยให้ผู้บริโภคลดภาระภาษีจากการซื้อบ้านได้เป็นอย่างมาก เช่น ผู้ที่ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท เดิมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 60,000 บาท และจ่ายค่าจดทะเบียนการจำนอง 30,000 บาท หากใช้มาตรการจะเหลือจ่ายค่าธรรมเนียมการโอน 300 บาท และค่าจดทะเบียนการจำนอง 300 บาท เท่านั้น ส่วนบ้านราคา 2 ล้านบาท จะจ่ายอย่างละ 200 บาท และบ้านราคา 1 ล้านบาท จ่าย 100 บาท หากมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ทันภายในเดือนนี้จะช่วยให้ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ฟื้นตัวขึ้นทำให้ติดลบน้อยลงมาก แต่ยังไม่ชัดเจนได้มากนักซึ่งต้องผลตอบรับจากมาตรการก่อน แต่เชื่อว่าช่วยได้ดีมาก ส่วนในปี 2563 ตลาดอสังหาฯ จะกลับมาเป็นบวกได้

นอกจากนี้เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการที่ขายคอนโดมิเนียมราคา 3 ล้านบาทต้นๆลดราคาลงมาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และในบางพื้นที่ ในบางทำเลที่มีซัพพลายคงเหลือมากๆ อาจลดราคาลงมาเพื่อรับประโยชน์จากมาตรการด้วยเช่นกัน ขณะที่คอนโดฯ ใหม่เชื่อว่าจะสร้างเสร็จไม่ทันมาตรการ เพราะใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 12 เดือน ส่วนโครงการแนวราบผู้ประกอบการสามารถเร่งสร้างทันเพราะใช้เวลาสร้างไม่นาน แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดการก่อสร้างออกมาจำนวนมากจนล้นตลาด เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก

6 views
bottom of page