top of page
369286.jpg

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (30 ก.ย. - 4 ต.ค. 62)


สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

  • เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ตามการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค และแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้า สถานการณ์ BREXIT และสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตในสหรัฐฯ และยูโรโซน นอกจากนี้ สถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยลบต่อเงินบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตอกย้ำทิศทางชะลอตัว อาทิ การจ้างงานภาคเอกชน และดัชนี ISM ภาคบริการในเดือนก.ย.

  • ในวันศุกร์ (4 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.40-30.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ตลาดรอติดตาม ได้แก่ การเจรจาในประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทางออกของเรื่อง BREXIT รวมถึงสัญญาณทิศทางดอกเบี้นโยบายของสหรัฐฯ จากบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้านำเข้า-ส่งออก เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ (เบื้องต้น) เดือนต.ค.

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดปลายสัปดาห์ที่ระดับ 1,605.96 จุด ลดลง 2.30% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,481.99 ล้านบาท ลดลง 14.68% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 2.40% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 337.32 จุด

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตลอดสัปดาห์ ตามแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ โดยปัจจัยลบที่กดดันตลาด ได้แก่ ความกังวลต่อผลประกอบการของ บจ. ในไตรมาส 3 ที่อาจจะมีทิศทางอ่อนแอ ข้อพิพาทการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงไม่คลี่คลาย การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอทั้งในสหรัฐฯและยูโรโซน ซึ่งกระตุ้นความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐฯและยุโรป หลังสหรัฐฯ อาจมีการพิจารณาเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากยุโรป

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/62 สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ความคืบหน้าประเด็นการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย.ของญี่ปุ่น

Credit: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

10 views
bottom of page