กบข. เปิดตัวเลขผลตอบแทนการลงทุน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 สามารถทำผลตอบแทน 4.4% นับว่าปรับตัวดีตามผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เลขากบข.ระบุ เชื่อมั่นตลาดทุนว่ายังไปได้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีกว่าหลายประเทศแม้จะอยู่ในช่วงชะลอตัวบ้าง
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยตัวเลขการลงทุนของ กบข. ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ว่า กบข. บริหารสินทรัพย์ลงทุน ซึ่งเป็นส่วนของเงินกองสำรองรวมกับเงินกองสมาชิกจำนวนเงินกว่า 9.5 แสนล้านบาท สามารถทำผลตอบแทนการลงทุนส่วนสมาชิกได้ 4.4% ซึ่งเป็นผลจากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวให้ผลตอบแทนดีขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 7.4% ส่วนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วให้ผลตอบแทนถึง 15.2%
สำหรับปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญด้านสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลต่อการลงทุนนั้น กบข. ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3% ซึ่งเป็นการได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล งบประมาณ 3.16 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มส่งผลดีในไตรมาสที่ 3/2562 ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 0.3% ซึ่งดีกว่าประเทศอื่นท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจโลกช่วงขาลงนี้ โดยจากรายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจพบว่าหลายประเทศมีตัวเลขเศรษฐกิจติดลบ ณ ไตรมาส 2/2562 เช่นสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบที่-3.3% ส่วนเยอรมนีติดลบ -0.1%
“กบข. มีการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายใน 15 สินทรัพย์ลงทุน และมีการเฝ้าระวังติดตามสภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างใกล้ชิด
โดยในส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นคาดว่า Downside Risk ของตลาดน่าจะจำกัดบริเวณแนวรับอยู่ที่ 1,600 – 1,620 จุด ซึ่งหากไม่มีปัจจัยลบใหม่ ๆ ที่มีความรุนแรง และเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากมาตรการต่างๆ ด้วยแล้ว เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะค่อย ๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นที่ต้องจับตามองคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 6.3% ตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ปัจจุบัน เงินบาทไทยมีลักษณะการแข็งค่าคล้ายกับเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งถูกใช้เป็นแหล่งหลบภัยเมื่อตลาดการเงินมีความผันผวน ทำให้มีเงินต่างชาติโยกเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และพันธบัตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวสลับกันไป ซึ่งการที่เงินบาทแข็งค่ามากนั้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตด้านการส่งออกของประเทศได้”