เบี้ยประกันชีวิต 7 เดือนชะลอตัว: นาข้าว-รถยนต์เซ่นพิษน้ำท่วม
- Dokbia Online
- Sep 12, 2019
- 1 min read

สถานการณ์ภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยังไม่ทันจาง โดยเฉพาะในภาคอีสาน จู่ๆเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายจังหวัด รวมทั้งภาคเหนือตอนล่างในช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เบ็ดเสร็จกินพื้นที่ไปกว่าครึ่งค่อนประเทศ ความเสียหายเป็นวงกว้างครั้งนี้ ไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว กำลังซื้อในแต่ละสาขาธุรกิจ ภาคบริการและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าภาคธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ล้วนต้องเตรียมทำใจรับสภาพและสรรพกำลังรองรับอัตราการเคลมสินไหมที่จะตามมา เฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยทรัพย์สิน สิ่งปลูกสร้าง ธุรกิจห้างร้านค้าต่างๆ ภายใต้ภาวะธุรกิจและราคาพืชผลการเกษตรที่ซึมตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีอยู่แล้ว
สมาคมประกันชีวิตไทย ระบุรายงานเบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2562) พบว่ามีเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 3.41 แสนล้านบาท ลดลง 5% เทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แยกเป็นเบี้ยประกันรับปีแรก 5.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เบี้ยประกันรับปีต่อไป 2.44 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการต่ออายุกรมธรรม์เฉลี่ย 79% เบี้ยประกันชีวิตแบบจ่ายครั้งเดียว 4.09 หมื่นล้านบาท ลดลง 19%
ไฮไลต์ภาพรวมของเบี้ยประกันรับปีแรกของ 10 บริษัทประกันชีวิต 10 อันดับแรก พบว่า 3 ใน 10 แห่ง มีอัตราการเติบโตลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 6,162 ล้านบาท ลดลง 6% เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต 2,818 ล้านบาท ลดลง 20% และกรุงเทพประกันชีวิต 2,395 ล้านบาท ลดลง 42% ซึ่งทั้ง 3 รายนี้มีช่องทางขายผ่านธนาคารเป็นหลัก ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตรับรวมของบริษัทระดับท็อป 10 พบว่า 6 ใน 4 ราย มีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เมืองไทยประกันชีวิต, กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต, ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต, อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต, กรุงเทพประกันชีวิต และพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต
แหล่งข่าวในฝ่ายการตลาดของบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่แห่งหนึ่ง ระบุว่าภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ไม่ค่อยสดใสนัก เมื่อเทียบกับในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แม้เบี้ยใหม่กับเบี้ยรวมจะสลับกันติดลบไปบ้างก็ตาม เพราะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวมาตลอด ทำให้เกิดปัญหากำลังซื้อและภาวะหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คนซื้อประกันน้อยลง หรือกำลังซื้อใหม่ๆเกิดยากขึ้น กำลังซื้อบางกลุ่มมีดีมานด์หลักๆเน้นไปทางด้านประกันสุขภาพ จึงทำให้พอร์ตนี้เติบโตมากกว่าพอร์ตปกติทั่วไป ขณะที่กำลังซื้อสำหรับผู้เอาประกันที่มีเบี้ยครบกำหนดสัญญากรมธรรม์ (Paid-up) นั้น มีเพียงส่วนน้อยที่ตัดสินใจซื้อใหม่
“ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ยิ่งจะซ้ำเติมกำลังซื้อประกันชีวิตเพิ่มขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับภาวะครัวเรือน แม้จะไม่ได้สาหัสเท่ากับช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งยอดขายตั้งแต่เดือน ส.ค.ไปจนเกือบสิ้นปีนี้ น่าจะเห็นชัดมากขึ้นว่าไม่เติบโตในแบบฤดูกาลที่ควรจะเป็น ก็เป็นเรื่องน่าห่วง”
แหล่งข่าวจากวงการประกันวินาศภัยรายหนึ่ง ระบุว่าน้ำท่วมกว่า 30 จังหวัดครั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทรัพย์สิน จะมีแนวโน้มถูกเรียกเคลมค่าสินไหมมากที่สุด บริษัทประกันวินาศภัยในกลุ่มท็อป 10-15 จะต้องเตรียมสำรองวงเงินจ่ายสินไหมมากที่สุด สิ่งที่จะตามมาคืออัตราเบี้ยประกันอาจจะถูกปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มภัยธรรมชาติ เพราะบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ (รีอินชัวเรอร์) ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติหลายประเทศทั่วโลกเช่นกัน และบริษัทที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่งมากพอ จะกระทบมากน้อยแตกต่างกันไปตามการบริหารจัดการของแต่ละแห่ง
“สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี คาดว่าปีนี้อัตราความเสียหายน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งภาคธุรกิจประกันภัยจำเป็นต้องคิดอยู่เสมอว่าเป็นโครงการ CSR ช่วยชาติ แม้ว่าแต่ละพื้นที่เพาะปลูกอาจเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกัน แต่น้ำท่วมเป็นปัญหาไม่แพ้ภัยแล้ง อยู่ที่ว่าจะหนักหรือเบามากกว่ากัน เพราะไม่สามารถกำหนด หรือควบคุมเรื่องภัยธรรมชาติได้ โดยต้องรอประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติรอบนี้ ภายหลังน้ำลดว่าพื้นที่ไหนจะเสียหายมากน้อยและต่างกันอย่างไร”
นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Life Operation Officer บริษัทไทยประกันชีวิตแจ้งถึงลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วมว่าบริษัทได้ขยายเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันออกไปอีก 60 วัน นับจากวันครบระยะเวลาผ่อนผันเดิม สำหรับกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-29 ต.ค. 2562 โดยผู้เอาประกันยังสามารถใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องสินไหมทดแทนได้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ทุกกรณี รวมถึงการใช้ Fax Claim
ในระหว่างนี้ หากผู้เอาประกันขอต่ออายุกรมธรรม์ หรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ภายใน 6 เดือน บริษัทจะงดเว้นการตรวจสุขภาพและยกเว้นดอกเบี้ยเบี้ยประกัน รวมถึงกรมธรรม์แบบรายงวดที่มีการนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติ หากผู้เอาประกันติดต่อชำระเบี้ยภายใน 6 เดือน บริษัทจะเว้นดอกเบี้ยเบี้ยประกันให้เช่นกัน
นอกจากนั้น กรณีกรมธรรม์และบัตรประจำตัวผู้เอาประกันสูญหาย หรือชำรุด บริษัทจะงดเก็บค่าธรรมเนียมการออกกรมธรรม์ หรือบัตรประจำตัวผู้เอาประกันใหม่ ซึ่งผู้เอาประกันจะต้องติดต่อขอให้ออกกรมธรรม์หรือบัตรประจำตัวผู้เอาประกันใหม่ ภายใน 29 ก.พ. 2563
มาตรการนี้เป็นการช่วยผู้เอาประกันในพื้นที่ 31 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน สุโขทัย นครพนม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม เพชรบูรณ์ เลย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร หนองบัวลำภู สระแก้ว ปราจีนบุรี ตราด กระบี่ ระนอง และชุมพร
นายอภิรักษ์ จิตรานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเทคโนโลยีและปฏิบัติการ บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (FWD) กล่าวว่าบริษัทจะพิจารณาขยายเวลาการขอกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ การยกเว้นดอกเบี้ยและการต่ออายุกรมธรรม์อัตโนมัติ โดยกรมธรรม์ที่ครบกำหนดชำระเบี้ย, ระยะเวลาผ่อนผัน, เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ, ขยายเวลาอัตโนมัติ หรือสิ้นผลบังคับ ตั้งแต่ 1 ส.ค.-31 ต.ค. 2562
หากผู้เอาประกันชำระเบี้ยภายใน 60 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับ หรือกรมธรรม์เปลี่ยนสถานะ บริษัทจะคุ้มครองภายใต้สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายกรมธรรม์และคุ้มครองต่อเนื่องจากวันที่ครบกำหนดชำระเบี้ยเดิม แต่ถ้าผู้เอาประกันไม่สามารถชำระเบี้ยได้ภายใน 60 วันตามที่ระบุข้างต้นและมาขอต่ออายุกรมธรรม์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระเบี้ยเดิม บริษัทจะพิจารณาต่ออายุกรมธรรม์ตามกฎเกณฑ์ของบริษัท โดยจะงดการตรวจสุขภาพและยกเว้นดอกเบี้ยต่ออายุ
สำหรับกรมธรรม์ที่มีการนำมูลค่าเวนคืนเงินสดมากู้ชำระเบี้ยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ส.ค. - 31 ต.ค.2562 หากผู้เอาประกันขอชำระคืนเงินกู้อัตโนมัติภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระเบี้ยเดิม บริษัทจะเว้นการเรียกชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของเงินต้นจากเงินกู้ชำระเบี้ยอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ให้แก่ผู้เอาประกัน