top of page
image.png

เดินหน้าลดวงเงินคุ้มครอง...ผู้ฝากเงินมั่นใจปลอดภัย


Interview: คุณทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

สถาบันคุ้มครองเงินฝากยืนยัน การลดวงเงินคุ้มครองล่าสุดจาก 10 ล้านเหลือ 5 ล้าน มีผู้รับผลกระทบเพียง 1-2 แสนรายเท่านั้น ส่วนปีหน้าลดวงเงินคุ้มครองลงเหลือ 1 ล้านตามที่ตั้งเป้าไว้แต่แรก มั่นใจไม่สร้างปัญหาให้กับผู้ออมและผู้ฝากเงิน เพราะผู้ฝากเงินมีทางเลือกในการลงทุนอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากอยู่แล้ว ย้ำ...ความคุ้มครองไม่ได้มีแต่ลดเพียงขาเดียว ในอนาคตมีโอกาสปรับวงเงินคุ้มครองเพิ่มหลังจากสถาบันชำระหนี้คืนกองทุนฟื้นฟูฯ ครบทุกบาททุกสตางค์

 

ตั้งแต่สถาบันคุ้มครองเงินฝากตั้งมาเคยมีใครมาใช้บริการสถาบันคุ้มครองเงินฝากบ้างไหม

ไม่ดี ซึ่งดีแล้ว เราหวังว่ายังไม่มีเหตุใดอาศัยความช่วยเหลือของสถาบันคุ้มครองเงินฝากในเวลาอันใกล้นี้

เงินฝากที่เราคุ้มครองเป็นเงินของใคร

ของเราจะคุ้มครองโดยหลักการ คือคนที่มีบัญชีเงินฝากที่เป็นสกุลเงินบาท เช่น ออมทรัพย์ กระแสรายวัน อยู่กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทเงินทุน สาขาธนาคารต่างประเทศและในประเทศไทย รวมกันทั้งหมด 35 แห่ง เป็นสกุลเงินบาท สำหรับคุ้มครองประชาชนคนไทยเป็นหลัก

อย่างต่างชาติฝากเป็นเงินบาท ได้รับความคุ้มครองด้วยไหม

ถ้าเป็นเงินบาทสำหรับต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองด้วย แต่ถ้าเป็นต่างชาติไม่มีถิ่นฐานในประเทศไทยไม่ได้รับความคุ้มครอง

ขณะนี้ทั้งธนาคาร สถาบันการเงินรับฝากเป็นเงินสกุลต่างชาติได้ ซึ่งจะไม่ได้รับคุ้มครองใช่ไหม

เงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่สกุลไทยเราไม่ให้ความคุ้มครอง เพราะปัจจุบันการคุ้มครองคนไทยในประเทศเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในประเทศไทยต้องฝากเงินสกุลที่เป็นเงินบาทเท่านั้น ตัวที่เราไม่ให้ความคุ้มครองคือเงินสกุลอื่นๆ เงินที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e-Wallet ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง

พวกที่เป็นกระเป๋าเงินไปรูดบัตรก็ไม่คุ้มครองใช่ไหม

ถ้าการชำระเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มที่เป็นบัตรเดบิตอันนั้นเป็นบัญชีเงินฝากเราคุ้มครองสำหรับเงินที่อยู่ในบัญชี แต่ถ้าเป็นเงิน e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ ทราเวลการ์ดในส่วนของเงินที่เป็นสกุลตราต่างประเทศ เราจะไม่ให้ความคุ้มครอง

เงินฝากที่คุ้มครองอยู่ก่อนหน้าที่จะมีการลดวงเงินมีอยู่ประมาณเท่าไหร่

ของเรามีเงินฝากอยู่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ผู้ฝากมีประมาณ 76 ล้านราย สำหรับความคุ้มครองเดิมก่อนวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา เราคุ้มครอง 10 ล้านบาทต่อผู้ฝากต่อธนาคารหรือต่อสถาบันการเงิน หลังจากวันที่ 11 สิงหาคมเป็นต้นมาเราลดลงจาก 10 ล้านบาทเหลือ 5 ล้านบาทต่อผู้ฝากเงินต่อสถาบันการเงิน คุ้มครองเท่ากับโดยประมาณ 9.6% ซึ่งถือว่าในบรรดาผู้ฝากเราคุ้มครองเกือบ 100%

เริ่มต้นจริงๆ ค้ำประกันคุ้มครองเงินฝากสูงสุดเท่าไหร่

เริ่มต้นเลยเราคุ้มครองไม่จำกัด ตามจำนวนที่ผู้ฝากฝากไว้เลย การคุ้มครองเงินฝากหลักการคือ เราต้องมีเงินทุนเพียงพอเพื่อที่เจอเหตุการณ์เราจะได้มีเงินไปชดเชยได้ แต่เงินทุนของสถาบันปัจจุบันเรามีประมาณ 1.38 แสนล้านบาท ซึ่งจากจำนวนเงินฝากในปัจจุบัน ถ้าเราต้องคุ้มครอง 100% ต้องใช้เงิน 13 ล้านล้าน ซึ่งไม่พอแน่ เพราะฉะนั้นการที่เราจะคุ้มครองคนให้ครบ เราจำเป็นต้องมีการปรับลดวงเงินคุ้มครอง ซึ่งในส่วนของวงเงินที่ชดเชยที่เรามีให้ถือว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับสากลหรือประเทศอื่น คืออยู่ในอัตราใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ความคุ้มครองที่ลดลงเหลือแค่ 5 ล้าน ถ้าคนฝากทุกบัญชีรวมกันต้องไม่เกิน 5 ล้านใช่ไหม

ยกตัวอย่าง เราใช้คำว่า 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน คือ ทุกบัญชีรวมกันต่อ 1 คน สมมุติผมฝากไว้ธนาคาร ก ไว้ 11 ล้าน สิ่งที่สถาบันฯให้การคุ้มครอง คือ 5 ล้านบาทในสถาบัน ก. แต่ถ้าผมย้ายเงินฝากบางส่วนไปไปสถาบัน ข. อีก 5 ล้าน สถาบัน ค. 1 ล้าน การคุ้มครองก็จะครบตามจำนวน เพราะเราคุ้มครองตามรายผู้ฝากและตามสถาบันการเงิน และสมมุติถ้าผมมีหนี้ เช่น บัตรเครดิตครบกำหนดแล้วผมยังไม่ชำระ การจ่ายเงินคุ้มครองเพื่อชดเชยให้กับผู้ฝากต้องเอาหนี้เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ได้ชำระไปหักออกด้วย เพราะฉะนั้นจำนวนเงินที่เราจะจ่ายให้คือจำนวนหลังหักจากหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระหรือคงค้างอยู่

พอจะมีข้อสังเกตไหมว่าเมื่อวงเงินคุ้มครองที่ลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหลือความคุ้มครองแค่ 5 ล้าน เงินฝากในระบบหายไปไหม

มีข้อสังเกตอยู่ 3 ตัว 1. ปริมาณเงินฝากโตขึ้นทุกปี 10 ปีที่ผ่านมาอัตราโตของเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 5-8% คือมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ 2. ถึงแม้เราจะลดวงเงินแต่จำนวนผู้ฝากแต่ละครั้งที่เราลดความคุ้มครองลงมาผู้ที่รับผลกระทบมีแต่จำนวนไม่มาก งวดนี้ที่ลดลงมาจาก 10 ล้านเหลือ 5 ล้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 100,000-200,000 ราย ในส่วนของผู้มีเงินฝากซึ่งเป็นจำนวนมาก ข้อที่ 3 คือเราสังเกตเห็นว่ามีการลงทุนในตราสารคือหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการฝากเงินเป็นหนึ่งทางเลือกในการออม เพราะฉะนั้นในส่วนของการปรับลดความคุ้มครองลงมา ทางผู้ฝากหรือผู้ออมเงินมีการเตรียมตัวในเรื่องการเลือกการลงทุนไว้ สุดท้ายการฝากเงินให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนชนิดอื่น

ปีหน้าจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้าน เป็นเพราะสถาบันการเงินไทยแข็งแรงเลยลดวงเงินลงมา

กรณีที่ 1 การลดวงเงินจริงๆแล้วตามพระราชกฤษฎีกาของสถาบันที่เริ่มก่อตั้งตั้งแต่แรก เราตั้งใจจะลดวงเงินให้เหลือ 1 ล้านอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเราชะลอการลดให้ช้าลง ทำให้ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ 1 ล้านในทันที ประเด็นที่ 2 การลดไม่ได้แปลว่าอนาคตจะไม่มีการเพิ่มความคุ้มครอง เราอาจจะมีการปรับเรื่องการคุ้มครองได้ แต่ในปัจจุบันเงินทุนของสถาบันมีการแบ่งบางส่วนไป ซึ่งส่วนใหญ่ไปคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันที่ธนาคารพาณิชย์นำเงินเข้ากองทุนอยู่ 0.47% ของฐานเงินฝาก โดย 0.46 นำไปชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ และ 0.01 นำมาสมทบกองทุนสำหรับทำให้การคุ้มครองเงินฝากมีความมั่นคงมากขึ้น หนี้ส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีในการชำระคืนหมด หมายความว่าในอนาคตเรามีการทบทวนตัวเลขของการคุ้มครองได้ ถ้าวันที่เรามีการออมเยอะขึ้นอัตราเฉลี่ยของผู้ฝากเงินในบัญชีเยอะขึ้น การทบทวนตัวเลขของการคุ้มครองก็จะเกิดขึ้นแน่ๆ

เงินที่จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมคุ้มครอง 0.47% ตอนนี้มียอดสะสมเป็น 130,000 ล้าน เงินตรงนี้เป็นเงินของใคร เงินของแบงก์หรือผู้ฝากเงิน

ของแบงก์ เพราะแบงก์เป็นผู้ประกอบกิจการ แบงก์ต้องให้ดอกเบี้ยกับประชาชนและแบงก์ก็นำเงินเหล่านั้นไปประโยชน์ เพราะฉะนั้นการสถาบันการเงินก็มีภาระหน้าที่ในการเติมเงินเข้ามาในกองทุน เพราะหลักการโดยทั่วไปคือการเฉลี่ยในเรื่องความเสี่ยงของระบบ เพราะเราไม่ทราบว่าในอนาคตธนาคารพาณิชย์ไหนจะแข็งแรงหรือไม่แข็งแรงอย่างไร เพราะฉะนั้นการเติมเงินเข้ากองทุนจึงเป็นหน้าที่ของธนาคารที่ต้องดำเนินการ

มีไหมที่ธนาคารบอกว่าคุณไม่ต้องห่วงผม ผมดูแลตัวเองได้

ไม่ได้ อันนี้เป็นไปตามกฎหมาย เราจำเป็นต้องให้การดูแลผู้ฝากอย่างทั่วถึง

เป็นไปได้ไหมถ้าผู้ฝากเงินบอกว่าไม่เป็นไรเขาพร้อมเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อความคุ้มครองเหลือล้านนึง แต่แบงก์เอา 0.47% ที่ต้องจ่ายให้สถาบันมาจ่ายให้ผู้ฝากเงินดีกว่า ทำได้ไหม

ทำไม่ได้ เพราะหลักการคือเฉลี่ยความเสี่ยง เป็นการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน ซึ่งลักษณะการคุ้มครองขั้นพื้นฐานและการเฉลี่ยความเสี่ยงในลักษณะนี้เป็นการดำเนินการให้ความมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบหากเกิดปัญหาขึ้น เพราะถ้าจำกันได้เมื่อปี 2540 เราเดือดร้อนจาก 56 ไฟแนนซ์ หลายคนมีความกังวลในเรื่องของตัวเงินที่ฝากไว้ การดำเนินการของเราจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝาก ไม่ต้องห่วงเงินต้นว่าจะไม่ได้คืนหรือหายไป รวมถึงตัวดอกเบี้ยด้วย ซึ่งเราคุ้มครองเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย เราจะคำนวณให้ด้วยว่าสมมุติฝากไว้ 900,000 ได้ดอกเบี้ย 50,000 ก็จะได้ 950,000 ซึ่งเป็นความคุ้มครองที่ได้เต็มจำนวน

ทำไมไม่ขยายขอบเขตไปรับคุ้มครองเงินฝากสถาบันการเงินของรัฐ

การกำกับดูแลและการประกอบธุรกิจไม่เหมือนกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีภารกิจที่เฉพาะด้านของแต่ละสถาบันการเงิน แต่ในส่วนของสถาบันการเงินในลักษณะเอกชนในเชิงพาณิชย์จะมีการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและมีการประกอบธุรกิจที่ต้องบอกว่ามีความเสี่ยงและการดำเนินการก็คนละประเภท

มีการเข้าไปดูแลอย่างไรบ้าง เช่น คุณบริหารไม่ดี คุณให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงไป คุณปล่อยสินเชื่อไม่ได้เรื่อง อันนี้มีอำนาจเข้าไปดูแลไหม เพราะเวลาเกิดความเสียหายทางการต้องเข้าไปดูแล

มีครับ ต้องบอกว่าเรามีโครงข่ายของความมีเสถียรภาพทางการเงิน ก็จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เราจะทำงานร่วมกัน โดยที่ปกติแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินการฐานะการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว แต่ถ้ามีประเด็นไหนที่เราคิดว่าจำเป็นต้องเข้าไปดำเนินการเพิ่มเติม เราจะต้องนำเรื่องการดำเนินงานเพิ่มเติมไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนเราในการตรวจทานอีกทีหนึ่ง

เหมือนคุณเป็นยามมาเฝ้าบ้านผม แต่คุณไม่มีประสบการณ์ 11 ปีผ่านมา ถึงเวลาคุณทำเป็นหรือไม่

ก็เป็นสิ่งที่เรากังวลและเราก็เตรียมตัวพร้อม เราจะต้องเป็นยามที่ฟิตและประกอบการได้ ซึ่งวันนี้เรามีการเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย และมีการทดสอบในเรื่องของการคืนเงิน ทดสอบการชำระคืนบัญชีในด้านต่างๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง ยามไม่หลับยาม ยามแข็งแรง

 
bottom of page