top of page
312345.jpg

เตือนจากวิกฤตสู่วิกฤต รับมือสงครามค่าเงิน


Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค

เตือน...อย่าดูเบา สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จบยากกว่าที่คิด เหตุเป็นปัญหาเชิงนโยบายการเมืองที่ประเมินคาดการณ์ได้ยากกว่าปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจ สหรัฐยังคงตั้งแง่ต่อ ส่วนจีนตั้งป้อมสู้ พร้อมตอบโต้ ส่งผลการค้า การเงิน เศรษฐกิจโลก ในอนาคตทั้งถดถอย ทั้งสุ่มเสี่ยง ประเทศในเอเชียโดนหนักสุด ส่งออกไทยโดนเต็มๆ ทั้งจากสงครามกีดกันการค้าและเงินบาทที่แข็งค่าเกินจริง กนง.เริ่มผวา ถึงขั้นกลับหลังหันมาลดดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด ครั้งหน้าถ้าเฟดลดดอกเบี้ยอีก กนง.จะลดดอกเบี้ยตามแน่นอน

อาจารย์เคยเขียนหนังสือ ‘จากวิกฤตสู่วิกฤต’ ตอนนี้กำลังมีสงครามค่าเงิน ประเมินสถานการณ์นี้อย่างไร

มันเป็นวิกฤตมาแล้ว แต่การฟื้นตัวจากวิกฤตเดิมเมื่อปี 2008 เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เนื่องจากวิกฤตที่ผ่านมามันมีหนี้สินมากเกินไป เพราะฉะนั้นการฟื้นตัวเลยช้ามาก ส่วนปัญหารอบนี้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เป็นมหาอำนาจมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การฟื้นตัวที่ไปช้าอยู่แล้วเกิดภาวะติดขัด สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นความปั่นป่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบคือเป้าหมายนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ไล่ตั้งแต่ยุโรป จีน และประเทศกำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นพอมีมาตรการเหล่านี้ก็เกิดการคาดคะเนว่าในอนาคตเศรษฐกิจคงชะลอลงอีกมาก กลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกหรือเศรษฐกิจดีมาก่อน ประเทศที่ค้าขายดีส่งออกดี จะกลายเป็นได้รับผลกระทบทางลบ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของหลายประเทศกำลังพัฒนาจึงได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาซ้ำซ้อนเกิดขึ้นกับเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ตุรกี ซึ่งปัญหาจะคนละปัญหา

แต่ปัญหาที่เกิดจากสงครามการค้ามันกระทบเอเชียมากเป็นพิเศษ ยุโรปก็รองลงมา เพราะเขาพึ่งการค้าระหว่างประเทศมาก เอเชียในหลายประเทศมีค่าเงินตกลงผิดปกติ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งเมื่อเทียบกับชาวบ้าน ประเทศที่มีค่าเงินแข็งจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดี เช่น ไทย ศรีลังกา ก็จะมีไม่กี่ประเทศที่ค่าเงินแข็ง ประเทศที่ค่าเงินอ่อนเป็นประเทศที่เคยดีมาก่อน อัตราการเติบโต 3-5% ถือว่าค่อนข้างดีมากแล้ว ปัญหาพวกนี้ทำให้หลายคนมองว่าเกิดสงครามค่าเงิน แต่ยังไม่ถึงขั้นออกนโยบายที่เอาค่าเงินมาสู้กัน เพราะผลกระทบมันเกิดขึ้นกับค่าเงินประเทศต่างๆ ที่ลดลง สหรัฐก็กลัวเหมือนกันว่าค่าเงินจะแข็งเกินไป ก็พยายามบีบเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐให้ลดดอกเบี้ยเพื่อดึงไม่ให้สภาพคล่องหดหาย ตรงนี้จึงสร้างปัญหา

เราจะเห็นว่าขณะนี้ค่าเงินอ่อนลงทั่วโลก ตรงนี้เป็นสัญลักษณ์ให้คนมองว่าน่าจะเป็นเรื่องบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตอีกรอบหรือไม่ แม้จะเป็นแค่การคาดคะเน แต่ผลกระทบภาคเศรษฐกิจมันค่อยๆเกิดขึ้น ปัญหาคืออนาคตของเราในช่วง 1- 5 ปีข้างหน้า หรือ 3 ปีข้างหน้าจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์สมัยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ 1930 หรือไม่ ก็ต้องรอดู แต่โอกาสที่เกิดคงมีไม่มากเพราะสมัย 1930 เป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆพยายามฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการทำนุบำรุงกันใหญ่ รัฐบาลก่อหนี้ไว้เต็มไปหมด พอฟุบตัวก็ฟุบตัวแรง ส่วนภาวะขณะนี้เป็นลักษณะที่โลกยังฟื้นช้าอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าลงแรงมันคงแรงได้ไม่มาก แต่จะทำให้ปัญหาที่ยากอยู่แล้วมันยากขึ้นไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ต้องระวังคืออนาคต เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐ กลายเป็นปัจจัยทางการเมืองมาสร้างผลกระทบ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัจจัยน่ากลัว ไม่เหมือนปัจจัยเศรษฐกิจ เพราะปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยที่ประเมินยาก ประเมินยากว่าสรุปแล้วสหรัฐต้องการจะสู้กับจีนไปถึงไหนหรือจะลุยแบบไหน ผมคิดว่าตลาดประเมินปัญหาเศรษฐกิจที่สหรัฐกับจีนขัดแย้งกันอยู่น้อยเกินไป คือยังมองว่าเดี๋ยวเจรจากันได้ เดี๋ยวจีนก็ยอมให้ เดี๋ยวมาจับมือกันอยู่ดี อันนี้เป็นภาพมองของฝรั่ง ยกเว้นกลุ่มเก็งกำไรค่าเงินที่มีกลุ่มหนึ่งใกล้ชิดกับทรัมป์พยายามเทสินทรัพย์ของจีนทิ้งเพื่อให้ตก ตอนนี้ก็สมหวังแล้ว ตอนนี้เขาได้กำไร ก็ต้องดูต่อไปว่าปัจจัยทางการเมืองของสหรัฐจะทำให้ทรัมป์ลุยจีนไปถึงจุดไหนซึ่งเป็นเรื่องที่คาดคะเนยาก ซึ่งทำให้การคาดคะเนค่าเงินยากตามไปด้วย เพราะการแกว่งตัวของค่าเงินมันสะท้อนปัจจัยพวกนี้ออกมาแรงมาก ขณะนี้ไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจเป็นปัจจัยรองจากปัจจัยการเมือง

ถ้าเป็นแบบนี้ถ้าทรัมป์ออกมาทำอะไรอีก จีนก็ตอบโต้อีก

เศรษฐกิจก็จะแย่ไปอีก ถ้าสังเกตจะเห็นว่าจีนเริ่มออกแผนรองรับ แสดงว่าจีนมองเขาจะต้องหันหลังเจรจากับสหรัฐแน่นอน รัสเซียเองก็วางแผนระยะยาวที่จะรองรับเศรษฐกิจเขา คิดว่าการเจรจาจีนกับสหรัฐคงไปไม่ถึงไหนและสหรัฐต้องอธิบายประชาชนสหรัฐว่าที่ทำมานี้ชนะแล้ว ถึงยังไม่ได้ก็ชนะแล้วเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เพราะทรัมป์อยากปิดกรณีนี้เร็วที่สุดเพื่อไปเลือกตั้ง ซึ่งคงไม่ได้ผลเพราะจีนไม่ยอมเจรจาด้วย เพราะฉะนั้นเขาต้องอธิบายใหม่ว่าที่ผ่านมาได้กำไรแล้ว เดี๋ยวให้เขาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง จะเดินหน้าทำเพื่อประชาชนสหรัฐ ไม่แคร์ประเทศไหนในโลก ประเทศไหนที่เอาเปรียบเขาก็จัดการ

ในสภาพแวดล้อมแบบนี้มองว่าเฟดจะทำงานยังไง

เฟดหนักใจ ตอนนี้เฟดยังไม่เป็นตัวของตัวเองด้านหนึ่ง ก็รู้ว่าสิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว แต่อีกด้านหนึ่งก็มีแรงกดดันจากประชาชนกลุ่มที่มีการศึกษาของสหรัฐว่าเวลาที่ต้องสู้กับต่างประเทศทุกคนจะต้องอยู่ข้างประธานาธิบดี เฟดจึงหนักใจว่าถ้าทำตามทรัมป์เขาก็มีปัญหา ถ้าไม่ทำตามทรัมป์ก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง เราจะเห็นว่าขณะนี้เฟดยอมลดอกเบี้ยให้ครั้งหนึ่ง

ประเมินว่าจะลดอีกไหม

ก็อาจจะลดอีกสักครั้งหนึ่งในช่วงปลายปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของ Trade War ว่าสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นอย่างไร ทรัมป์พยายามที่จะใช้สถานการณ์ว่าเศรษฐกิจเขาดีที่สุด 1. เพื่อไปเลือกตั้งให้ได้เพื่อชัยชนะ 2. เพื่อต่อรองกับจีนว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจีนจะแย่ สหรัฐจะดีและจะดีต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีเฟดหนุนหลัง

ดูธนาคารแห่งประเทศไทยในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อมีรัฐบาลใหม่ ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก

เขาเริ่มกลัวว่าเงินบาทแข็งค่าผิดปกติเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างๆ มันจะสร้างปัญหาในอนาคตว่ามันแย่ลงมากๆไอเดียเดิมของกนง.ที่เขาแถลงคือ พยายามขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเก็บผสมไว้เวลาที่ไทยเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งตอนนั้นเขาก็รู้ว่าเศรษฐกิจกำลังไม่ดี แต่เขาใช้เหตุผลว่าต้องการเก็บกระสุนเพื่อเอาไว้ใช้ ตอนนี้เขาก็ได้ใช้ไปล็อตนึงแล้ว ขณะนี้สิ่งที่กนง.กลัวคือค่าเงินบาทสูงกว่าชาวบ้านมาก ที่อื่นเขาลง 4-5% เราแข็ง 4-5% ไปกลับคือ 10% ถ้าเทียบกับต้นปีมา เงินบาทแข็งค่ากว่าอินโดนีเซีย จีน เกือบ 10% ผมคิดว่าอันนี้น่าจะอยู่ในใจของ กนง.ว่าเขาคงต้องผ่อนแล้ว และพยายามปรับการประชุมกนง.ให้มาประชุมหลังเฟด เพราะกลัวว่าเฟดไปลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นเขาก็ดูนโยบายเฟดเป็นหลัก ต่อไปจะลดมากลดน้อยขึ้นอยู่กับเฟด สาเหตุเพราะค่าเงินเรามันต่างจากประเทศเพื่อนบ้านมากเกิน

ครั้งก่อนแบงก์ชาติ/กนง. ออกมาประเมินในเรื่องของค่าเงินบาทและออกมาตรการขึ้นมาเพื่อควบคุม

ขึ้นไม่พอ อันนั้นจิ๊บจ๊อยมาก มาในแนวที่เคยอธิบายไว้ครั้งที่แล้วว่าค่าเงินเราสูงกว่าชาวบ้านเขา ถ้าเราไม่ลงไปเขาก็ขึ้นมา ถ้าเขาไม่ขึ้นมาเราก็ลงไป แต่ถ้าเราลงไปน่ากลัวกว่าเขาขึ้นมา อยู่ๆ 2 ปีข้างหน้าเราลงไปจะทำยังไง ผมคิดว่าไอเดียนี้อาจจะเป็นไอเดียให้กับคนที่กำหนดใน กนง.เริ่มมองว่าน่าจะดี

ต้องดูว่า กนง.จะทำยังไงต่อไป

เรื่องหลักก็ Trade War และค่าเงินเราเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย และอีกอันที่คนรอดูคือเรื่องเฟดทำอะไร เพราะการที่ กนง.เลื่อนการประชุมก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่า กนง. รอดูท่าทีของเฟดด้วย

17 views
bottom of page