top of page
369286.jpg

ผ่าเกมสงครามการค้า เปลี่ยนสถานะจาก 'ความเสี่ยง' เป็น 'ปัจจัยลบ'


Interview: คุณณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน และลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

นักวิเคราะห์มือฉมัง ‘ณัฏฐ มหัทธนา’ ผ่าเกมสงครามการค้าอเมริกา-จีน เปลี่ยนสถานะจาก ‘ความเสี่ยง’ มาเป็น ‘ปัจจัยลบ’ เหมือนจะดูแย่ แต่ความชัดเจนมากขึ้น นักลงทุนประเมินทิศทางการลงทุนได้ง่ายกว่าเดิม เพราะผลของปัจจัยลบไม่รุนแรงเท่ากับความเสี่ยงซึ่งคือความไม่รู้และความไม่แน่นอน ชี้...ตลาดหุ้นอินเดีย-อาเซียน จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต-การลงทุนมาปักหลักในโซนอาเซียน เผยการลงทุนในหุ้นต่อจากนี้จะง่ายกว่าเดิม ห้ามหนีตลาดหุ้นเพราะหนีไม่พ้นแล้วจากการที่หุ้นตกหนักร่วงหล่นลงมา ต้องอยู่กับปัจจัยลบให้ได้ด้วย การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเสี่ยงจากความไม่รู้/ความไม่แน่นอน

ผ่านครึ่งปีไป เห็นสัญญาณอะไรบ้าง

มีหลายเรื่อง แต่ในส่วนพื้นฐานการลงทุนมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆคือเรื่องของสภาพคล่อง และรวมความเรื่องของปริมาณเงินเข้ามาหาซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ถ้าซื้อมากกว่าขายมันจะขึ้น ถ้าขายมากกว่าซื้อ คือสภาพคล่องหดหาย แต่ปีนี้ทุกคนคงยอมรับกันว่าสภาพคล่องมากขึ้นจริงๆ เพราะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำของโลกได้เปลี่ยนจุดยืน จริงๆไม่ใช่แค่ที่ลดดอกเบี้ยไปในช่วงที่ผ่านมา คือตั้งแต่ต้นปีแล้วที่เขาเปลี่ยนจุดยืนจากการขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นอยากจะลด และนำมาสู่การลดจริงๆ ขณะที่นักลงทุนมีความคาดหวังที่เกินเลยไปในช่วงระยะสั้น หรือคนที่คิดก็บอกว่าสมเหตุสมผลแล้ว แต่ตัวของ เจอโรม พาวเวล ที่อาจจะให้ข้อมูลอะไรที่น้อยไป ไม่ได้ส่อสัญญาณชัดๆว่าจะลดดอกเบี้ยต่อ

ในเรื่องที่สอง ถ้าเราพูดถึงการลงทุนในหุ้น คงจะไม่ได้ต้องการแค่สภาพคล่อง แต่ต้องการการเติบโตด้วย เพราะถ้ามีสภาพคล่อง มีเงินอย่างเดียว แต่คนคิดว่าเศรษฐกิจไม่โต กำไรไม่โต เขาก็ไม่ค่อยซื้อหุ้น แต่ไปซื้อตราสารหนี้ หรืออย่างมากก็อาจไปซื้ออสังหาริมทรัพย์บ้าง หรืออะไรที่ได้ชัวร์ๆ แล้วก็ซื้อจนราคาตราสารหนี้หรือพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น เราจะเห็นว่า Yield หรือดอกเบี้ยลงมาในหลายประเทศ หลายภูมิภาค อย่างเยอรมันช่วงที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ Yield ของพันธบัตรเยอรมันติดลบ ตั้งแต่พันธบัตรระยะสั้นๆ ไม่กี่เดือนไม่กี่ปี จนกระทั่งพันธบัตรอายุ 30 ปี เรียกว่าติดลบทั้งเส้นเลย ไม่ว่ารัฐบาลเยอรมันจะกู้เงินในระยะเวลาเท่าไหร่ เขาก็จะได้เงินจากผู้ที่ประมูลพันธบัตรไปมากกว่าทั้งดอกเบี้ยตลอดทางทุกก้อนที่เขาจะต้องจ่าย รวมกับเงินต้นที่ปลายทาง รวมกันแล้วยังน้อยกว่าเงินที่ได้ไปเลย เพราะทั้งโลกยินดีให้เขากู้

เคยมีปรากฏการณ์อย่างนี้บ่อยไหม

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลย ไม่เคยเกิดแบบนี้ เพราะการแก้ปัญหาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ววิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เกิดในสหรัฐอเมริกา แล้วสหรัฐอเมริกาเลือกทางที่ไม่เหมือนกับบ้านเราเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เราประหยัดเงิน แล้วใช้หนี้ไป ทำให้สภาพแข็งแรงขึ้น แต่พอเกิดปัญหาที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าตำรับเจ้าตำราการเงิน เขาก็ฉีกตำราเดิมแล้วก็เขียนขึ้นมาใหม่ มีหนี้เยอะก็กู้เพิ่ม แต่กดดอกเบี้ยต่ำไว้ ทำ QE และลดดอกเบี้ยแล้วกู้เพิ่ม พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวจีดีพี ตัวการเติบโตเร็วกว่าหนี้ที่พอกพูกขึ้น หนี้ก็ไม่ค่อยโตเท่าไหร่ แล้วจีดีพีมันโตเร็วกว่า เพราะฉะนั้นเวลาเรื่องของคณิตศาสตร์ หนี้ต่อจีดีพีมันก็เลยลดลง ลดเฉยเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพิ่ม และทำไมประเทศอย่างยุโรปถึงขึ้นช้า มีวิกฤตหนี้กรีซหลังจากนั้น มีหนี้ของยูโรโซน ปัจจุบันหนี้ของอิตาลีก็ยังเยอะอยู่ แต่ก็ยังมีพี่ใหญ่อย่างเยอรมันที่เป็นคนแข็งแรง ขยัน ประหยัด อดทน และ 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลร่วมกันเรียกว่ายูโร เขาก็ให้ธนาคารกลางแบกรับภาระไปคนเดียว คือลดดอกเบี้ยก็ลดไป ก็มีบ่นบ้างอะไรบ้าง ฟ้องศาลบ้างว่าพิมพ์เงินซื้อพันธบัตรอาจจะผิดกฎหมายอะไรแบบนี้ ขัดแข้งขัดขากันบ้าง ซึ่งทางธนาคารกลางยุโรปโดย มาริโอ้ ดาร์กี้ ซึ่งเป็นประธาน ECB และกำลังจะพ้นวาระสิ้นเดือนตุลาคมนี้ก็สู้อดสู้ทนมา เตรียมที่จะลดดอกเบี้ยโดยดอกเบี้ยยังไม่ได้ขึ้นเลย จากที่ติดลบ 0.4% จะลดต่อด้วย ลบ 0.5% แล้วก็จะมาทำ QE ใหม่ เพราะตัวของภาครัฐบาลไม่ค่อยช่วย ไม่ค่อยใช้จ่าย ทางเยอรมันเองก็ทำงบสมดุลหรือเกินดุลด้วยซ้ำ ในขณะที่ประเทศอื่นๆเขาอยากให้จัดงบขาดดุล ลงทุนช่วยภูมิภาคบ้าง เขาไม่มี แต่เงินก็ปั๊มออกมาเรื่อย ก็ทำให้กลายเป็นประเทศที่ดอกเบี้ยติดลบแซงญี่ปุ่นไปแล้ว

เพราะฉะนั้นการเติบโต ณ ตรงนี้ หลายๆเสียงทั่วโลก ก็เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศที่อาจจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงที่ผ่านมาว่าเมื่อค้าขายได้เงิน ก็ต้องใช้จ่ายบ้าง ก็มีเยอรมัน เกาหลี ซึ่งตอนนี้ลำบาก เพราะส่งออกไม่ค่อยได้เนื่องจากสงครามการค้า แต่ต้องจัดงบขาดดุลมากขึ้นหรือไม่ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาค อันนี้ก็จะเป็นการปลดล็อก ซึ่งอาจจะไม่ง่าย เพราะปัจจัยการเมืองในประเทศเองคนอาจไม่เห็นด้วย ก็ยังติดล็อกแบบนี้ ถึงตรงนี้เราเลยเห็น Yield ของพันธบัตรร่วงลงๆ ในขณะที่เงินก็ออกมากองตรงหน้า

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงตอนนี้เกินครึ่งปีแล้ว เงินเข้าไปในกองทุนตราสารหนี้ตั้ง 2 แสนล้านดอลลาร์ รวมๆ กันทั่วโลกแล้วเข้ามากกว่าออก ขณะที่เงินกลับออกจากกองทุนหุ้นมากกว่าที่เข้า แสนกว่าล้านดอลลาร์ เป็นแบบนี้เลยทั้งๆที่เงินมากองอยู่แต่ไม่ยอมซื้อหุ้น ตรงนี้หุ้นก็มีการร่วงลงมา

ในเรื่องของสภาพคล่องที่ว่าไปแล้วก็มีภาวะตราสารหนี้จากความไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ แล้วยังมีเรื่องที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาทวิตเตอร์ อยู่ๆเขาก็บอกว่า 3 แสนล้านที่เหลือหมดแล้ว จากนี้ไม่มีแล้ว นี่คือหมดทั้งที่นำเข้าจากจีน เอาไปเลย 10% ตั้งกำแพงภาษี แล้วก็ขู่ด้วยว่าอาจจะเกิน 25% เลยนะ เข้าใจว่ายังคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะดูเหมือนจีนเขาจะรอจนถึงพฤศจิกายนปีหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่แน่ว่าอาจจะได้คุยกับประธานาธิบดีคนใหม่ อาจจะได้ดีลที่ดีกว่า ทำไมจะต้องรีบเอาดีลที่มันไม่ค่อยดีตอนนี้ ไม่อยากถูกบีบ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เลยออกมาตอนนี้ คิดว่าเป็นไพ่ที่ออกมาท้ายๆแล้ว ถ้าไม่ใช่ไพ่ตายโจ๊กเกอร์ใบสุดท้าย ก็เป็นไพ่ท้ายๆแล้ว เพราะเขาเก็บมานาน เรื่อง 3 แสนล้าน เราได้ยินมานาน

ก่อนหน้านี้โดยส่วนตัวประเมินว่าความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าลดลง ซึ่งก่อนหน้าที่เขาจะประกาศมันคือความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าจะประกาศหรือเปล่า แต่พอเขาประกาศปุ๊บ ความเสี่ยงไม่มี หายไปเลย มันกลับกลายเป็นปัจจัยลบแล้ว เพราะไม่เสี่ยงแล้ว ตอนนี้บอกว่าเสี่ยงทำไม 3 แสนล้าน ไม่เสี่ยงแล้ว เพราะประกาศแล้ว กลายเป็นปัจจัยลบ ตรงนี้ส่วนตัวเลยบอกว่า การลงทุนในหุ้นกลับดูสดใสกว่าเดิม เพราะปัจจัยเสี่ยงมันหายไปอย่างนึง มันกลายเป็นปัจจัยลบ แล้วมันอยู่ในราคาหุ้น แล้วราคาหุ้นมันก็ลงมา อาจจะเป็นหุ้นอาเซียน ถ้าเราจะต้องอยู่ในสงครามการค้าที่ลากยาวไปเป็นปัจจัยลบ ย้ำว่าไม่ค่อยเสี่ยง แต่เป็นปัจจัยลบ เขาบอกว่าตลาดหุ้นอาเซียนจะเป็นวินเนอร์เพราะมีการย้ายฐานมาผลิตมาตั้งโรงงานที่แถวๆนี้ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

และอีกฝ่ายหนึ่งก็คืออินเดีย หุ้นอินเดียน่าสนใจ มีการปรับฐานมาตั้งเดือนแล้ว และราคาก็ดีขึ้น ปกติราคาหุ้นอินเดียจะแพง เพราะอินเดียมีการเติบโตในระยะยาวที่ดีมาก ตอนนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ ก็อยากฝากไว้ 2 ตลาดคือตลาดอินเดียกับตลาดอาเซียน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี ราคาหลายอย่างมันลงมา เป็นช่วงช็อปปิ้ง แล้วปัจจัยเสี่ยงหายไปและมีปัจจัยลบเข้ามา แต่ราคามันก็สะท้อนปัจจัยลบไปแล้วเรียบร้อย เชื่อว่าการลงทุนมันกระจ่างชัดมากขึ้นด้วยซ้ำ แล้วในแง่ของนักลงทุน ส่วนในแง่นักกลยุทธ์มันง่ายกว่าเดิมด้วยซ้ำในการที่จะกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้เพราะมีความชัดเจนขึ้น

หุ้นที่ตกในช่วงที่ผ่านมา ถึงจุดที่ซื้อได้แล้ว

ใช่ ชัดเจนว่าซื้อได้

เรื่อง Yield พันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐอเมริกาที่ลดลงมา ตอนนี้อยู่ที่ 1.843% ส่งสัญญาณอะไร

ในระยะสั้น นอกจากการลดดอกเบี้ย เขายังมีอีกอย่างที่คนไม่ค่อยพูดถึง ก็คือการยุติการลดขนาดงบดุล ก็คือว่ามีพันธบัตรที่เขาถือ ถ้าเกิดมันครบอายุ เขาก็จะเอากลับไปลงทุนต่อ ตรงนี้มันช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และยุติการทำตรงนี้เร็วขึ้น 2 เดือนด้วย เข้าใจว่าเสริมสภาพคล่องด้านนี้ แต่สงวนท่าทีเรื่องดอกเบี้ยนิดนึง ตรงนั้นตลาดค่อนข้างตอบสนองไม่ได้แย่มาก ก็คือ Yield พันธบัตรระยะสั้นกับระยะยาวอย่างเช่นตัว 3 เดือน 10 ปีที่คนส่องดู มันเริ่มจะกลับเข้ามาหากันเรียกว่าไม่ค่อย Inverted แล้ว ปรากฏพอเจอ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไป คนกลับเข้าไปซื้อพันธบัตรระยะยาวกันใหม่ ก็ Inverted มากกว่าเดิม

ตรงนี้ถ้าตรงไปตรงมา ณ ตรงนี้ก็จะบอกว่ามันชี้ไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในอนาคตข้างหน้า จากที่ลดดอกเบี้ยคนยังค่อนข้างจะโอเคแม้ว่าจะบ่นๆกันบ้าง แต่ว่าตรงนี้คืออยากเรียนว่าปฏิกิริยาไม่กี่วันนี้มันส่งสัญญาณแบบนี้ได้ แต่มันมีทั้งสัญญาณจริงและสัญญาณลวง ลองคิดดูให้ดีว่าถ้าเกิดภาคธุรกิจเขาเกิดทำรีโลเกชัน คือตัดสินใจไปแล้วกับซัพพลายเชนว่าจะไปซื้อของที่อื่น จะไปลงทุนที่อื่น แต่ว่าเขาปรับตัวไปเรียบร้อยแล้ว คนที่ทำธุรกิจจริงๆ ถ้าเกิดเขามานั่งลุ้นผลการเจรจาจริงๆ แล้วมันมีความเสี่ยงอยู่มากมาย ตัดสินใจไปแล้วว่าธุรกิจจะไปทางไหน แล้วซัพพลายเชนจะปรับอย่างไร เพราะฉะนั้นการตั้งกำแพงภาษีแบบนี้ในหลักทางเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า Emerging Return ถ้าคุณทำสิ่งเดิมซ้ำๆไป มันจะเกิดผลน้อยลงๆ ในตลาดก็สังเกตได้ว่าครั้งนี้ขึ้นจริง แต่ว่ามันไม่รุนแรงเหมือนแบบปีที่แล้ว เพราะคนก็รู้แล้วว่าต้องเผชิญกับอะไร

ขอย้ำอีกครั้งว่าปัจจัยลบมันส่งผลต่อตลาดไม่รุนแรงเท่ากับความไม่รู้หรือความเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอน แต่ตอนนี้มันแน่นอนแล้ว เขาประกาศแล้ว ความเสี่ยงมันลดลงเยอะเลย ดังนั้นคุณไม่ชอบความเสี่ยง นักลงทุนจะอยู่กับปัจจัยลบได้ แต่นักลงทุนไม่ชอบความเสี่ยงกับความไม่รู้ แต่ตอนนี้ความไม่รู้มันหายไปอย่างหนึ่งแล้ว ดังนั้นจึงย้ำว่าตอนนี้ลงทุนง่ายกว่าเดิม โดยเฉพาะตลาดหุ้นอย่าไปหนีตอนนี้ คือถ้าจะหนีก็หนีไม่ทัน หุ้นไทยก็หลุด 1,700 ไปเรียบร้อยแล้ว จะหนีไปไหน เพราะฉะนั้นก็อยู่กับปัจจัยลบ นักลงทุนต้องปรับตัว ถามนักวิเคราะห์หรือนักกลยุทธ์ก็ได้ว่าตอนนี้ควรจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจะมีผู้ชนะและผู้แพ้ แค่เอาเงินไปอยู่ถูกที่เท่านั้นเอง และตอนนี้มันชัดเจนขึ้นแล้ว ถ้ามีความชัดเจน การลงทุนก็ง่ายขึ้น

อย่างธนาคารจีนไม่ขยับอะไรเลย

ในความจริงจะบอกไม่ขยับเลยคงไม่ได้ ทางการจีนเขาอาจจะไม่ได้มีการประชุมกำหนดวันมาชัดเจน แต่รัฐบาลมีอำนาจควบคุมอยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจนเลย เขาทำโอเพ่นมาร์เก็ตโอเปอเรชัน หมายความว่าเข้าไป ดูด ฉีดสภาพคล่องเป็นรายวันอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องของวิธีการที่มันแตกต่างเท่านั้นเอง อย่างที่บอกว่าสภาพคล่องตอนนี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ มันไม่เหมือนช่วง 4 ปีก่อนที่บอกว่าทุนไหลออกจากจีน ตอนนี้มีคนที่อัดสภาพคล่องรอบนี้ คือผู้นำ ECB โดยมาริโอ้ ดาร์กี้ ที่กำลังจะหมดวาระ เขาทิ้งทวนเลย มีเท่าไหร่ก็ใส่ไปหมด เขาไม่ได้เก็บอะไรไว้แล้ว คือเป็นคนที่ลากพันธบัตรลง ลากดอกเบี้ยลง ก็ทำให้สภาพคล่องมันพอ สิ่งที่คนต้องการตอนนี้คือการเติบโต สภาพคล่องพอแล้ว การเติบโตต่างหากที่จำเป็น ดังนั้นจีน ณ ตอนนี้เขากระตุ้น เป็นการกระตุ้นที่มีคุณภาพกว่าเดิม เขาใช้การลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาษีตามจุดต่างๆให้กับภาคเอกชน ภาคเอกชนเป็นคนที่เก่ง ซึ่งเก่งกว่าทางรัฐวิสาหกิจ ในรอบนี้การกระตุ้นมีคุณภาพกว่าเดิม และเราอาจต้องการการกระตุ้นในหลายภูมิภาคของโลก

ส่วนตัวจะชี้ไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งในเดือนตุลาคมญี่ปุ่นมีกำหนดที่จะขึ้นภาษีขายคล้ายกับแวตบ้านเรา ขึ้นจาก 8% เป็น 10% และทางนายกรัฐมนตรีเขาก็ยืนยันมาตลอดว่าจะขึ้น เขาอยากจะลดหนี้สินแล้วเอาเงินไปใช้ในระบบสวัสดิการกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นๆ แต่นักวิชาการบอกว่าคุณขึ้นจาก 8% เป็น 10% ไม่พอหรอก อยากมีเงินพอใช้ อยากลดหนี้จริงๆ คุณต้องขึ้นมากว่า 20% เลย ลองคิดว่าแวตขึ้นจาก 8% เป็นกว่า 20% คุณทำได้ไหม มันขึ้นจาก 8 เป็น 10 ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ว่าทำให้คนลำบากมากขึ้น เพราะคนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้จ่ายอยู่แล้ว

แล้วยังมีเรื่องเบรกซิตที่กลับมาอีก และมีเรื่องของสงครามการค้าที่ปะทุมาอีก เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือนดี ต้องถามใจนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เขาเลื่อนแบบนี้มา 2 ครั้งแล้ว ส่วนตัวลุ้นเลยว่าอยากให้เขาเลื่อนอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ถ้าคนเตรียมตัวว่าภาษีจะขึ้น คือถ้าทนแรงกดดันไม่ไหวแล้วเขาเลื่อน เขาเลิกไม่ขึ้น ผลก็คล้ายๆกับการลดภาษี เพราะคนคิดว่าจะขึ้น และถึงเวลากลับไม่ขึ้น ดังนั้นญี่ปุ่นก็เป็นอีกตลาดหนึ่ง อย่ามองข้าม คนมองว่าเขาไม่มีอะไรเติบโต ทีนี้เป็นหมัดเด็ด ทางการญี่ปุ่นอาจจะไม่มีกระสุนไปกระตุ้นแล้ว เพราะร่อแร่อยู่ คือ 106 บริษัทญี่ปุ่นเขาทำประมาณการไว้ในช่วงหลายเดือนก่อนประมาณร้อยแปด เขาต้องปรับประมาณการลง ดังนั้นตอนนี้ลำบากมาก กระสุนอยู่ที่อาเบะนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น จับตาให้ดีสำหรับวันที่ 1 ตุลาคม ถ้าเขาทำจริงมันจะเหมือนการยอมรับกลายๆว่าต่อไปผมคงไม่ต้องสนใจเรื่องหนี้กับจีดีพีแล้ว มัน 220 กว่า% แล้ว ไม่มีใครเคยกังวลว่าญี่ปุ่นจะ Defult เพราะเจ้าหนี้คือแบงก์ชาติญี่ปุ่น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งหมด แล้วจะไปกังวลอะไร ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถ้าญี่ปุ่นคิกออฟเรื่องนี้แล้วไม่สนจีดีพี ส่วนตัวเชื่อว่าต่อไปสหรัฐอเมริกากับยุโรปก็จะทำอะไรอย่างนี้มากขึ้น

โลกยุคใหม่อาจจะเป็นโลกของนิวนอมอลที่เรียกว่าเงินเฟ้อติดลบ แต่อย่างหนึ่งที่จะสูงขึ้นคือหนี้จะเยอะขึ้น เพราะเมื่อคุณเผชิญกับดอกเบี้ยติดลบ ส่วนตัวใช้คำอย่างนี้อาจจะแรงว่า ยิ่งเก็บมันก็จะยิ่งจน ยิ่งกู้ก็อาจจะยิ่งรวย ตรงนี้อาจจะเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อาจจะเตรียมพร้อมรับมือ สำหรับอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เปิดใจรับนิดนึง ราคาสินค้าต่างๆอย่างน้อยมีแง่ดี ในสภาพคล่องแบบนี้มันจะทำให้ยกระดับขึ้นไปซื้อขายที่ราคาแพงขึ้น ตรงนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา คือ Yield ติดลบ Yield ต่ำมากๆ ราคาพันธบัตรมันนำขึ้นไปก่อน มันแพงขึ้นมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับพันธบัตร หุ้นจะถูกมาก แต่ตอนนี้หลายๆตลาดไม่ถูกแล้วเมื่อเทียบกับพันธบัตรหันไปดู Yield มันติดลบ Yield ของหุ้นไปซื้อหุ้นได้ปันผล มันก็ไม่ติดลบ

16 views
bottom of page