สงครามเงินตรา Currency War เริ่มรุนแรงหักหาญ ส่งผลทำลายล้างรุนแรง ใช่แต่กับคู่สงครามดอลลาร์-หยวน เท่านั้น สกุลเงินอื่นๆพลอยโดนหางเลข โดยเฉพาะบาทแข็งโป๊ก ซ้ำตลาดสินทรัพย์ทางการเงินและตลาดทุนกระทบไปหมด หุ้นตกตั้งแต่นิวยอร์กมายันกรุงเทพฯ
ศึกครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก ทำท่าจะลามกลายเป็นสงครามโลกทางการเงิน
อันที่จริงสถานการณ์สงครามไม่น่าจะรุนแรงนัก เพราะเหตุปะทุเกิดจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ด้วยเหตุผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่อยู่ในสภาพอ่อนแอ
แต่ที่เป็นตัวก่อปัญหาจนเกิดการปะทะกันซึ่งหน้าก็คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศออกมาว่าจะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนอีกระลอก โดยเตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์ด้วยอัตราภาษีเพิ่มขึ้น 10% ในวันที่ 1 กันยายน ศกนี้
นี่คือตัวปฏิกิริยาที่ทำให้ธนาคารกลางของจีนปล่อยค่าหยวนทันที ยังผลให้หยวนอ่อนค่าลงไปถึง 7% ต่อดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังประกาศยุติการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ทั้งๆที่เมื่อสัปดาห์ก่อน จีนเปิดเผยตัวเลขขนส่งถั่วเหลืองสหรัฐทางเรือหลายล้านตัน ทำให้ตลาดหุ้นนิวยอร์กทุกตลาดขานรับด้วยความยินดี มีความหวังว่าสงครามการค้าจะผ่อนคลาย
จนเมื่อทรัมป์พูดเรื่องมาตรการภาษีขาเข้าใหม่และจีนโต้รุนแรงกลับมา หุ้นก็พากันตกเละเทะ
S&P 500 ที่หุ้นหลักๆเป็นบริษัทเทคโนโลยีถูกเทขายกันระนาว ทำให้ปิดตลาดดัชนีติดลบ 3 % นอกจากนี้ ตลาดยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ย่านอาเซียนก็พลอยตกตามไปด้วย
ตลาดหุ้นไทย SET Index ติดลบเป็นเลขสองหลัก
การที่ดัชนีตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนพากันติดลบก็เพราะ ค่าหยวนที่อ่อนลงถึง 7% จะส่งผลกระทบต่อชาติตลาดเกิดใหม่อย่างใหญ่หลวง เพราะสินค้าส่งออกของชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันกับจีน คือเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของจีนในตลาดโลก
เมื่อค่าหยวนอ่อนลง สินค้าจีนย่อมจะได้เปรียบสินค้าจากทุกชาติในย่านนี้ ยกเว้นเวียดนาม ที่ค่าด่องสามารถอ่อนได้ไม่จำกัดเงื่อนไขและเวลา บางเดือนลดกันหัวเดือน ท้ายเดือน
อย่างไรก็ดี การปล่อยค่าหยวนอ่อนค่าแม้จะเป็นอาวุธร้ายที่ยังความเสียหายให้แก่สหรัฐใหญ่หลวง
ทรัมป์ถึงกับออกมาโวยวายว่าจีนเล่นไม่แฟร์ เพราะเจรจากันรอบล่าสุด ได้ตกลงกันแล้วว่า ต่างฝ่ายต่างจะไม่ลดค่าเงินของตน แม้จีนจะตอบโต้ว่า เป็นเพราะดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังเฟดลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่สหรัฐก็ให้เหตุผลว่า การลดดอกเบี้ยเฟดนั้น เป้าหมายคือกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐที่ชะลอตัวหนัก
ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล แต่ไม่ว่าจะให้น้ำหนักทางใด อาวุธหยวนก็กลับทำร้ายทั้งคู่ตามรูปแบบสงครามที่เข้าขั้นเผชิญหน้า เอ็งยิงมา ข้ายิงไป ย่อมมีเจ็บ มีตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย
โดยเฉพาะจีนนั้น บาดเจ็บไม่น้อย เพราะจีนเป็นชาตินำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก แม้จะพยายามสร้าง Petro-Yuan เพื่อปลดแอกจาก Petro-Dollar เพื่อใช้ชำระราคาน้ำมันดิบ แต่ส่วนใหญ่แล้ว จีนยังต้องจ่ายเป็นดอลลาร์อเมริกันอยู่
อีกด้านหนึ่ง บริษัทใหญ่ๆในจีนส่วนใหญ่เป็นหนี้เงินกู้ต่างชาติกันงอมแงม ค่าหยวนอ่อน ทำให้ต้องจ่ายคืนหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศแพงขึ้น โดยเฉพาะในรูปดอลลาร์สหรัฐ
กลายเป็นว่าการทำให้ค่าหยวนอ่อนแบบฝืนธรรมชาติครั้้งนี้ บาดเจ็บด้วยกันทุกฝ่าย ซ้ำแรงระเบิดยังกระทบถึงชาติอาเซียน ทั้งด้านค่าเงินและด้านสินค้าส่งออก เฉพาะบาทนั้น ที่แข็งอยู่แล้ว ก็แกร่งยิ่งขึ้น เมื่อ กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% อีกรอบ (26 มิ.ย. 62) ทำให้ฟันด์โฟลว์ทะลักเข้ามาอีกระลอก หนุนบาทแข็ง จนถึงขนาดเป็นเงินตรา ณ วันที่ 1 กรกฎาคม ที่มีค่าแข็งระดับที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ผลคือ ส่งออกไทยอาการทรุดลงไปอีก หลังจากติดลบมา 2 ไตรมาสแล้ว
ยิ่งกว่านั้น ในภาวะที่ ประชาคมยุโรป (EU) เจรจาการค้ากับสิงคโปร์และเวียดนามลงตัวแล้ว แต่ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ยังคาราคาซังกันอยู่
โอกาสที่บาทแข็ง ดอลลาร์อ่อน หยวนอ่อนเช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยเห็นเป็นช่องทางที่จะขนเงินไปลงทุนในเวียดนามกันมากขึ้น
เวียดนามได้รับการเอาอกเอาใจจากสหรัฐเป็นอย่างดีในฐานที่เป็นจุดดุลอำนาจในทะเลจีนใต้ระหว่างสหรัฐกับจีน
เวียดนามจึงเป็นฐานส่งออกที่สำคัญของชาติเพื่อนบ้าน ทั้้งจีนทั้งไทยพากันย้ายฐานการผลิตมาใช้โควตาสินค้าและมาตรการผ่อนปรนภาษีจากสหรัฐ
จนมูลค่าส่งออกเวียดนามขยายตัวถึง 40% ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
นี่คือผลพวงที่เกิดจากขีปนาวุธหยวน ในสงครามเงินตรา ครั้งนี้ เป็นสงครามที่ยังหาตัวผู้ชนะไม่ได้ แต่ผู้แพ้นั้น เห็นกันจะจะอยู่แล้ว