7 ส.ค. 62 - กูรูทิสโก้ชี้ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยเซอร์ไพร์ตลาด คาดทั้งปีคงไว้ที่ 1.50% เพราะได้สะท้อนการปรับลดจีดีพีไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยยังไม่แย่เท่ากับภาวะวิกฤตซับไพร์ม
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% ต่อปี เหนือความความหมายของ TISCO ESU และเหนือความคาดหมายของตลาด แม้ที่ผ่านมา TISCO ESU มองว่ามีโอกาสจะได้เห็นเสียงแตกของ กนง. เกิดขึ้นในการประชุมรอบนี้ แต่มติเสียงผิดไปจากคาดการณ์โดยเร็วกว่าที่ TISCO ESU เคยประเมินไว้เดิมว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 4 จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
ด้านการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเป็นไปตามที่ TISCO ESU คาดหมายไว้ โดยคาดว่าการปรับลดประมาณการจีดีพีจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งหน้า (18 ก.ย.) แต่มองว่าจะยังไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นระดับตัวเลขเชิงจิตวิทยาในมุมมองของ TISCO ESU (จีดีพีที่ต่ำกว่าระดับ 3% ล่าสุดคือในปี 2557 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1% ซึ่งเป็นปีที่มีรัฐประหารเกิดขึ้นด้วย) อนึ่ง ประมาณการจีดีพีปัจจุบันของ ธปท. ในปี 2562 อยู่ที่ 3.3%
อย่างไรก็ตาม TISCO ESU มองว่าการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังไม่ชัดเจน โดยยังเป็น “Data Dependent” ซึ่ง กนง. ระบุว่า “จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป” ถือเป็นประโยคเดียวกับการประชุมรอบก่อน โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2562
ดังนั้น TISCO ESU มองว่า จะไม่เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดกันต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักในกรณีฐานว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไปจนสิ้นปี 2562 เนื่องจาก 1) เสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในการลดดอกเบี้ยของกนง. 2) การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะสะท้อนการปรับลดคาดการณ์จีดีพีที่จะถูกปรับลดลงอย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งหน้าแล้ว 3) อัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นมาเพียง 0.25% สู่ระดับ 1.75% ในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการสร้าง Policy Space ได้ถูกใช้ไปแล้วในการประชุมครั้งนี้ และ 4) ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตซับไพร์ม อยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัว 0.7% ในปี 2552 แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในปัจจุบันน่าจะยังไม่รุนแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์ในวิกฤตครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอลงไปมากจากพัฒนาการเศรษฐกิจต่างๆ เช่น หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น เป็นต้น ประกอบกับการจะประกาศบังคับใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อบุคคล (เกณฑ์สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR) ที่เข้มงวดมากขึ้นในการกำกับดูแลความเสี่ยงเฉพาะจุดในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน จะช่วยเปิดช่องให้ กนง. ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น