top of page
312345.jpg

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน


วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 30 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2562

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ก.ค.) คลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และ GDP ในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกเช่นกัน จากแรงซื้อนำในหุ้นกลุ่มธนาคาร ทั้งนี้ ECB มีมติคงนโยบายการเงิน และระบุว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อไป หรือปรับลดลง อย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ด้านตลาดหุ้นจีนปิดบวก หลังผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง จะเดินทางไปยังจีน เพื่อเจรจาการค้ากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ด้านราคาน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้น หลังมีรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษเตรียมประกาศมาตรการตอบโต้อิหร่าน กรณียึดเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ ประกอบกับสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับลดลงต่อเนื่อง และราคาทองคำปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักก็ตาม

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมามากกว่าตลาดคาดการณ์ และการที่รัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติการควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่บางแห่ง ประกอบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาส2/2652 ของสหรัฐฯ ขยายตัว 2.1%YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ 1.9%YoY

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังธนาคาร ยูบีเอส รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี แต่ตลาดหุ้นลดช่วงบวกลง เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามที่คาดในการประชุมที่ผ่านมา ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี เดือน ก.ค.ลดลงอยู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ เดือน เม.ย.2556

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวก โดยปรับลดลงในช่วงแรก หลังทางการจีน เรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดเหล็กจากคู่ค้า รวมถึงญี่ปุ่น ในวันที่ 23 ก.ค. อย่างไรก็ดี ดัชนีฯลดช่วงลบ และปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่าเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอาเบะค่อนข้างส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปิดบวก เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลในข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้เดินทางไปยังจีนในวันที่ 29 ก.ค. เพื่อเจรจาการกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน

ตลาดหุ้นไทย ปิดลบ หลังตัวเลขส่งออกของไทยเดือน มิ.ย.หดตัวอยู่ที่ -2.1% ประกอบกับนักลงทุนรอติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ วันที่ 25-26 ก.ค.ที่ผ่านมา

ตลาดน้ำมัน ราคาน้ำมัน ปิดบวก หลังจากมีรายงานว่า รัฐบาลอังกฤษเตรียมประกาศมาตรการตอบโต้อิหร่าน กรณียึดเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษ ประกอบกับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน ตามลำดับ

ตลาดทองคำ ปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนสิ้นเดือนนี้

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • นักลงทุนรอติดตามการประชุมธนาคารกลางหลัก ได้แก่

  1. การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) โดย BoJ มีมติคงนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ -0.1% และสัญญาณชี้นำล่วงหน้า แต่ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปีงบประมาณ 2019 อยู่ที่ 1.0% จากคาดการณ์เดิม1.1% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ GDP ญี่ปุ่นสำหรับปีงบประมาณ 2019 อยู่ที่0.7% จากคาดการณ์เดิม 0.8%

  2. การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) (30-31 ก.ค.) คาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และ Fed อาจประกาศข้อสรุปในการยุติการปรับลดขนาดงบดุลด้วยเช่นกัน

  3. การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (1 ส.ค.) คาดว่า BoE จะคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อรอดูความชัดเจนประเด็น Brexit หลังนายบอริส จอห์นสัน ได้รับคัดเลือกให้เป็นนายกฯ คนใหม่ โดยล่าสุดโอกาสที่จะเกิด Brexit แบบไม่มีข้อตกลง (No Deal) เพิ่มขึ้นเป็น 30% จาก 15% ในเดือน พ.ค.

  • การเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ-จีน ที่เซี่ยงไฮ้ (29-31 ก.ค.) มีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ล่าสุดจีนได้อนุมัติโควตาการซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ มากถึง3 ล้านตัน โดยไม่เสียภาษีนำเข้าแก่ บริษัทจีน 5 แห่ง

  • คาดว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2562 ของยูโรโซน จะชะลอลงจากไตรมาส 1 โดยตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ +0.2%QoQ

  • ผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ 170 แห่ง เช่น Apple, GE และ Pfizer

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ได้แก่ BoJ และ BoEอย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

หาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ลดการส่งสัญญาณเรื่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรในตลาดหุ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลต่อประเด็น Brexit โดยไร้ข้อตกลง, การทยอยประกาศผลประกอบการ บจ.ในไตรมาส 2/2562 ที่มีจำนวนมาก และตัวเลขเศรษฐกิจจีน ซึ่งรวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับลดลง จะยังคงสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้น

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ Core PCE ของสหรัฐฯ / GDP ในไตรมาส2/2562 ของยูโรโซน / ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีน / อัตราเงินเฟ้อของไทย / การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ

  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมของ Fed / ผลการประชุมของ BOE / ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 / การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน / การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น

วิเคราะห์โดย: SCB CIO Office

3 views
bottom of page