เงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี ทำพิษ ผู้ส่งออกโวย ขอให้ทำให้อ่อน อัตราแลกเปลี่ยนที่อยากได้คือ 34 บาทต่อดอลลาร์
ค่าบาทวันแรกของครึ่งหลังของปี คือ 1 ก.ค. อยู่ที่ 30.66 ส่อเค้าเคลื่อนไหวในระดับ 30.65-30.68 ตลอดสัปดาห์ หลังจาก Fed ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%
ส่วนไทย ในการประชุมของ กนง.เมื่อสัปดาห์ก่อน ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75 %
การพบปะระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในระหว่างการประชุมชาติ G20 ทำให้บรรยากาศเผชิญหน้าในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดความตึงเครียดลง ทำให้ภาวะกดดันใน Currency War สงครามค่าเงินผ่อนคลายลงด้วย กอปรกับเงินทุนไหลเข้ามามาก ทั้งสองปัจจัยนี้ หนุนให้ค่าบาทแข็งขึ้น
เป็นสิ่งที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง เพราะแทนที่ค่าเงินบาทจะอิงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อย่างกรณีที่เงินทุนไหลเข้า สาเหตุมาจากเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งจริงหรือแข็งเทียม
การที่เงินทุนไหลเข้าเหตุหนึ่งมาจาก Fed ลดดอกเบี้ย ตลาดทุนและการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในสหรัฐขาดความเชื่อมั่น เงินทุนจึงไหลออกมาหาที่ที่ปลอดภัยเป็นการพักเอาไว้ก่อน จึงกลายเป็นว่าค่าบาทผันแปรไปตามปัจจัยภายนอก มากกว่าจากภายใน
เงินตราก็เหมือนสินค้า มีอุปสงค์ อุปทาน ยามใดที่ความต้องการมีสูง ค่าก็แข็ง ยามใดความต้องการต่ำ ค่าก็อ่อน
อุปสงค์ค่าเงินบาทมีสองแบบ คืออุปสงค์แท้กับอุปสงค์เทียม อุปสงค์แท้เกิดจากการที่ผู้ส่งออกไทยนำเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออกมาแลกเงินบาท กับเงินที่นักลงทุนต่างประเทศนำเข้ามาลงทุนและมีการแลกเป็นเงินท้องถิ่นคือเงินบาท รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาตินำเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อใช้จ่ายในไทย
ไทยเป็นชาติเดียวในภูมิภาคที่พ่อค้าแม่ค้าและเจ้าของสถานบริการไม่รับเงินตราต่างประเทศชำระราคาสินค้าและบริการ แม้จะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตาม จึงทำให้บาทได้รับการยอมรับและแข็งค่ากว่าเงินตราสกุลอื่นๆทั้งเอเชีย
สำหรับอุปสงค์เงินบาทเทียมนั้น เกิดจากการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดการเงิน ซึ่งขณะนี้ fund flow ทะลักเข้ามามาก เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพเงินบาท โดยเฉพาะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ สำรองทองคำและ SDRใน IMFที่ค้ำค่าบาทมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก
ทุนจากต่างชาติ จึงเคลื่อนย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินระยะสั้นแม้จะได้ผลตอบแทนต่ำเหตุจากอัตราดอกเบี้ยของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อต่ำระดับ 1% ทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิสูง เงินบาทจึงกลายเป็นแหล่งพักพิงที่ปลอดภัย
การลงทุนและเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาจึงมีลักษณะเป็นการพักเงินมากกว่ามุ่งหมายกำไร ในยามที่การเงินโลกที่เป็นผลพวงจาก currency war มีความไม่แน่นอนสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามควบคุมปริมาณเงินทุนไหลเข้า อันเป็นตัวการทำให้ค่าบาทแข็ง แต่ก็คงจะช่วยให้ค่าบาทอ่อนลงมาได้ไม่มากนัก เหตุจากแนวโน้มค่าเงินสกุลหลักของโลกมีความผันผวนสูงตลอดปี
มองว่าปลายปีนี้ บาทจะแข็งขึ้นมาจากระดับปัจจุบันนี้ โดยศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี มองว่าสิ้นปีนี้บาทจะแข็งค่าอีก 5%
บรรดาผู้ส่งออกจึงเดือดร้อนกันมาก กำไรหดลงกว่า 1.7 หมื่นล้าน ช่วงที่ราคาทองคำพุ่งไปทำนิวไฮในรอบ 6 ปี จึงมีการนำทองคำสำรองออกมาขายทำกำไรเพื่อลดการขาดทุน
มีเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออก ให้รัฐบาลหามาตรการทำให้บาทอ่อนค่าลง โดยเห็นว่า ค่าบาทที่เหมาะสมที่สุดคือ 34 บาทต่อดอลลาร์
แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ชี้ว่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลจากสิ้นปี 2561 ถึง 6 มิ.ย. 2562 แข็งค่าขึ้นแล้ว 6.18% สูงกว่าทุกสกุลเงินในภูมิภาค
คาดการณ์ว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแล้วแข็งค่าขึ้น 5% จากปลายปี 2561จึงอย่าว่าแต่ 34 บาทเลย แค่ 32 บาทก็ยังอาจจะต้องรอปีหน้าตอนบ่ายๆ ถึงจะพอได้ลุ้น