top of page
312345.jpg

Fund Flow ตั้งลำใหม่...ไหลกลับ Emerging Market


คุณณัฏฐะ มหัทธนา ผอ.อาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

 

จับตา...MMT เศรษฐศาสตร์มหภาคแนวใหม่ ยึดหลักแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-การเงิน เพื่อเอื้อประโยชน์คนจนมากกว่าคนรวย และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจัดลำดับเครื่องมือในการแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ต่อด้วยนโยบายการคลังที่สอดคล้องต้องกัน ประเทศที่สามารถนำ MMT มาใช้ ต้องเป็นประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แต่ประเทศ Emerging Market ไม่แกร่งกล้าพอที่จะใช้ MMT ทำให้ค่าเงินของ Emerging Market แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ยูโร และเยน เป็นเหตุให้ Fund Flow เริ่มไหลกลับมาที่ Emerging Market แนะนำ...ในภาวะที่สงครามการค้าโลกระอุ นักลงทุนควรลงทุนในกองทุนตลาดเกิดใหม่ เพราะราคาถูก-กำไรงาม

ปี 2562 ผ่านไปครึ่งปีแล้ว เศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าเป็นห่วงไหม

ภาพระยะสั้นเป็นการปรับฐานจากที่ตลาดปรับตัวขึ้นมาเยอะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นหลักคือสงครามการค้า แต่เหมือนทุกอย่างคือปัจจัยระยะสั้น ดูแล้วมีการออกมาตรการที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล ผมมีความเชื่อมั่นอย่างหนึ่งว่าอะไรที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลมันจะถูกแก้ไขและคงอยู่กับเราได้ไม่นาน และควรให้ความสำคัญว่าอีก 1 ปีข้างหน้าการลงทุนจีนจะขับเคลื่อนไปทางไหนต่อหลังจากสงครามการค้าคลี่คลายลง ต้องมองเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือ MMT หรือ Modern Monetary Theory (เศรษฐศาสตร์มหภาคแนวใหม่) ปูพื้นก่อนว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้รับการดูแลโดยเฉพาะตลาดการเงินและเศรษฐกิจโดยธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ QE คือการพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ซื้อพันธบัตร อสังหาฯ ขณะที่ ECB ธนาคารกลางยุโรปมีการขยายวงเงินซื้อหุ้นกู้เอกชน ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นมีนวัตกรรมมากกว่านั้นคือพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วไปซื้อหุ้นผ่านกองทุน เพื่อสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดต้นทุนการเงิน เพิ่มราคาสินทรัพย์ให้คนรู้สึกว่ารวยขึ้น เศรษฐกิจก็ฟื้นในทศวรรษที่ผ่านมา เหมือนจะดี แต่เกิดช่องว่างอย่างหนึ่งที่มีความแตกต่าง เพราะคนที่ได้ประโยชน์จาก QE คือคนมีทรัพย์หรือคนรวย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่ดูเหมือนเศรษฐกิจจะดี แต่คนที่ไม่มีสินทรัพย์อะไรเขากลับไม่รวยด้วยเหมือนอย่างคนรวย ทำให้มีช่องว่างความแตกต่างในด้านเศรษฐกิจ

นโยบายที่ว่ากันว่าเป็นเวอร์ชันที่ 3 ถูกพูดถึงกันมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เรียกว่า MMT จุดที่ดังเป็นพลุแตกคือช่วงประมาณต้นปีที่ ส.ส.หญิงสหรัฐ จากพรรคเดโมแครตคนหนึ่งวัย 29 ปี เป็น ส.ส.สมัยแรกจากการเลือกตั้งมิดเทอมที่ผ่านมา คือ Alexandria Ocasio-Cortez เรียกสั้นๆว่า AOZ เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เรียกว่า New Green Deal มีคนถามว่าจะเอาเงินมาจากไหนเพราะใช้เงินเยอะ เธอบอกว่าหยิบยกนโยบายที่มีมานานเป็นสิบปี เธอไม่ได้คิดขึ้น แต่หยิบยกของเดิมขึ้นมา คือใช้ MMT ถ้าจะเอามาใช้ในการหาทุน ก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

หลักการของ MMT คือประเทศไหนที่มีสกุลเงินเป็นที่ยอมรับของโลกไม่น่ากังวลต่อหนี้สินต่อ GDP เพราะสหรัฐ ยุโรป พิมพ์เงินมาใช้หนี้ได้อยู่แล้ว MMT ยังบอกว่ารัฐบาลควรดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อการใช้จ่าย ลดภาษี เพราะจุดอ่อนของ QE คือการซื้อสินทรัพย์ แล้วคนตาดำๆที่ไม่มีสินทรัพย์จะทำอย่างไร MMT บางสายบอกว่าพิมพ์เงินแจกเลย และยังบอกว่าธนาคารกลางควรอยู่เฉยๆ อย่างสหรัฐเหมือนจะทำนิดๆ ประธานาธิบดีทรัมป์ลดภาษี ถึงเวลาเฟดกลัวเงินเฟ้อก็ขึ้นดอกเบี้ยมาดักเงินเฟ้อไว้ ขึ้นดอกเบี้ยไม่กี่ครั้งก็ไม่เป็นไร แต่ขึ้นไปเรื่อยๆก็รับไม่ไหว หุ้นก็ปรับฐานใหญ่ เศรษฐกิจเริ่มโคลงเคลง MMT แก้ปัญหาให้แบงก์ชาติอยู่เฉยๆ กำหนดดอกเบี้ยต่ำ พิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ไป ส่วนการคุมเงินเฟ้อสูงก็ให้รัฐบาลเข้ามาคุมเงินเฟ้อแทนด้วยการขึ้นภาษี ดูเหมือนจะดี ก็เป็นนโยบายแบบใหม่ แต่ก็มีข้อถกเถียงกันต่อว่ารัฐสภาก็เป็นนักการเมืองใช่ไหม แล้วเขาจะกล้าขึ้นภาษีหรือไม่ สาย MMT ก็จะตอบลำบาก

เพราะฉะนั้นจุดอ่อนสำคัญของ MMT คือ กลัวว่าเอามาใช้จริงแล้วอาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงจนควบคุมไม่ได้

ใน 3 ภูมิภาคของเศรษฐกิจนำ MMT มาใช้แล้วในบางมุม สหรัฐมีการลดภาษี เพิ่มยอดขาดดุลงบประมาณ หนี้ต่อ GDP ก็พุ่งขึ้น รัฐบาลยังไปกดดันเฟดอย่างต่อเนื่อง ไปสั่งว่าอย่าขึ้นดอกเบี้ยและให้ไปลดดอกเบี้ยด้วย ทางเฟดหลายคนก็กังวลว่าเงินเฟ้อจะต่ำไป

ขณะที่ยุโรป อิตาลี หนี้เยอะจริง แต่ยุโรปมีมาตรการให้ลดหนี้ แต่อยากจะจัดงบให้เกินดุลเกินเกณฑ์ของ EU เพราะการว่างงานสูง เริ่มมีการงัดข้อกันอย่างรุนแรง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็กดดอกเบี้ยต่ำอย่างยาวนาน ใช้ยาแรงคือนโยบาย TLTRO ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำกับธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ได้กลิ่น MMT เหมือนกันอาจจะมีอยู่แล้วในยุโรป

ส่วนญี่ปุ่นน่าจับตาว่า 1 ตุลาคมนี้จะกล้าขึ้นภาษีไหมจาก 8% เป็น 10% นักช็อปญี่ปุ่นต้องรู้ ตรงนี้มีการถกเถียงว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยไหว สงครามการค้ายังดูไม่ค่อยดี จะกล้าขึ้นจริงหรือ เขาก็บอกว่าอยากจะขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงแล้ว ถ้าญี่ปุ่นสมมุติไม่ขึ้นภาษีขึ้นมา แปลว่าเขาส่งสัญญาณว่าจะไม่แคร์สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่สูงกว่ากว่า 200% ของเขาแล้ว เงินเยนก็พิมพ์ได้ไม่จำกัด อันนี้ก็เป็น MMT เช่นเดียวกัน

ในแง่การลงทุน ถ้าคนตระหนักว่า MMT จะมา ผมมองไปที่สินทรัพย์ว่าตัวไหนที่น่าจะมากับ MMT มีสมมุติฐานว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ที่มีศักยภาพในการนำ MMT มาใช้ สมมุติประเทศเล็กๆอยากทำพิมพ์เงินใช้ ให้รัฐบาลแจกเงิน แบงก์ก็คงกลายเป็นแบงก์กงเต๊ก เพราะฉะนั้นกลุ่มใหญ่พวกนี้มีโอกาสทำให้เงินเฟ้อต่ำลงไปในปีนี้ อเมริกาก็บ่น ยุโรปหรือญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึง เงินเฟ้อไม่กระเตื้องเลย เงินเฟ้อต่ำ ตรงนี้มีการเร่งเร้าให้ลองใช้ MMT เพราะ MMT กระตุ้นให้เงินเฟ้อสูง ก็จะเอามาใช้ในปีนี้ เป็นโอกาสที่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นประเทศไหน เช่น อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ถ้าตัดสินใจใช้ MMT จริงๆ เงินยูโร เยน ดอลลาร์สหรัฐน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพราะเขาจะขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอย่างมหาศาล

สำหรับประเทศเกิดใหม่ Emerging Market ไม่สามารถใช้ MMT ได้ ความแตกต่างตรงนี้ทำให้สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่ Emerging Market มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เยน ยูโร ผลักดันสกุลเงินที่ไหลออกไปนานหลายเดือนให้ไหลกลับมาตลาดเกิดใหม่ เราก็เลยชี้ไปที่สินทรัพย์ลงทุน Emerging Market สอดคล้องกับการที่เราออก IPO เป็นสินทรัพย์ที่มีราคาถูกมากในช่วงเวลานี้ในตลาดเกิดใหม่ น่าจะสอดคล้องกับ MMT ที่กำลังมาจะมาจริง ในขณะที่เรากำลังมองหาในตลาดการเงินที่ขมุกขมัวไปด้วยสงครามการค้า อยากให้มองไปข้างหน้าระยะยาวในภาพที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ กองทุนเปิด เคแทม อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EMEQ)

ออกเยอะไหม KT-EMEQ

ทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 2,000 ล้านบาท ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาทเท่านั้นสำหรับการลงทุนแบบนี้ เราใช้ Master Fund จากต่างประเทศระดับโลกของ บลจ.สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ มีนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะเขาเน้นอัตราส่วน ROIC หรือ Return on Invested Capital เรียกว่าเป็นบริษัทที่เก่งในการนำเงินของเจ้าหนี้ไปสร้างกำไร ก็จะคัดกรองหุ้นด้วยส่วนนี้ รวมถึงต้องเป็นบริษัทรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้ถือหุ้น ปัจจุบัน Master Fund บริษัทนี้ได้ 5 ดาวโดย Morning Star น่าสนใจสำหรับ KT-EMEQ

ซื้อได้ที่ไหน

เราขายผ่านธนาคารกรุงไทยและตัวแทนขายหน่วยลงทุน KTB ลองสอบถามข้อมูลจากแบงก์หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุนก็ได้ ทางเราพร้อมให้ข้อมูล เพราะตลาดเกิดใหม่เป็นสินทรัพย์มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนได้สูง ในระดับราคาที่ต่ำ ไม่อยากให้พลาดโอกาสตรงนี้ ควรดูระดับความเสี่ยงและจัดพอร์ตสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสม เป็นโอกาสที่ดีในเวลานี้ในการช็อปปิ้ง

มีกองทุนแบบนี้เยอะไหมที่เตรียมรับมือกับแนวคิด MMT

กองทุนนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อรับ MMT แต่ผมเป็นนักกลยุทธ์ จะมองเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ตลาดเงิน Fund Flow ทิศทางที่ควรจะเป็น หรือมุมมองของเราในอนาคต รอดูเครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีอยู่เป็น 10 กองทุนทั้งในและต่างประเทศ ลองดูอะไรที่น่าจะเป็นธีมในตอนนี้ กองทุนอื่นน่าจะเป็นกองทุนที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ เช่น KT-China KT-India หรือ KT-All asia อาจจะอยู่ในข่ายนี้ด้วยเพราะมีการลงทุนเยอะ KT-Asean เป็นตลาดที่ถูกมองข้ามมาหลายเดือน ก็เป็นกองทุนคุณภาพกองหนึ่ง โดยส่วนตัวก็ชอบด้วย

ตลาดหุ้นทั่วโลกหรืออเมริกากำลังปรับฐาน คิดว่าจะจบเมื่อไหร่

ตรงนี้ต้องรอดู อย่างเมื่อช่วงปลายปีความไม่สมเหตุสมผลอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงิน คนกลัวว่าเฟดจะดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาด โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ถ้าหุ้นลงหนักๆ แปลว่าเขากำลังกลัวว่านโยบายของเฟดจะผิดพลาด รอบนี้กลับกัน เฟดปรับตัวแล้วตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้โฟกัสไปอยู่ที่ทรัมป์ ตลาดดูเหมือนกำลังจะบอกว่าทรัมป์อาจจะดำเนินนโยบายเรื่องการค้าที่เกินเลยไป อยู่ดีๆ ก็ทำเรื่องเม็กซิโกทั้งที่ไม่มีอะไรเลย ถ้าไม่สมเหตุสมผลคิดว่าอยู่ได้ไม่นาน ผมเชื่อว่าตรงนี้ใกล้จะปรับตัว

52 views
bottom of page