คณะกรรมการโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ 4 ของปี 2562 ในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ทั้งนี้ ประเด็นเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะยังคงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. น่าจะยังคงส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งที่ 4 ของปี 2562 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมปัจจัยที่น่าสนใจที่คงจะมีผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินเป็นประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะยังคงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้ โดยสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2562 และเป็นการเร่งตัวขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่แนวโน้มของคุณภาพหนี้เริ่มมีสัญญาณถดถอยลง ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินยังมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินและคงติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอาจจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งความเปราะบางต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินคงรอติดตามประสิทธิผลของ Macro และ Micro prudential อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) ตลอดจน มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ (Credit underwriting standards) ต่อการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจ ตลอดจน การเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ขณะที่น้ำหนักในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินคงขึ้นอยู่กับประเด็นเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาวเป็นหลัก แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้น นำมาสู่การปรับลดประมาณการมุมมองการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง แต่ในภาพรวมแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะยังสามารถเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับศักยภาพ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ คงจะช่วยตอบโจทย์ในการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ดีกว่า ทำให้โจทย์หลักของการดำเนินนโยบายการเงินยังคงอยู่ที่ประเด็นน้ำหนักของปัจจัยเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางของระบบการเงิน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจ ตลอดจน การเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด