หลังจากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้กฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตรา 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561
ล่าสุดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2562 ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศใช้ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับหลังจากประกาศภายใน 90 วัน แล้ว
โดยสรุปสาระสำคัญคือ เก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ของกองทุนรวม ในอัตรา 15% จากเดิมที่ไม่เคยเก็บ
เนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงมีภาระภาษีที่แตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และเพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของต่างประเทศ
ทั้งนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 กองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5.27 ล้านล้านบาท
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ประเด็นเก็บภาษีในอัตรา 15% จากผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้จะสร้าง Sentiment เชิงลบให้กับกองทุนตราสารหนี้พอสมควร และน่าจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนถูกโอนถ่ายจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนอสังหาฯ และหุ้นปันผลสูง
ก่อนหน้านี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า เกณฑ์ใหม่เก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ 15% กระทบ Activity ของการซื้อขายลดลง เพราะกองทุนรวมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในพันธบัตรแบงก์ชาติ 70-80%
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า ปัจจัยที่อาจจะมีผลในเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้ในระยะข้างหน้าคือ เกณฑ์ภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งขณะนี้ผ่านสภาวาระ 3 ไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายหลัง 90 วัน จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจากเดิมที่ลงทุนในตราสารหนี้เองโดยตรง ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาเวลาได้รับดอกเบี้ยจะต้องเสียภาษี 15% เทียบเท่าภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอาจจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันหากซื้อตราสารหนี้เองโดยตรง ต้องเสียภาษี 15% ในขณะที่ซื้อผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้เดิมจะไม่ต้องเสียภาษี
กฎหมายใหม่จะเก็บภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ แปลว่าถ้ากองทุนรวมไปซื้อพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ณ วันที่ได้ดอกเบี้ยคูปองจากพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้นๆ จะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% คือผู้ออกจะหักภาษี ณ ที่จ่าย ถ้าคนซื้อเป็นกองทุน เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่เคยได้รับเต็มๆ สมมติ 2% ก็จะหายไปแล้ว 15%
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลตอบแทนของกองทุนรวมลดลงแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะไปยกเว้นให้ในส่วนกองทุน RMF และ Provident Fund ซึ่งจะต้องออกเป็นกฎหมายลูกต่อไป แต่สำหรับกองทุน FIF ที่ไปลงทุนต่างประเทศก็ไม่รอด เพราะถ้าไปลงทุนต่างประเทศซึ่งโดยหักจากต้นทางไปแล้วยังไม่ถึง 15% กลับมาต้องมายื่นเสียภาษีให้ครบตามกำหนดที่ 15%
อย่างไรก็ดีอาจจะมีผลทางอ้อมในตลาดตราสารหนี้โดยภาพรวมบ้าง เพราะว่าปกติแล้วกองทุนรวมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรแบงก์ชาติประมาณ 70-80% จึงอาจจะทำให้ Activity ของการซื้อขายลดลงไป เพราะว่าอัตราดอกเบี้ยโดนหักภาษีไม่ค่อยจูงใจเท่าที่ควร นักลงทุนเองจะซื้อผ่านกองทุนหรือซื้อเองโดยตรงตอนนี้ก็ไม่ต่างกันแล้ว
แต่กฎหมายใหม่จะมีการยกเว้นให้ภายใน 90 วัน สำหรับตราสารหนี้เดิมที่ถือไว้ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่ายขณะนี้อาจจะยังประเมินผลกระทบไม่ได้ เนื่องจากกองทุนรวมตราสารหนี้เดิมเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของพันธบัตร ธปท. และพันธบัตรอายุสั้นๆ ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งทำให้ความน่าสนใจของกองทุนรวมลดลงในแง่อัตราผลตอบแทน ก็สะท้อนกลับไปว่า Activity ของตลาดโดยรวมจะลดลง โดยเฉพาะในตลาดรองกลุ่มพันธบัตรระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี
“ปัจจุบันขนาดกองทุนรวมตราสารหนี้มีอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท นับรวม FIF เข้าไปแล้ว ขณะที่ขนาดพันธบัตรทั้งหมดประมาณ 13 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเคยประเมินไว้ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มได้ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในอุตสาหกรรมจะต้องไปประเมิน โดยเฉพาะ บลจ.จะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงระบบ
วันนี้คอนเซปต์ชัดเจน แต่ด้วยความที่กองทุนรวมบ้านเราไม่ได้มีเฉพาะ Term fund แต่มี trade ตลอดเวลา ซึ่งซื้อของใหม่บางครั้งบอนด์ที่ออกมานานแล้วดอกเบี้ย 5% เวลาหักจะหักจากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว แต่ความเป็นจริงคือตอนซื้อมาซื้อที่ยีลด์อาจจะแค่ 2% คือราคามูฟเมนต์ตลอด แต่ดอกเบี้ยถูกฟิกซ์ไว้ที่หน้าตั๋ว เพราะฉะนั้นบางทีอาจจะ over tax ก็ได้ จึงอาจจะยังมีความซับซ้อนของรายละเอียดในทางปฏิบัติ ซึ่งจะต้องไปหาวิธีปฏิบัติ ซึ่งต้องหารือกันอีกเยอะ และรวมถึงถ้าต้องมีการทำระบบขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ ก็มีระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน”
ด้าน นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนรวมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 หรือ ใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการเรียกเก็บจากกองทุนรวมไม่ได้เรียกเก็บจากผู้ลงทุนในกองทุนรวมเป็นรายคน เมื่อตราสารหนี้ที่กองทุนได้ลงทุนมีการจ่ายดอกเบี้ย ผู้ออกตราสารจะหักภาษีดอกเบี้ยไว้ 15% และนำส่งกรมสรรพากรทำให้กระเงินสดจากดอกเบี้ยที่กองทุนรวมได้รับน้อยลง
โดยกองทุนรวมทุกประเภททุกนโยบายที่ บลจ.บริหารเองจะมีภาระภาษี ซึ่งจะเสียภาษีเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยหรือส่วนลดในตราสารหนี้และเงินฝากที่ลงทุน
ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมที่จัดตั้งเพื่อรองรับกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อรองรับการเกษียณในอนาคตซึ่งมีความจำเป็นต่อประเทศ
“ผลกระทบต่อผลตอบแทนกองทุนรวมจะค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง ไม่ใช่ลดลง 15% ในทันที
เพราะทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่าที่ไม่ถูกหักภาษี และตราสารหนี้ใหม่ ที่จะถูกหักภาษี
นอกจากนั้น ยังมีการผ่อนผันการบังคับใช้ไปอีก 3 เดือนหลังประกาศ ทำให้กองทุนมีระยะเวลาปรับตัวในการส่งผ่านภาระภาษีไปยังผู้เสนอขายตราสารหนี้”
ส่วนความกังวลว่าผลของภาษีจะทำให้กองทุนรวมตราสารหนี้จะมีผลดำเนินงานติดลบหรือไม่นั้นมี 2 ส่วน คือ
1. กำไรขาดทุนจากการประเมินมูลค่ายุติธรรม และ/หรือ กำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงจากการซื้อขาย
2. รายได้ดอกเบี้ยรับ เมื่อมีการเก็บภาษีตราสารหนี้จากดอกเบี้ยรับของกองทุนรวม ก็จะเป็นผลให้ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับน้อยลง แต่ไม่ถึงกับติดลบ ดังนั้น การเก็บภาษีไม่มีผลให้กองทุนรวมขาดทุนหรือมีผลการดำเนินงานติดลบ จึงไม่ควรตื่นตกใจและขายกองทุนด้วยเหตุผลดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องจ่ายภาษี เงินปันผล หรือภาษีกำไรจากส่วนต่างของราคา เนื่องจากได้มีการหักภาษีไว้ในระดับกองทุนแล้ว ส่วนตราสารหนี้ที่ถือครองมาก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จะยังได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนเดิม รวมถึงกองทุนรวมที่กำหนดช่วงระยะเวลาไถ่ถอน (Term Fund) หากจัดตั้งและลงทุนก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับ ผู้ถือหน่วยจะยังคงได้รับผลตอบแทนรวมตามอัตราที่บลจ.เคยระบุไว้เช่นเดิม แต่เนื่องจากระบบการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเป็นแบบหักและขอคืน ผู้ออกตราสารหนี้จึงต้องหักภาษีดอกเบี้ย 15% ณ ที่จ่ายไว้ก่อน ทำให้เมื่อครบรอบการลงทุน ผู้ลงทุนจะได้รับคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ถูกหักภาษี เมื่อ บลจ.ขอคืนเงินจากกรมสรรพากรแล้วจะนำส่งเงินเพิ่มเติมให้กับผู้ถือหน่วยต่อไป