top of page
312345.jpg

หนุน SME สกัดสารกัญชาชั้นดี ต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลาย


Interview: คุณจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ รับหน้าเสื่อดูแลขั้นตอนกลางน้ำ ส่งเสริมผลักดัน สร้างเทคโนโลยี-นวัตกรรมในการแปรรูปกัญชาเชิงเศรษฐกิจ สนับสนุน SME ตั้งกลุ่มศึกษาพัฒนาสกัดสารกัญชาให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ขายได้ราคาดี พร้อมส่งไม้ต่อให้ Big Brother ภาคเอกชนระดับยักษ์ใหญ่เข้ามาช่วยสนับสนุนในรูปแบบ CSR รับซื้อสารสกัดจากกัญชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่อไป

- ถึงขณะนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีการเตรียมรับมือกับเรื่องกัญชาที่ใช้ในเชิงทางแพทย์ เชิงสันทนาการ อย่างไรบ้าง

สืบเนื่องจากคำสั่งนายกรัฐมนตรี คำสั่งที่ 332/2561 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2561 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการศึกษาและวิจัย โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธานคณะกรรมการ ในคณะกรรมการชุดนั้นมีผู้แทนของกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ด้วย ซึ่งเราก็เห็นความสำคัญ นำเรื่องนี้ปรึกษาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้ในส่วนของกัญชาจะมีมุมมองทั้งมุมของทางการแพทย์ อีกมุมมองก็ส่งผลกระทบในบางเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมบ้าง ซึ่งต้องมาดูกันให้ดี จึงเป็นที่มาที่ไปของการที่กระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ 2 กลุ่ม คือกลุ่มกัญชาและกลุ่มสมุนไพร บทบาทของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเรามีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม SME วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

เราได้วางแนวทางของคณะทำงานชุดนี้ว่าอยากจะมองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เรามองว่า Value Chain ของกัญชานั้นเป็นอย่างไร ส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจะดูภาคการผลิต จะดูเรื่องของกลางน้ำ การกำหนดทิศทางแนวทางตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เราจะขับเคลื่อนกัญชาไปในทิศทางที่เน้น SME ตัวผู้ประกอบการหรือกลุ่มวิสาหกิจที่ต้องการแปรรูปหรือส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตกับกัญชา แต่เรื่องนี้ก็มีกฎหมายอื่นๆเข้ามาเป็นองค์ประกอบ แต่เราพูดเป็นภาพรวมนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องการแปรรูปเราต้องเข้าไปดูนวัตกรรมที่จะนำมาแปรรูป เราต้องพูดถึงเทคโนโลยี เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตต่างๆ เราตั้งสมมุติฐานอุตสาหกรรมกลางน้ำของกัญชาเหมือนกับพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยเช่นเดียวกับสมุนไพร

กระทรวงอุตสาหกรรมมองว่าเราจะกำหนดทิศทางของการพัฒนากัญชาตามนโยบายและบทบาทของกระทรวง เรื่องสำคัญคือ ตอนนี้เหมือนกับต่างคนต่างศึกษา ต่างทำกันอยู่ ทำอย่างไรจึงจะศึกษาและบูรณาการวางแผนร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของกัญชาหรือพืชเศรษฐกิจ ล่าสุดเราเริ่มลงรายละเอียดว่าผู้ประกอบการหรือ SME ที่จะแปรรูป หรือโรงงานที่เป็นโรงงานปลูกกัญชา จะต้องได้รับอนุญาตอย่างไร ตรงนี้จะมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่จะเข้ามาบูรณาการภายในกระทรวงก่อน ส่วนหน่วยงานนอกกระทรวงฯ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ที่มอง Value Chain ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้ครบ และดูว่าเราจะเชื่อมโยงกันอย่างไร

- ตอนนี้ภาครัฐยังไม่ได้ลงรายละเอียดชัด แต่กระแสความสนใจในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชามีสูงมาก เมื่อไหร่ถึงจะชัดเจนว่าใครควรจะทำอะไรอย่างไรได้บ้าง

ในส่วนของกัญชามีสารสกัดอยู่ 2 ประเภท สารแรกเรียก THC และสารอีกตัว คือ CBD ซึ่งสารสกัดทั้ง 2 ตัวนี้ เป็นสารสกัดที่นำมาสู่ขบวนการแปรรูป ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ดีก่อน ต้องดูว่าสารสกัดที่จะนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างไร สารสกัดนั้นจะเอาไปใช้ในผลิตภัณฑ์อื่นได้ไหม เช่น ครีม น้ำมัน หรือใช้ในเครื่องสำอางอย่างไร ส่วนทางการแพทย์เชื่อว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลพวกนี้ วันนี้เราเห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลได้ความร่วมมือจากประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมีการคุยกับท่านในส่วนนี้ ท่านพูดว่าตอนนี้รัฐบาลให้สกลนครเป็นจังหวัดที่ปลูกกัญชานำร่อง ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯก็ต้องเข้าไปดู

เท่าที่ทราบการปลูกกัญชา มี 2 ระบบ คือ Outdoor กับ Indoor การปลูกแบบ Indoor นั้น จะทำให้คุณภาพสารต่างๆ และสารสกัดต่างๆ ได้คุณภาพสูง ควบคุมการนำเข้าหรือการนำไปขายนอกระบบ มีระบบบัญชีต่างๆ สามารถคุมได้ พอมาถึงกลางน้ำคือทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเอาตัวกัญชามาสกัดเพื่อไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เชื่อว่ามีเรื่องหนึ่งที่เราต้องเข้าไปดูคือเรื่องการออกกฎหมายที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานปลูกกัญชาเพื่อทางการแพทย์ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญเพราะโรงเรือนที่ปลูกอย่างกลุ่มวิสาหกิจก็สนใจ เขามีการรวมกลุ่มวิสาหกิจกัน มีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ พวกนี้จะปลูกกัญชาเพื่อมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ SME ได้อย่างไร กฎหมายพวกนี้ต้องมาดูกันให้ชัด แต่ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเรามองว่าเหมือนปลูกพืชสมุนไพร ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการศึกษาให้รู้ว่าสารสกัดที่จะนำมาใช้นั้นต้องผ่านกระบวนการ ผ่านนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรในการสกัดอย่างไร

ตรงนี้มีตัวอย่างที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเรียกว่าโครงการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม เป็นการให้ความรู้แก่กลุ่มวิสาหกิจในการเอาพืชผลทางการเกษตรมาแปรรูป เช่น สมุนไพรตะไคร้ แปรรูปให้วัตถุดิบทางการเกษตรมีมูลค่าที่สูงขึ้น เราไม่ได้แปรรูปแค่เอาไปทำมะนาวดอง มะนาวเชื่อม แต่เรานำไปแปรรูปที่ High Value จริงๆ เราเริ่มนำเครื่องจักร เทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น เครื่อง Spray Dryer เครื่อง Freeze Dryer เตาอบ เครื่องบด เครื่องหั่น เครื่องพวกนี้จะทำให้ตัววัตถุดิบนั้นออกมาเป็นสารสกัดขั้นต้น กัญชาก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างไรให้แปรรูปผลผลิตกัญชาผ่านกระบวนการที่เรียกว่าศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ตรงนี้เป็นแพลตฟอร์มที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมองว่าเรามีต้นทุนที่เป็นหน่วยงานในภูมิภาคอยู่แล้ว มีเทคโนโลยีเครื่องจักรไว้ในระดับหนึ่ง แต่อันนั้นเป็นพืชผลทางการเกษตรทั่วไป ส่วนการประยุกต์จะสามารถขับเคลื่อนโดยให้เกษตรกรเอากัญชาไปที่ศูนย์ปฏิรูปของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 11 แห่งประเทศไทย และลองสกัดดูว่าจะได้สารวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อเอาไปใช้ทางการแพทย์ได้อย่างไรบ้าง เชื่อว่ากลุ่มวิสาหกิจ SME จะเกิดการเชื่อมโยงกันโดยอัตโนมัติ SME ไม่ต้องไปทำในเรื่องตั้งแต่ต้นทาง ท่านมาศูนย์วิสาหกิจได้เลย แต่ต้องมีเรื่องมาตรฐาน ตรงนี้สำนักงานมาตรฐานก็ต้องเข้ามาดูว่าสารสกัดพวกนี้เป็นยังไง อย.เข้ามาช่วยดูว่าสารสกัดพวกนี้เมื่อสกัดออกมาแล้วได้คุณค่าหรือคุณภาพของสารสกัดที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อเนื่องได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนการรักษาโรคต่างๆ เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีข้อมูลที่ทำให้รู้ว่าสารสกัด 2 ตัวนั้นใช้ได้อย่างไร

- พอจะมีแนวความคิดไหมว่างานนี้จะส่งเสริมรายเล็ก รายย่อย หรือชาวบ้านเท่านั้น รายใหญ่อย่ามายุ่ง เพราะแกนนำพูดว่ารัฐออกกฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อธุรกิจรายใหญ่และธุรกิจต่างชาติ

คือเราพยายามสร้างการร่วมกลุ่มในกลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งตอนนี้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ให้ความรู้กับผู้นำกลุ่มในการรวบรวมและสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนก่อน สิ่งสำคัญคือเรื่องการสร้างความเข้าใจ ต้องเปลี่ยนความคิดของชุมชนให้ได้ว่าการทำเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย เราต้องการทำให้ชุมชนนั้นมีความพร้อมและมีศักยภาพก่อน แล้วชุมชนนั้นก็ลงไปดูพืชผลทางการเกษตรที่ตัวเองปลูก ในบางพื้นที่ให้ปลูกได้ตั้งแต่ 6 ต้น ที่ผ่านมาคือถ้าปลูกตามกฎหมายได้ครัวเรือนละ 6 ต้นเพื่อการรักษาโรคหรือการบำบัด อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายมันคุมไม่ได้ ผลสุดท้ายปลูก 8 ต้น ปลูกเกิน 2 ต้นก็เอาไปขาย อันนี้เป็นอันตรายกับสังคมบ้านเรา มองว่าเราต้องสร้างความคิดใหม่ให้กับคนหรือกลุ่มวิสาหกิจให้เข้าใจ ซึ่งเขามีบทบาทในเรื่องการปลูกอยู่แล้ว เราแยกชัดเจนตั้งแต่กลุ่มวิสาหกิจมีการรวมตัวหรือที่เรียกว่า Social Enterprise เขาจะดู จะทำเฉพาะกระบวนการต้นน้ำให้ได้ในส่วนสารวัตถุดิบตั้งต้น

ส่วนสารวัตถุดิบตั้งต้นเรานำมาปรับ ให้เขามีความเข้าใจรับผิดชอบต่อสังคม แล้วเราจะเอาตรงนั้นมาต่อยอดโดยการเชื่อมโยงที่เราเรียกว่า Big Brother กรมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้พูดคุยกับหน่วยงานใหญ่ๆ ที่เป็นคนมีศักยภาพ Big Brother คือคนที่มีโรงงาน เช่น SCG มี CSR ที่อยากจะช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว การทาสีวัดหรือมอบของขวัญให้เด็ก ต่อไปช่วยกลับมาดูแลสังคมได้ไหม ดูแลสังคมด้วยการดูว่าชุมชนนี้มีความต้องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรหรือสารสกัดยังไง แล้วตรงนี้จะรับซื้อไปต่อยอดโดยการไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างไร อันนี้ก็จะแบ่งชัดเจน เราไม่ต้องการให้ของดีๆของประเทศไทยขายออกไปเพียงแค่วัตถุดิบ เพราะถ้าเราขายเป็นวัตถุดิบเมื่อไหร่ราคาก็ถูก อันนี้เป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีเศรษฐกิจที่มีฐานรากมากขึ้น และสิ่งสำคัญมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมอง และจะมีการแบ่งชัดเจนว่ากลุ่มวิสาหกิจฉันทำแค่นี้ ทำไมเราต้องคิดทุกอย่างสุดซอยเสมอ บางครั้งเราพอใจกับการทำแค่นี้แล้วเราก็อยู่ได้ มีคุณภาพที่ดี แล้วเรายังเก่งด้านนี้คือด้านการทำสารสกัดตั้งต้น

42 views
bottom of page