top of page
379208.jpg

ผู้ถือหุ้นมั่นใจให้ระเฑียรอยู่ต่อ...บล.บัวหลวง ปรับกำไรเพิ่ม

ผู้ถือหุ้น KTC มั่นใจให้ ระเฑียร ศรีมงคล นั่งเป็นกรรมการบริษัทต่ออีกสมัย ขณะที่ บล.บัวหลวงปรับเป้าหมายกำไร KTC ปี 2562 อีก 6%เป็น 5,900 ล้านบาท ดันราคาเป้าหมายขยับที่ 46 บาท…ด้าน ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตที่ A+ หลังพิจารณาว่า KTC มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน และความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท

จากการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 5 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ได้มีมติสำคัญคือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ต่อวาระให้ นายระเฑียร ศรีมงคล เป็นกรรมการบริษัทต่ออีกวาระหนึ่ง ซึ่งทำให้ลุ้นต่อไปว่า นายระเฑียร จะได้รับความไว้วางใจให้อยู่ทำหน้าที่เป็น CEO ที่ KTC ต่อไปอีกสมัยด้วย ขณะที่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติแต่งตั้งให้นางประราลี รัตน์ประสาทพร มาเป็นกรรมการบริษัทแทน นางศรีประภา พริ้งพงษ์ และ แต่งตั้งนาย โกศล แช่มชื่น เป็นกรรมการแทน นายเชิดชัย ชมพูนุกูลรัตน์

ทั้งนี้ในด้านของ บล.บัวหลวง ได้ประเมินและปรับเพิ่มเป้าหมายกำไรของ KTC ในปี 2562 อีก 6%เป็น 5,900 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 8% ในปี 2563 เป็น 6,500 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อสูงกว่าประมาณการเดิมจาก 5% สำหรับทั้งปี 2562 ดังนั้นจึงปรับราคาเป้าหมายปี 2562 สูงขึ้น 7% มาอยู่ที่ 46 บาท อ้างอิงจาก PBV ที่ 5.3 เท่า หรือ PE ที่ 20 เท่า

“KTC ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 10% ในปี 2562 จาก 6% ในปีที่ผ่านมา บริษัทกำลังจะจัดหาลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์, สาขา และผ่านทางธนาคารกรุงไทย จึงคาดว่ากำไรไตรมาส 1/2562 ของ KTC จะโต 15% อยู่ที่ 1,390 ล้านบาท ทั้งนี้ในปลายปี 2561 บริษัทมีอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงที่สุดในกลุ่มการเงินอยู่ที่ 616% มากพอที่จะรองรับมาตรฐานการบัญชี IFRS9 ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มใช้ในเดือนม.ค. 2563”

นอกจากนี้ KTC จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ที่จะดำเนินงานธุรกิจ pico-finance ซึ่งบริษัทจะถือหุ้น 75% ของการร่วมทุนในครั้งนี้ โดย KTB จะถือหุ้นที่เหลือ 25% ธุรกิจ pico-finance คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ผลิตภัณฑ์จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 36% ต่อปี รวมทั้งแผนจะตั้งธุรกิจ e-wallet และ payment gateway ซึ่งส่งผลให้ KTC เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่จะกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ e-payment/m-payment ที่สำคัญและสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ของกิจการในระยะยาวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดสัญญาความร่วมมือในการโอนชำระค่าสินค้าบริการในกลุ่ม CLMV

“ในประมาณการเรายังไม่ได้สะท้อนการร่วมทุนดังกล่าว เนื่องจากบริษัทจะต้องใช้เวลาในการประเมินว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร”

ด้าน ทริสเรทติ้ง เพิ่งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน KTC ที่ A+ แนวโน้ม Stable โดยมีปัจจัยเสริมมาจากฐานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมาจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานและความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าเนื่องจากบริษัทมีแผนการที่จะเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจให้สินเชื่อประเภทใหม่ซึ่งเน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่มีฐานะการเงินไม่สูง

“ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยรับที่สูง ต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายหนี้สูญและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่อยู่ในระดับคงที่ และคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะยาวเอาไว้ได้เนื่องจากบริษัทมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 12% ของสินเชื่อบัตรเครดิต และ 7% ของสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา

บริษัทมีนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดโดยกำหนดอัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมไว้ที่ระดับ 7.0% ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) เพิ่มขึ้นเป็น 616% ณ สิ้นปี 2561 จาก 589% ณ สิ้นปี 2560 ทริสเรทติ้งมีมุมมองต่อนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดของบริษัทในด้านบวกเนื่องจากการตั้งสำรองดังกล่าวจะมีเพียงพอรองรับการเปลี่ยนแปลงในทางลบที่จะกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นของบริษัทมิได้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนักเนื่องจากบริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายซึ่งรวมถึงเงินกู้ที่ได้รับจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถออกหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันและมีต้นทุนที่ค่อนข้างเหมาะสมได้อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ลูกหนี้สินเชื่อรวมของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 7% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 8% ในช่วงปี 2562-2564 ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในช่วง 3.2-3.7% ในช่วงปี 2562-2564”

18 views
bottom of page