top of page
379208.jpg

หุ้นโลก'62 ดีขึ้น หุ้นไทยอึมครึม...ระวัง ปัจจัยไม่แน่นอนเพียบ


Interview: ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์

ปีนี้การลงทุนในตลาดโลกค่อนข้างปรับตัวดีขึ้น แต่ในไทยยังน่ากังวลด้วยปัญหาเฉพาะตัว เพราะมีปัจจัยไม่แน่นอนหลายประการ เช่น การเมือง การเลือกตั้ง หรือมีประเด็นเข้ามาเช่น ประเด็นควบคุมราคายา หรือผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยดีมากนัก รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง กดดันหุ้นการส่งออก

 

นับจากปีใหม่เป็นต้นมา ดร.ปิยศักดิ์ มองสถานการณ์ต่างๆ ในปี 2562 อย่างไร

อย่างที่เห็นเรื่องการลงทุนในตลาดโลกค่อนข้างปรับตัวดีขึ้น แต่ในไทยยังน่ากังวล

ในส่วนของตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้นจากสัญญาณบวกหลัก 2 ตัว คือ เรื่องของเฟด เริ่มส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย บอกว่าจะอดทนรอ จึงทำให้กระแสการลงทุนมีมากขึ้น อีกเรื่องคือที่ทางการจีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะครั้งที่แล้วที่ลดภาษีต่างๆ บุคคลธรรมดา นิติบุคคล รวมไปถึงเรื่องนโยบายผ่อนคลายเรื่องการเงิน ซึ่งส่วนนี้ทำให้ในส่วนของตลาดเอเชียโดยเฉพาะในจีนค่อนข้างดีขึ้น ทำให้ภาพรวมของการลงทุนดีขึ้น

แต่ของไทยยังน่ากังวล เพราะมีปัจจัยไม่แน่นอนหลายประการ เช่น ปัจจัยการเมือง การกำหนดวันเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจน เรื่องประเด็นควบคุมราคายา หรือผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยดีมากนัก รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และกดดันหุ้นการส่งออกด้วย

ขยายความลงไปอีก ถ้ามองในส่วนของการลงทุนของตลาดโลก ปัจจัยต่างๆ ของตลาดโลกที่ดีมี 2 อย่าง คือ 1. เรื่องเฟดรอให้พร้อมมากขึ้นก่อนเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ปลายปีที่แล้วขึ้นมาเยอะการลงทุนค่อนข้างแย่ตกต่ำค่อนข้างเยอะ ปัจจัยบวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัมป์เริ่มคุยกับสีจิ้นผิงแล้ว ก็ไม่ได้ช่วยให้ตลาดโลกในช่วงปลายปี 2561 ดีขึ้น แต่พอต้นปี 2562 มาเฟดเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอขึ้นดอกเบี้ย อันนี้เป็นส่วนหลักสำคัญว่าตลาดเริ่มดีขึ้น เห็นได้ชัดจากฝั่งตลาดพันธบัตร ที่พันธบัตรระยะสั้นมีผลตอบแทนสูงกว่าระยะยาว บ่งชี้ว่าตลาดการเงินเริ่มผ่อนคลาย

2.ตัวเลขของทางการจีน จะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนจริงๆ ไม่ค่อยดี ตัว PMI ก็ปรับดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อมองดูการลงทุน คือต่ำกว่า 50 แล้ว บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะติดลบ การส่งออกก็ติดลบ ตัวเลขที่ออกมาชะลอลง ภาพรวมแบบนี้ดูไม่ดีนัก แต่ทางการบอกว่าพร้อมที่จะอัดฉีดทั้งนโยบายการเงินการคลัง ทำให้เศรษฐกิจของตลาดค่อนข้างดี ทำให้อย่างน้อยภาพรวมของตลาดโลกค่อนข้างดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบอื่นๆ ก็ยังมีอยู่โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็น Brexit เห็นภาพว่าทางข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เรื่องการทำ Brexit ให้ไม่ผ่านสภาอังกฤษ แต่พอสภาโหวตไม่ไว้วางใจก็กลับผ่านการโหวตไม่ไว้วางใจ บ่งชี้ว่าตัว ส.ส.ไม่ยอมรับข้อเสนอแต่ก็ไม่มีข้อเสนอใหม่หรือไม่มีทางออกที่ชัดเจนให้กับ เทเรซา เมย์ เพราะฉะนั้นความเสี่ยง Brexit นี้ก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่เรื่อง Government Shutdown ในสหรัฐ คือการที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถเปิดได้ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ อย่างพวกหน่วยงานกลาง แม้แต่พิพิธภัณฑ์ก็ปิด เพราะสาเหตุหลักคือทะเลาะกันในเรื่องงบประมาณ อย่างที่ทราบกันว่าทรัมป์ต้องการสร้างกำแพงเม็กซิโก การชัตดาวน์ก็ลากมายาวนานเกือบ 1 เดือน ยาวนานสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ปัจจัยทางการเมืองไม่ค่อยดีมาก แต่ปัจจัยผ่อนคลายด้านการเงินการคลังของรัฐบาลขนาดใหญ่ทั้งสหรัฐและจีนเป็นตัวช่วยโลกตอนนี้

ไปๆ มาๆ ทรัมป์ จะต้องถูกให้ออกจากตำแหน่งไปเสีย สมมติออกมาแนวนี้ คิดว่ามีผลต่อเศรษฐกิจมั้ย

ผมมองว่าค่อนข้างยากในตอนนี้ที่ว่าทรัมป์จะถูกปลด จริงๆ ต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสภาสูง คือ วุฒิสภา แต่วุฒิสภายังถูกควบคุมโดยรีพับลิกัน ฉะนั้นถ้าไม่มีประเด็นสำคัญจริงๆ ทำให้ ส.ว.ของรีพับลิกันยอมเห็นว่าทรัมป์ไม่ดีจริงและต้องปลดออกก็คงยังปลดออกไม่ได้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางการเมืองจะมีมากขึ้น จะลากยาวมากขึ้น เปิดปีมาบ่งชี้เลย เหมือนเปิดปีที่แล้วมาบ่งชี้เลย คือ ทรัมป์ส่งสัญญาณจะขึ้นภาษี ปีนี้บ่งชี้เรื่องชัตดาวน์ ทั้งปีมองว่าเรื่องการเมืองสหรัฐจะเป็นตัวป่วนทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนโลกจะผันผวน

อย่างไรก็ตาม เฟดเริ่มผ่อนคลาย จะเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าปัจจัยการเมืองในเชิงของการลงทุนที่จะทำให้การลงทุนพอไปได้อย่างต่อเนื่อง

มองว่าปีนี้ กระแส Fund Flow จะเปลี่ยนทิศ ไหลกลับมาฝั่งตลาดเกิดใหม่ มั้ย

ทั้งเรื่องของการผ่อนคลายอเมริกาและจีนทำให้การลงทุนดีขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงก็ดีขึ้น คือ Fund Flow จะไหลเข้ามาในเอเชียมากขึ้น แต่ของไทยเองมีปัจจัยเฉพาะตัว เรื่องการเลือกตั้ง หรืออย่างที่ผ่านมามีเรื่องความไม่ชัดเจนในราคายา เป็นปัจจัยเฉพาะตัวที่ทำให้ตลาดเราไม่ได้ขึ้น ขณะที่ตลาดอื่นขึ้นอย่างจีนขึ้น 0.9% ญี่ปุ่นขึ้น 1.5% ก็ต้องดูปัจจัยพวกนี้ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ อย่างการเมืองก็หวังว่าภายในวันที่ 25 มกราคม 2562 จะเห็นทางรองนายกฯ ดร.วิษณุ ออกมาให้ความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง ก็หวังว่าน่าจะช่วยหนุนตลาดหุ้นได้ ซึ่งต้องตามดูต่อไป

ล่าสุดสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ที่มีแนวโน้มที่จะคุยกันได้ จีนจะนำเข้าเพิ่ม คิดว่ามีผลทำให้ความตึงเครียดของโลกลดลงมั้ย มันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

มองว่าปีนี้ สำหรับเรื่อง Trade War ไม่รุนแรง คือ ถ้าขึ้นภาษีต่อ อย่างตอนนี้อเมริกาขึ้นภาษีจีนพอสมควรแล้ว 25% ในสินค้า 50,000 ล้าน 10% ในสินค้า 200,000 ล้าน แต่มองว่าโอกาสที่จะขึ้นต่อค่อนข้างลำบาก เพราะการขึ้นภาษีต่อโดยเฉพาะ 10% ในสินค้า 200,000 เป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ถ้าขึ้นภาษีราคาก็จะขึ้นทันทีก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจทันทีแล้วเศรษฐกิจอเมริกามีแนวโน้มชะลอลง ฉะนั้นเขาคงไม่ขึ้นภาษีขณะที่จีนเศรษฐกิจก็แย่ลงมาก ทางการยอมผ่อนคลาย อีกเรื่องทรัมป์ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าไม่อยากคุมเรื่องภาษีแล้วเพราะต้องการให้ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น เพราะเขามองว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจในสมัยของเขา ที่เขาบริหารจะต้องดี

ผมกลับมองว่า สงครามการค้าจะเปลี่ยนไปเป็นสงครามเทคโนโลยี มากกว่า จาก Trade War เป็น Tech War เห็นได้ชัดในเรื่องของการจับกุม CFO ของหัวเว่ย เพราะว่าหัวเว่ยเป็นทั้งผู้ผลิตมือถืออันดับต้นๆ คือ อันดับ 2 หรือ 3 ของโลก และเป็นผู้ผลิตเครือข่ายแทบจะเป็นอันดับ 1 ของโลก และเขายังเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G สิ่งพวกนี้ทำให้อเมริกากังวล นอกจากนี้ยังมีกระแสคิดกันว่าหัวเว่ยอาจจะเป็นสื่อในการจารกรรมทางไซเบอร์ ซึ่งอันนี้จริงหรือไม่จริงยังไม่ชัดเจน แต่ก็ทำให้อเมริกาผลักดันพันธมิตรหันไปกดดันจีนมากขึ้น แล้วจีนก็หันมากดดันแคนาดา และประเทศอื่นๆ มากขึ้น เห็นได้ชัดการกดดันแบบนี้ คือ จีนก็ไม่กล้าหันมากดดันอเมริกาตรงๆ อาจจะไปกดดันประเทศอื่นที่ด้อยกว่า เหมือนอเมริกาที่มากดดันจีนเพราะเห็นว่าตัวเองยังแข็งแกร่งกว่า

สรุปรวมความ ผมมองว่า ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าปีนี้จะไม่สูงนัก แต่จะกลายเป็นมีสงครามเทคโนโลยีแทน เปลี่ยนจาก Trade War เป็น Tech War

ปีที่แล้วเรื่อง Fund Flow ต่างชาติขายเอาๆ เกือบ 300,000 ล้านบาท แต่ปีนี้ช่วงกว่า 10 วันต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อ บวกไปแล้ว 3,000-4,000 ล้าน อันนี้เป็นสัญญาณอย่างไร

ตอนนี้มองว่าสิ่งที่นักลงทุนอาจจะต้องจับตาหลักๆ คือ เรื่องมุมมองนโยบายของเฟด ถ้าเฟดยังบ่งชี้ว่าสัญญาณยังผ่อนคลายอยู่แบบนี้ก็ทำให้กระแสการลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างดี กระแสการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างดี และในมุมมองของผู้จัดการกองทุนรวมหรือกองทุนต่างๆ ก็มองว่าหุ้นในเอเชียหรือหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยรวมค่อนข้างถูกแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่ว่าพอกระแสเรื่องการผ่อนคลายเริ่มเกิดขึ้น เงินก็ไหลเข้าในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะเอเชียค่อนข้างมาก คราวนี้ขึ้นอยู่กับตลาดแต่ละตลาดมีปัจจัยมากน้อยแค่ไหน ของไทยเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่มีความเสี่ยงเรื่องศักยภาพเศรษฐกิจหรือเรื่องปัญหาด้านการเมืองก็เป็นปัญหาเรื่องฉุดรั้ง ก็ต้องคอยดูว่าถ้าปัจจัยเราคลี่คลายลงก็จะกลับมาได้

สำหรับไทย หาก GDP โตไม่ถึง 4% ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ World Bank ประกาศก็ถือว่าไม่ดีในสายตานักลงทุนไทย และต่างชาติด้วย

จริงๆ ไม่ค่อยดีนัก... แต่ปัจจัยเศรษฐกิจก็อาจเป็นอันดับ 2 รองจากเรื่องนโยบายการเงิน แต่เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญในระดับหนึ่ง คือ ถ้าไม่โตก็จะกดดันในเรื่องของความสนใจเรื่องการลงทุนไม่มากนัก เขาจะมองว่าตลาดเราถ้าเศรษฐกิจแย่ก็อาจจะหลบเข้ามาได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจดีก็อาจจะไปหาที่ดีกว่าอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งเศรษฐกิจโตกว่าเราอยู่แล้ว

นักลงทุนไทยตอนนี้มีไข่เหลือไม่กี่ฟองแล้ว จะเอาไปไว้ในตะกร้าไหนดี

โดยส่วนตัวมองว่าการผ่อนคลายของอเมริกาทำให้การลงทุนในอเมริกาน่าสนใจบ้าง แม้ว่าเรื่องของราคาคือปรับลดลงมามากแล้ว แต่ถ้าเทียบกับตลาดอื่นๆ PE Ratio ค่อนข้างสูง ก็ลงทุนในตลาดอเมริกาไว้บ้าง เริ่มกระจายมาเอเชียหรือตลาดเกิดใหม่ให้มากขึ้น ตลาดที่เราเห็นว่าน่าสนใจก็เริ่มผันเงินไปลงทุนได้บ้างอย่างตลาดละตินอเมริกา ปีที่แล้วตลาดละตินอเมริกาค่อนข้างแย่แต่ปลายปี ดีขึ้นบ้าง ในระยะต่อไปเศรษฐกิจเขาค่อนข้างตกต่ำแล้วค่อยฟื้นตัว ขณะที่การเมืองเริ่มดีขึ้นก็น่าสนใจบ้าง อีกตลาดหนึ่งคือเรื่องของการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทอง ก็น่าสนใจ

แล้วสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนแต่ในไทย ต้องอยู่ในตลาดหุ้นไทยนี่แหละ จะลงทุนอย่างไรดี มองกรอบดัชนีอย่างไร

ถ้าหุ้นในไทยยังถือว่าต้องระมัดระวัง ต้องเลือกเป็น Sector อย่าง Sector Healthcare อาจจะเป็น Sector ที่ต้องดูความชัดเจนในเรื่องนโยบายของการกำหนดราคายาของสหรัฐ ส่วน Sector Real Estate ปัจจัยต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยดีนัก เป็นคอนโทรลของทางแบงก์ชาติ

ถ้ามองเป็นหุ้นรายตัวอาจจะต้องดูที่มีการกระจายการลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนใน Real Estate อย่างเดียว ส่วนเรื่องของธนาคารยังต้องติดตามเพราะว่าธนาคารสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจและในช่วงหลังหุ้นกลุ่มของธนาคารอาจจะไม่ค่อยดีนัก

2 views
bottom of page