มีข่าวไม่สู้ดีสำหรับปีใหม่นี้ โดยเฉพาะจากต่างประเทศ
พาดหัวข่าว Alan Greenspan: Investors should prepare for the worst อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อลัน กรีนสแพน บอกว่า “นักลงทุนทั้งหลายควรเตรียมพร้อมเอาไว้ เพื่อเผชิญสถานการณ์สุดเลวร้าย”
ไม่รู้ว่าความหมายของคำว่า worst เลวร้ายสุดๆของปู่กรีนสแพนจะ “สุดๆ” ขนาดไหน
เพราะที่ผ่านๆมา สถานการณ์ก็ยังทรงๆ ไปกันได้อยู่ ทว่าพอเกิดอะไรผิดปกติขึ้นมา เช่นเฟดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดก็ไหวหวั่นกัน “สุดๆ” ดาวโจนส์ร่วงไปกว่า 600 จุด S&P500 ต่ำสุดนับแต่ตุลาคม 2017 ตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ทั่วโลกรวมถึง SET สะท้านสะเทือน แสดงถึงความเปราะบางต่อสิ่งกระทบของตลาดมีมาก
ปีนี้จึงกลายเป็นปีแห่งการระแวดระวังภัย ดังที่ปู่กรีนสแพนเตือนเอาไว้ แต่กระนั้นก็ยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์เมื่อ Bank of America (NYSE:BAC) ให้ความหวังไว้ว่าจะมีการรีบาวด์ 20% ในหลายเดือนข้างหน้าโดยเอาตัวเองเป็นตัวชี้วัด เนื่องจากราคาหุ้นของตนขยับขึ้นมา 4% ในสัปดาห์ก่อน รวมแล้วขึ้นมา 10% จากจุดต่ำสุดในรอบ 52 สัปดาห์
เป็นธรรมดาที่ดอกเบี้ยขึ้น กิจการแบงก์ย่อมได้กำไรเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ BAC ยังไม่บอกก็คือ กิจการแบงก์อาจจะดีขึ้นก็จริง ทว่าตลาดสินเชื่อก็ใช่ว่าจะขยายตัวดีขึ้น เพราะกลายเป็นว่า ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระ ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง
บอนด์อายุ 10 ปีเคยให้ผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ย 1.6-1.7% ตลอดปี 2016-2517 ปีที่แล้วเฉลี่ย 3% และมีที่เคยขึ้นไปถึง 3.25% แต่ถึงเดือนตุลาคม ตกฮวบไปที่ 2.50%
ขึ้นดอกเบี้ยเฟดเป็น 2.50 % บอนด์อายุยาวก็จะอยู่ในระดับนี้ไปจนตลอดปี 2019 ขณะที่บอนด์อายุสั้น กลับให้ผลตอบแทนสูงกว่า คือ 3-3.25%
ปรากฏการณ์นี้น่าประหวั่นพรั่นพรึงมาก เพราะมันเคยเกิดมาแล้วช่วงก่อนเกิดภาวะ Great Recession 2007-2009...ครั้งนั้น บรรดาธนาคารพากันละเมิดกฎเหล็กการเงิน มุ่งแต่จะตักตวงผลกำไรจากการออกตราสารอนุพันธุ์กันเต็มไปหมด ทำให้มีการระดมปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเอามาหนุนการขายอนุพันธุ์กันอุตลุด
ผลคือเกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก
เริ่มเผาหลอกกันปลายปี 2007 ไปเผาจริงเอา 2008-2009 แล้วค่อยสร่างเอากลางปี 2010
นับเนื่องแล้ว 19 เดือน จากธันวาคม 2007 ถึงมิถุนายน 2009
ผลพวงจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปที่เป็นเสมือนคู่ผกผัน
เฟดต้องใช้ QE เข้ามาแก้สถานการณ์อัดเงินเข้าไปในระบบ จนสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
มีเสียงบ่นว่า ไม่เป็นธรรมที่แบงก์พังพาบ ล้มระนาว แล้วรัฐบาลก็เอาเงินภาษีของประชาชนกว่า 200 พันล้านดอลลาร์ไปช่วย จึงมีการออกกฎเหล็กรัฐบัญญัติ 2010 Dodd-Frank Act ให้ทุกธนาคารเพิ่มทุนของตนเองเพื่อเป็นสำรองทุนกันชนพิเศษ ( buffer of extra capital)
แต่ประเทศที่นำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหาใช่สหรัฐไม่ หากแต่เป็น 9 ประเทศยุโรป
ส่วนสหรัฐ ธนาคารใหญ่สุด 6 แห่งกันทุนสำรองพิเศษไว้ต่ำกว่า 7 ดอลลาร์ต่อมูลค่าสินทรัพย์มูลค่าต่อหน่วย 100 ดอลลาร์
เฟดไม่ได้ใส่ใจในประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าเศรษกิจดีขึ้น อัตราเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย 2.8% อัตราขยายตัวของเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ อัตราจ้างงานอยู่ในระดับน่าพอใจ ก็เลยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% รวมเป็น 2.50% และยังจะขึ้นอีก 2 ครั้งในปีนี้
บ้านเรา กนง.ก็ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% ซึ่งไม่น่าจะกระทบตลาดเท่าใดนัก เพราะคงอัตรานี้มา 27 เดือนแล้ว น่าจะขึ้นมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 61 ด้วยซ้ำ
ผลกระทบจึงมาจากภายนอกและสถานการณ์การเมืองมากกว่า ทำให้อึมครึมตั้งแต่ต้นปี ราคาหุ้นส่วนใหญ่มีแต่ลง ตลาดมีความผันผวนมาก แม้ดัชนีจะปรับขึ้นไป peakถึงเกือบ 1800 จุดก็ตาม ทำเอานักลงทุนกำไรกันอู้ฟู่
คงจะไม่หวนกลับไปอีกแล้ว เพราะข่าวร้ายปลายปี ที่มีมาจากต่างประเทศมาจนถึงในประเทศ
โดยเฉพาะด้านการเมือง
ทำให้ดัชนีอยู่ในสภาพยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ค่อยๆปรับลงเป็นขยักๆ ลงแล้วก็ไม่กลับไปที่เดิม จนถึงช่วงนี้ ไปต่ำสุดเกือบตกเส้น 1600
กระนั้นก็ดี P/E ยังอยู่ในระดับที่ไม่เลวร้ายนัก 14/15 ถือว่าพอไปวัดไปวาได้
ผลตอบแทนเฉลี่ย 2-3% ถ้าไม่หวังสูงเกินไปต้องถือว่าดีมากในภาวะปัจจัยเสี่ยงชุกชุมขนาดนี้