top of page
312345.jpg

CEO of the Year 2018: ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้นำเศรษฐกิจ...สุดยอดผู้บริหารแห่งปี


กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ประกาศยกย่อง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ให้ได้รับรางวัล CEO of the Year 2018 หรือ “สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2561”

สนองนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสมบูรณ์แบบ แถมช่วยคิดโครงการหนุน จัดการธุรกิจธนาคารเจริญเติบโตยั่งยืน เพิ่มช่องทางออมเงิน งัดสารพัดโครงการช่วยเหลือกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากสู่ช่องทางการตลาดพื้นฐานยันออนไลน์ ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ พร้อมจัดโครงการเพื่อสังคมส่งเสริมดนตรีและกีฬาต่อเนื่อง

ปี 2561 นับเป็นอีกปีที่ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีงานหนักไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านๆ มา เพราะในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ซึ่งต้องสนองนโยบายที่เป็นหน้าตาของรัฐบาลอย่างนโยบายประชารัฐ งานใหญ่มหึมาที่สำคัญในปี 2561 คือ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยประจำปี 2561 ที่ธนาคารออมสินเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเข้าไปจัดการเกือบทุกกระบวนของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน

การจัดการที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง ชาติชาย คอยสั่งการ ตั้งแต่การรับลงทะเบียน การแจกบัตรการเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับผู้มีบัตรโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม (Basic Account) 6.9 ล้านราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติ 11.4 ล้านราย ทั้งหมดดำเนินการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

นอกจากนี้ จากการลงทะเบียนคนจนของปี 2561 ที่รัฐบาลกำหนดต้องมีการพัฒนาอาชีพให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วย ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว ผู้อำนวยการธนาคารออมสินนำเอาโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ที่ธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 69 แห่ง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของธนาคารอยู่แล้ว มาทำหลักสูตรฝึกและพัฒนาอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ภายใต้แนวคิด “ความรู้สู่อาชีพ พร้อมเงินทุน” เพื่อพัฒนาผู้มีรายได้น้อยให้มีความรู้ความสามารถ นำทักษะไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน เลิกพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ผลักดันการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ยกระดับรายได้ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ซึ่งรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ ตามพื้นที่ของที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 18,000 คน

เมื่อย้อนกลับมาดูที่โครงการบัตรคนจนอีกที ในปีที่ผ่านมา ชาติชาย ยังคิดและได้สนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและยังดำเนินการต่อเนื่องในปี 2561 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยถูกเป็นพิเศษ เพียงแต่ขอรัฐบาลชดเชยบ้างหากหนี้คนจนเหล่านี้กลายเป็นหนี้เสีย ขณะเดียวกันเขายังเติมเต็มให้ครบถ้วน ทำแล้วก็ต้องไปกันให้ “สุดซอย” ด้วยการให้คนจนเปิดบัญชีเงินฝากจากรายได้ที่หามาด้วยการให้ดอกเบี้ยสูงเป็นพิเศษ ที่เริ่มดำเนินการในปี 2561 เพื่อช่วยลดความยากจนในอีกทาง

สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ต้องนับเป็นสุดยอดแนวคิดของ ชาติชาย เพราะสมประโยชน์ด้วยการทุกฝ่าย ไม่ว่ามหาวิทยาลัยได้พัฒนานิสิตนักศึกษา นักศึกษาได้พัฒนาตัวเองสู่การทำงานในสังคม คนจน-ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน-สตาร์ทอัพ ได้พัฒนาอาชีพสู่การมีรายได้เพิ่มและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และธนาคารมีรายได้จากการสนับสนุนแหล่งทุนที่ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันในส่วนของโครงการที่ธนาคารออมสินดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากอย่างเอสเอ็มอีรายย่อย และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่ไม่ใช่เพียงกลุ่มฟินเทค สตาร์ทอัพ ตามพันธกิจของธนาคาร และยังได้รับมอบนโยบายจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เข้าเยี่ยมธนาคารตั้งแต่หัวปี 2561 ให้ช่วยดูแลเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในชื่อโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยออกไปช่วยการพัฒนาชุมชน เป็นการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่กระจายอยู่ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ เห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ของนักศึกษาไปพัฒนายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือบริการในท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ อย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมทำ เพื่อช่วยกันจรรโลงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่คู่สังคมไทย

นอกจากนี้ มีโครงการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืน โดยได้จัดทำโครงการ GSB Startup Academy ซึ่งมีโครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ GSB Innovation Club และ Startup University Model สำหรับกิจกรรมภายใต้โครงการ GSB Innovation Club จะสนับสนุนการสร้าง CO-Working Space และจัดกิจกรรม Smart Start Idea และ Smart Start Company สำหรับเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม

ต้องยอมรับว่าโครงการทั้งหมดอยู่ในแนวทางการบริหารของ ชาติชาย ที่วางแผนระยะยาวสุดเหยียด เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยสามารถยืนหยัดอย่างยั่งยืน และธนาคารออมสินก็จะสามารถสนับสนุนแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน ยังไม่นับโครงการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ที่ธนาคารออมสินร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ที่ทำได้ในปี 2561 กว่า 400 ล้านบาท และเหลืออยู่ในระหว่างรอเคาะครั้งสุดท้ายอีกหลายรายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพก้าวถึงฝั่งฝันกันให้ได้

ทั้งนี้ ชาติชาย คาดว่า ในปี 2561 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 25,000 ล้านบาท จากฐานสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างราว 100,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 100,000-110,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่จำนวน 80,000 ล้านบาท ทำให้จะมีสินเชื่อคงค้างในปีเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 40,000 ล้านบาท ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างสิ้นปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท ถือเป็นการขยายสินเชื่อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากในปี 2561 ธนาคารได้มีการขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs จาก 18 ศูนย์ จนครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ในทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2561 ส่งผลให้สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในแง่การให้คำปรึกษาแนะนำ อำนวยความสะดวก เพิ่มความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการบูรณาการ SMEs อย่างครบวงจร

ขณะที่นอกจากการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว ธนาคารออมสินมีภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมการออมและเป็นแหล่งทุน เน้นเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มเศรษฐกิจขนาดกลางที่มีพัฒนาการจากการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งธนาคารได้ให้การสนับสนุนนโยบายในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs-Startup ผ่านโครงการต่างๆ ตั้งแต่การส่งเสริมให้มีการประกวดแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น โครงการประกวด GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง “ทำได้เลย ทำได้เร็ว ทำได้จริง” และยังมีการจัดงานใหญ่ประจำปีอย่าง “GSB SMART SMEs SMART STARTUP 2018” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ได้ “โชว์ของ” และผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อในงานได้ด้วย

สำหรับในส่วนของผู้ที่อยากทำธุรกิจ แต่มีความรู้และทุนน้อย มีการจัดธุรกิจที่เป็น “ทางลัด” ให้ธุรกิจแฟรนไชส์ 37 แห่ง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาร่วมมือ ให้ผู้สนใจเลือกที่จะลงทุนและขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินได้

เมื่อสนับสนุนให้ทำธุรกิจได้แล้ว ก็ต้องทำให้ครบวงจร ด้วยการสนับสนุนช่องทางการตลาด ซึ่งนอกจากการขายของแบบมีร้านค้าจับต้องได้ หรือการไปตั้งบูธในงาน “ตลาดนัดประชารัฐ” ในจังหวัดต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาล ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จัดให้มีการค้าขายออนไลน์ หรือ E-Commerce โดยร่วมกับพันธมิตรด้านไอทีพัฒนาระบบแบบครบวงจรที่เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้ชื่อว่า “O2O Village Grocery sponsored by GSB” แพลตฟอร์มที่จะช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านค้าชุมชน หรือโชห่วย และผู้ประกอบการสินค้าโอท็อป สามารถรับคำสั่งซื้อขายสินค้าในลักษณ Online to Offline (จากสินค้าออนไลน์ถึงร้านค้าชุมชน) และ Offline to Online (จากร้านค้าชุมชนสู่สินค้าออนไลน์) ซึ่งจะเป็นการซื้อขายทั้งในลักษณะ B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer) ผ่าน O2O E-Commerce Platform ในลักษณะ Application บนสมาร์ทโฟน Tablet และ/หรือ POS ให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวก

สำหรับระบบดังกล่าวจะรวมถึงระบบการบริหารจัดการสินค้าภายในร้าน ระบบบริหารจัดการสินค้ารอการขาย ระบบการจัดส่งและรับสินค้า หรือบริการ โดยธนาคารออมสิน จะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงิน เพื่อรองรับการจ่ายชำระค่าสินค้า หรือบริการต่างๆ ผ่านบัตรเดบิต หรือเครดิต QR Code Mobile Banking และ E-Wallet เป็นต้น ผ่านระบบบริหาร ณ จุดขาย (POS : Point of Sales) รวมถึงการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการร้านค้าชุมชนผ่านบัตรโชห่วย และสินเชื่อผู้ประกอบการจากธนาคารออมสิน วงเงินไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในการซื้อสินค้า ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประชาชนที่ไม่มีหลักประกัน

ชาติชาย ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีแรกจะเข้าติดตั้ง O2O Village Grocery sponsored by GSB ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารดูแลกว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ และติดตั้งเครื่อง POS จำนวน 20,000 เครื่อง พร้อมทั้งจะขยายการติดตั้งไปยังร้านค้ากลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าของกรมการค้าภายในกว่า 60,000 แห่ง ร้านค้าธงฟ้า และร้านโอท็อป ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ร้านค้าชุมชน สามารถขยายโอกาสทางการตลาด และลดต้นทุน ทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับร้านค้าสะดวกซื้อสมัยใหม่ คาดว่าภายใน 2-3 ปี จะทำให้ร้านค้ากลุ่มเป้าหมาย มียอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท จากที่ร้านค้าชุมชนเป้าหมายจะมียอดขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อเดือน และมีกำไร 20% โดยการผลักดันให้ร้านค้ารายย่อยเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้ จะช่วยให้ร้านค้าชุมชนสามารถอยู่รอดในยุค 4.0 ได้

ขณะที่ในระหว่างงานช่วยรัฐบาลดูแลคนจน และงานพันธกิจดูแลผู้ประกอบการรายย่อย และรายที่อยากจะเกิดขึ้นใหม่อย่างกลุ่มสตาร์ทอัพ การบริหารจัดการภายในของธนาคารก็ยังต้องทำ และที่ทำได้สุดยอดอีกเรื่องของ ชาติชาย ในปี 2561 คือ การเลือกจังหวะสุดที่จะเหมาะสมในการขายหุ้น บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือถือหุ้นในช่วง 10 ปีก่อน คืนให้กับกลุ่ม ปตท. ในราคาหุ้นละ 7.10 บาท คิดเป็นมูลค่า 13,845 ล้านบาท ทำให้มีธนาคารมีกำไรประมาณ 7,000 ล้านบาท เพราะหลังจากขายออกไปแล้ว ราคาหุ้น IRPC ดันเข้าสู่ขาลง เรียกได้ว่าถ้าบริหารจัดการไม่ดี เลือกจังหวะไม่ถูก คงไม่มีทางขายทำกำไรสร้างประโยชน์ให้กับธนาคารได้มากมายเท่านี้

ส่วนทางด้าน “หนี้ครู” ที่โยกจากครูไปกู้หนี้นอกระบบให้มาอยู่ในการดูแลของธนาคารออมสิน และปี 2561 เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง ถึงขนาดคุณครูในจังหวัดหนึ่งรวมหัวกันเป็นร้อยคนเตรียมตัวชักดาบหรือเบี้ยวหนี้ ซึ่งในปีนี้ธนาคารออมสินได้จัดโครงการลดหนี้ให้คุณครู ขณะเดียวกันทางภาคส่วนที่มีปัญหา ชาติชาย ออกแถลงข่าวชี้แจงและจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่เกิดการเสียภาพลักษณ์ของธนาคารที่ถูกทางฝั่งคุณครูป้ายสีว่าเอาเปรียบ และกลับเป็นทางฝั่งคุณครูที่จ้องเบี้ยวหนี้เสียเองถูกสังคมประณามยับเยิน

นอกจากการบริหารจัดการที่ซับซ้อนยุ่งยากอย่างหนี้ครูแล้ว กับแนวโน้ม ดิจิทัล แพลตฟอร์ม หรือ โมบาย แบงกิ้ง ที่รุดหน้าในโลกสังคมการเงิน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดปิดสาขาธนาคารเป็นจำนวนมาก และธนาคารต่างๆ จะหันไปเปิด แบงกิ้ง เอเย่นต์ แทน ซึ่งในส่วนของ ชาติชาย เห็นต่างและระบุว่า ธนาคารออมสินจะไม่มีการลดสาขาและพนักงาน เพราะสาขายังมีความจำเป็นในการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนฐานรากที่ยังตามไม่ทันเทคโนโลยี

หากนอกจากไม่ปิดสาขา ผู้อำนวยการธนาคารออมสินยังเพิ่มศักยภาพการเป็นสถาบันเพื่อการออม มีการเปิดช่องทางบริการเพิ่ม ด้วยการร่วมมือกับ บมจ.ซีพี ออลล์ และ บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด หรือรวมเรียกง่ายๆ ว่า ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-11) ทำโครงการ “เด็กดี ออมฟรี 24 ชั่วโมง” เปิดให้เยาวชนอายุ 7-20 ปี ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารออมสินที่ภายในร้าน 7-11 ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และจะขยายเป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์ ของธนาคารออมสินที่ให้บริการได้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มบริการฝาก-ถอนเงินสดลูกค้าธนาคารออมสินต่อไป ก็ลองคิดดูเองว่า 7-11 ทั่วประเทศกว่า 13,000 สาขา กับธนาคารออมสินราว 1,000 สาขา แผนนี้ของ ชาติชาย จะทำให้ประชาชนจะเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้นหรือไม่

ขณะที่ นอกเหนือจากเพิ่มช่องทางการออม ในปี 2561 เขายังส่งผลิตภัณฑ์เพื่อการออมที่หายหน้าหายตาไป 7 ปี อย่าง สลากออมสินพิเศษ อายุ 5 ปี ออกมาอีกครั้ง โดยจัดรายการส่งเสริมการออมด้วยการแจกรถเบนซ์และรางวัลอื่นๆ ที่ไม่รวมรางวัลการออกเลขสลาก ซึ่งมีคนแห่ซื้อสลากจนเต็มวงเงินในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ความต้องการสลากที่มีอยู่มากทำให้ในช่วงปลายปี ชาติชาย มีการออกสลากออมสินพิเศษ อายุ 5 ปีอีกล็อต และแจกรถเพิ่มอีกเท่าตัว ด้วยวงเงินที่ต้องการรวม 60,000 ล้านบาท

ที่จริงการออกสลากออมสินพิเศษ อายุ 5 ปีของ ชาติชาย นอกจากสนองความต้องการออมของประชาชนรายย่อย ยังถือเป็นการบริหารจัดการต้นทุนระยะยาวของธนาคารให้สอดรับกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2560 ธนาคารได้มีการออกหุ้นกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาทขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน หรือรายใหญ่ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนการเงินของธนาคารไปแล้ว

ขณะที่นอกจากงานสนองนโยบายรัฐ และงานธุรกิจของธนาคารแล้ว ในส่วนของการตอบแทนสังคม ชาติชาย พยุหนาวีชัย ดำเนินการถี่ยิบตลอดปี 2561 ในการเข้าไปช่วยเหลือสังคมในทุกภาคส่วน หากแต่ที่เด่นๆ คือ การจัดการแข่งขันด้านดนตรีของเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ และผลักดันให้เกิดทีมฟุตบอลออมสินช้างชมพู ที่เดินทางไปแข่งขันถึงต่างประเทศ ตลอดจนการเข้าไปสนับสนุน “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลชาติไทย

ต้องยอมรับว่า ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ทำงานอย่างหลากหลายหากครบถ้วนในทุกมิติในสิ่งที่เขาอยากให้ออมสินเป็น 3 ธนาคารใน 1 เดียว คือ 1. การเป็นธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ที่อำนวยความสะดวกการรับฝาก ถอนเงิน และปล่อยสินเชื่อ 2. การพัฒนาสู่ธนาคารดิจิทัล ซึ่งเน้นบริการ และรูปแบบธุรกิจแนวใหม่เพื่อหารายได้เข้าธนาคาร เช่น การทำ E-Marketplace เพื่อมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนธนาคารออมสินเป็น GSB New Century : Digi -Thai Banking Digital for All Thais และ 3 .การเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยเน้นการช่วยเหลือสังคม กลุ่มเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส ซึ่งทั้งหมดสรุปสู่การที่ธนาคารออมสินจะเป็น “มากกว่าการธนาคาร ธนาคารเพื่อสังคม” ดังที่ ชาติชาย ตั้งนิยามให้กับธนาคารอายุ 105 ปีแห่งนี้ และคงไม่มีใครแปลกใจกับฝีมือในการบริหารจัดการที่โดดเด่น จนคณะกรรมการธนาคารต้องรีบจับเซ็นสัญญาต่อวาระล่วงหน้าอีก 1 ปีครึ่ง ก่อนที่จะครบวาระในวันที่ 4 มกราคม 2562 จ้างให้ทำงานต่อไปตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 ถึง 14 มิถุนายน 2563 ที่ชาติชายจะอายุครบ 60 ปี เกษียณออกไปตามกฎรัฐวิสาหกิจ

ด้วยผลงานที่มากมายและหลากหลายมิติภายใต้การบริหารจัดการของผู้นำองค์กร ซึ่งดำเนินการได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในรอบปี 2561 และหาคนอื่นเทียบยาก กอง บก.ดอกเบี้ย ธุรกิจ จึงตัดสิน ยกย่องให้ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจ CEO of the Year 2018 หรือ สุดยอดผู้บริหารแห่งปี 2561

356 views
bottom of page