ชาวสวนมะพร้าวเป็นงง...กลไกตลาดบิดเบี้ยว ราคาตกต่ำเกินจริง รูดมหาราชจากลูกละ 25 บาท เหลือลูกละ 6 บาท ส่วนความต้องการของตลาดโลกมีมาก แต่มะพร้าวไทยขายไม่ออก มะพร้าวเกรด A ค้างสต็อกบานเบอะ ความหวังสุดท้ายอยู่ที่ 8 มาตรการภาครัฐ ระงับการนำเข้ามะพร้าว-ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ออกระเบียบใบกำกับการเคลื่อนย้ายข้ามเขต ป้องกันและแก้ปัญหามะพร้าวเถื่อน ฯลฯ พร้อมย้ำ...โครงการรับซื้อมะพร้าวแห้งของรัฐ ให้จ่ายเงินแก่เกษตรกรผ่าน ธ.ก.ส.โดยตรง
นายอำนาจ มณีแดง คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเกษตรกรผู้ปลูกและขายมะพร้าวหลังราคาตกต่ำว่า ในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการและเกษตรมีข้อมูลแลกเปลี่ยนเกษตรกรและภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหา มีการตกลง และประชุมร่วมกัน เพราะปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำที่เกิดขึ้นนั้น ทางภาครัฐต้องเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน ด้วยการออกกฎกระทรวง ระเบียบ มาตรการเพื่อชะลอการนำเข้ามะพร้าวเป็นเวลา 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมปี 2561 ไปจนถึงมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2562
“ในช่วงที่มีมติครม.ครั้งแรกวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เป็นมติให้ยุติการนำเข้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งก็ครบ 3 เดือนที่มีการชะลอการนำเข้า แต่ราคามะพร้าวก็ยังไม่ขึ้น ขณะที่เราเองเกรงว่าจะมีมะพร้าวที่ลักลอบเข้ามาอีก ก็เป็นที่มาของการขอขยายเวลายุตินำเข้าออกไปอีก 7 เดือน แล้วก็ขอให้ออกมาตรการการเคลื่อนย้ายมะพร้าวข้ามจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหามะพร้าวเถื่อนซึ่งอาจจะสอดแทรกเข้ามาจากต่างประเทศ มะพร้าวเขาเยอะมาก เขากินไม่หมด ก็จะนำออกมาขายในราคาที่ขายได้ขายไปก่อน แต่มันเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องมีข้อที่สองคือออกกฎระเบียบ แต่พอมาข้อนี้มันจะเป็นการที่ว่ามะพร้าวจะต้องมีใบขนย้ายในกรณีขนย้ายข้ามจังหวัด คือเราต้องการควบคุมมะพร้าวเถื่อนให้ได้ เพราะมีข้อมูลจากเกษตรกรว่ามีการนำมาเร่ขาย มีการลักลอบทำมาหลายปีแล้ว เราจึงอยากให้รัฐช่วยแก้ไข”
นายอำนาจกล่าวด้วยว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการเจรจาระหว่างเกษตรกรและภาครัฐที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการปรึกษาหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเป็นบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังโดยกรมศุลกากร เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“ก็มาอยู่ในข้อที่สาม ให้ปรับกฎหมายในส่วนผู้นำเข้าแปรสภาพมะพร้าว ห้ามนำมาจำหน่ายภายในประเทศ ตรงนี้บทลงโทษจะต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาต จะมีการเพิ่มจาก 2 ปีเป็น 5 ปี ซึ่งมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชก็เห็นชอบข้อที่หนึ่งไปแล้วคือชะลอการนำเข้า ส่วนข้อที่เหลือคือข้อที่ 2-8 เป็นเรื่องของการออกกฎระเบียบ เรื่องการเพิ่มบทลงโทษ ซึ่งเมื่อแนวทางที่เหลือทั้งหมดเสร็จ ก็จะใช้กับโครงการรับซื้อมะพร้าวแห้งจากเกษตรกร มติของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชก็เห็นชอบด้วย ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน…
“ส่วนในการช่วยเหลือควรให้ผ่านทางธ.ก.ส. ควรให้สิทธิ์เกษตรกรโดยตรง และเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ให้ไปขึ้นทะเบียน เพราะจะได้รับสิทธิ์นั้น ซึ่งคงจะมีเอกสารให้ในช่วงจากนี้ จากที่มีความชัดเจนว่าจะต้องซื้อมะพร้าวแห้งกิโลกรัมละเท่าไหร่ ซื้ออย่างไร โดยส่วนตัวจะมาประชุมนอกรอบกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแนะแนวให้เห็นโครงสร้างว่าเวลาจ่ายเงินก็อยากให้จ่ายผ่านธ.ก.ส.แล้วถึงมือเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรที่มีสิทธิ์ก็คือเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว คนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ให้มาขึ้นเลย โดยที่เราจะมีการเสนอแนวทาง ซึ่งได้ถือธงไว้ในใจแล้ว ทุกคนจะได้สิทธิ์นั้นหมด คือต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันทาง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้นโยบายกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ต้องลิ้งก์ข้อมูลเหมือนกันหมด เพื่อจะได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องของโครงการเยียวยา”
นอกจากนี้นายอำนาจยังกล่าวถึงมาตรการข้อที่ 6 คือข้อมูลคาดการณ์ปริมาณผลิตในปีปัจจุบันและปีต่อไปจะต้องถูกต้องตรงกันในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ส่วนมาตรการข้อที่ 7 คือการขอให้รัฐบาลหามาตรการควบคุมสินค้าที่มีผลกระทบต่อราคามะพร้าวในประเทศ เช่น การนำเข้าเนื้อมะพร้าวและน้ำกะทิมาบรรจุในไทยนั้น ขณะนี้ได้เริ่มควบคุมแล้ว ขณะที่มาตรการที่ 8 คือเรื่องกำหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวเป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ. ที่จะต้องควบคุมทั้งการส่งออกหรือนำเข้า ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน เพราะมีผลกระทบอย่างมากต่อราคามะพร้าว
“ทั้ง 8 ข้อนี้ ทางรัฐบาลได้รับเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แล้วในข้อที่หนึ่งของ WTO คือเรื่องการชะลอการนำเข้า ก็จะตั้งเป็นรูปแบบของอนุกรรมการ ส่วนตัวอาจจะเข้าไปดูในส่วนนี้ด้วย เนื่องจากส่วนกลางได้เชิญเป็นการภายในแล้ว คือไปร่วมกันแล้วไปดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดูข้อมูลทั้งหมด แล้วมาช่วยกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในประเทศไทยให้ได้ ในส่วน WTO เราคงต้องศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ นานาประเทศเขามีข้อตกลง แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยเราได้ประโยชน์ หากมีผลกระทบเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง เช่นคนที่จะนำเข้าควรที่จะซื้อมะพร้าวที่ไทยก่อนให้เพียงพอ แล้วค่อยว่ากันว่าจะนำเข้ากันอย่างไร”
ทั้งนี้ นายอำนาจได้อธิบายถึงประเภทของมะพร้าวในไทยว่า ประเภทแรกคือมะพร้าวเพื่อใช้กะทิและน้ำมันมะพร้าว ซึ่งอยู่ในกลุ่มของมะพร้าวแกงเป็นกลุ่มมะพร้าวพันธุ์ไทย มีการปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย ประเภทที่สองคือมะพร้าวที่กินน้ำ อยู่ในพันธุ์น้ำหอม น้ำหวาน จะปลูกมากที่บ้านแพ้ว ราชบุรี และโซนใกล้เคียง
“มะพร้าวที่ใช้ทำกะทิเพื่อทำขนมหวาน จะอยู่ในโซนหลายๆ จังหวัด ซึ่งลูกจะใหญ่ ขณะที่กลุ่มที่เกิดปัญหาคือกลุ่มมะพร้าวที่ใช้ทำกะทิ และทำขนม กลุ่มนี้ที่เกิดปัญหาจะมีการปลูกมะพร้าวประมาณ 1.1 ล้านไร่ โดยปลูกมากที่สุดคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4.5 แสนไร่ ที่เหลือคือชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และมีอีกหลายจังหวัดรวม 50 จังหวัดประปราย แต่หลักๆ จะเป็นพืชประจำถิ่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์...
แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับการบริโภคก็จะเกี่ยวกับคนทั้งประเทศ ซึ่งราคาขายที่อยู่ได้ก็จะต้องดูสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน คือพืชการเกษตรทุกตัวก็จะเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ว่าตรงนี้มันผิดกลไกตลาด ความต้องการของต่างประเทศยังมีผลผลิตมะพร้าวในประเทศไทยก็มี แต่ทำไมมะพร้าวไทยมันขายไม่ได้ คือเราขอให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้มันบิดเบือนและราคาต่ำมาก ไม่คุ้มค่ากับการปลูกขาย ผลที่ตามมาคือปัญหาชุมชนและครอบครัว ว่าเขาจะเอาอะไรไปใช้จ่ายกัน ถ้าจะอยู่ได้ต้องไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อผล เพราะต้นทุนเราถ้าดูแลดี ปลูกแบบธรรมชาติต้นทุนจะอยู่ที่ 7-8 บาทต่อผล การที่ต้องขายต่อผลที่ 15 บาท เนื่องจากเราจะมีค่าใช้จ่ายที่มาจากครัวเรือนอะไรต่อมิอะไรอีก...
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีก็เชียร์ให้ไปปลูกมะพร้าวกัน ซึ่งขณะนั้นมะพร้าวราคาเฉลี่ยลูกละ 25 บาท แต่ตอนหลังมีปัญหาการลักลอบเข้ามา และมีการนำเข้ามาเยอะ ซึ่งทุกอย่างถือว่าเป็นบทเรียน เป็นการรับรู้ร่วมกัน เราก็มาเริ่มแก้ไขปัญหากันใหม่ และพอมีมติให้ชะลอการนำเข้า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้ามา ก็เลยเป็นที่มาของการนำเสนอว่า ให้มีด่านนำเข้า 2 ด่านเท่านั้นในไทย คือท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ มติตรงนี้ทุกคนเห็นชอบ เพราะเราต้องการจะปิดด่านที่ก่อนหน้ามีการนำเข้า...
ส่วนที่ว่ามะพร้าวถูก แต่เรายังทานอาหารหรือขนมที่ทำมาจากกะทิในราคาที่สูงอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องปลายทาง ต้องให้กรมการค้าภายในไปดูแล ส่วนหนึ่งเราเข้าใจทุกภาคส่วน แต่ปัญหาหลักของเราก็คือมะพร้าวเราขายไม่ได้ ที่แปลกมากคือมะพร้าวเกรดเอขายไม่ได้เลย สต็อกเต็มไปหมดเลย ซึ่งทางภาครัฐก็มีความจริงใจอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลมาพูดคุยกับทางเกษตรกร และให้ทางเกษตรกรเสนอข้อมูลเข้ามา และดูว่าข้อไหนเร่งด่วน ก็จะรีบทำให้ ก็เลยผ่านคณะกรรมการขึ้นมา 8 ข้อ โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และสั่งเป็นนโยบายเร่งด่วน ขณะนี้ต้องรู้ว่าจะช่วยเกษตรกรแบบไหน หากเงินไม่พอ ก็ให้ของบกลาง ก็ต้องให้มา แล้ววางนโยบายให้ยั่งยืน ระเบียบ กฎต่างๆ ต้องชัดเจน โดยที่เกษตรกรมีความคาดหวังมาก อยากให้ภาครัฐออกกฎต่างๆ เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือเกษตรกร ขณะเดียวกัน ก็อยากจะให้เกษตรกรให้ข้อมูลในการปลูกว่าต้นหนึ่งมีกี่ผล ต่อเดือน ต่อไร่ ต่อปี ช่วยกันคิดเพื่อให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน และดูภาคการผลิตกันไปด้วย อาจต้องรอผลสักระยะ เพราะกำลังดำเนินการในการแก้ไขกันอยู่”