top of page
327304.jpg

กอช.ปลุกแรงงานนอกระบบ ออมเงินเพื่อบั้นปลายชีวิต


3 ปี กอช. เดินหน้าเต็มที่ ร่วมผลักดันแรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน ให้มีการออมเพื่อมีเงินก้อนดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต ล่าสุดจับมือ ตลท. สร้างตัวแทนชุมชนให้ความรู้หลักการการออมเงินในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งแนะให้เก็บออมด้วยตัวเอง และใช้สิทธิ์ออมกับกอช. ที่รัฐร่วมออมสมทบให้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี

นางจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ข้อมูลสถิติแรงงานไทยที่อยู่นอกระบบมีมากถึง 21 ล้านคนว่า รัฐบาลเข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้ โดยมี 2 กระทรวงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ คือกระทรวงแรงงานและกระทรวงการคลัง โดยในส่วนของกระทรวงการคลังเป็นหน้าที่ของ กอช.ในการรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบมีเงินออมหลังเกษียณ

“อย่างนักเรียนหรือนักศึกษาก็ส่งเสริมให้เริ่มมีการออมตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นโครงการที่กอช.ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯในการทำ MOU ออกมา เพื่อจะแนะแนวทางการวางแผนทางการเงินเพื่อคนกลุ่มนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การแบ่งเงินใช้อย่างไร การเก็บออมเงินอย่างไร สุดท้ายตอนอายุ 60 ปีทุกคนต้องมีเงินก้อนหนึ่งเพื่อดูแลตัวเองโดยใช้กอช.เป็นเครื่องมือหนึ่ง”

สำหรับ กอช.นั้น นางจารุลักษณ์กล่าวว่าเป็นกองทุนฯที่ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี มีลักษณะการทำงานคล้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคเอกชน มีความใกล้เคียงกันกับกบข.ของภาคราชการ แต่เป็นการออมของประชาชนที่ไม่มีประกันสังคม ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ปัจจุบันกอช.มีแอปพลิเคชันที่ประชาชนสามารถดาวน์โหลดเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์ของตัวเองโดยใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลัก ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ออมเงินสามารถสมัครได้ เมื่อฝากเงินแล้วรัฐบาลจะเติมเงินให้ตามช่วงอายุ สูงสุดปีละ 1,200 บาท โดยต้องมีการออมเงินตั้งแต่ 50-1,100 บาทต่อเดือน

“ประชาชนสามารถโหลดแอปพลิเคชันกอช. แล้วเข้าไปตรวจสอบได้ทุกอย่าง ในแอปพลิเคชันมีข้อมูลบอกไว้หมดแล้ว ประชาชนสามารถตรวจสอบว่ามีสิทธิ์หรือไม่ ถ้ามีสิทธิ์ก็สมัครได้เลยถือเป็นโอกาสโดยกองทุนฯนี้ไม่ได้ดูที่ฐานะ เพราะรัฐบาลจะดูแลสวัสดิการหลังเกษียณ ทุกคนสามารถใช้กอช.ได้หมดทุกคน โดยมีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี”

ส่วนการทำ MOU ร่วมกันระหว่าง กอช.กับตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น นางจารุลักษณ์กล่าวว่า เป็นแนวทางในการสร้างหัวหน้าทีมหรือผู้แทนชุมชนชาวบ้านเพื่อถ่ายทอดและสอนวิธีการใช้เงิน วิธีการแก้หนี้ การเลือกซื้อประกันชีวิตหรือออมเงินผ่าน กอช.แก่ประชาชนทั่วไปในชุมชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่ามีหลักการการออมอย่างไรบ้าง

“บางคนเมื่อมีเงินก็จะใช้ไปแต่ละวัน แต่ที่จริงสามารถบริหารเงินที่ได้มา สามารถจัดการได้ ซึ่งกอช.พยายามที่จะสร้างหลักสูตรแบบสร้างตัวแทน ตอนนี้ทำมาแล้ว 2-3 รุ่น และกำลังขยายผลสู่ชาวบ้านต่อเพื่อที่จะขยายผลต่อไปได้ ขณะที่เดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาแห่งการออม ทางกอช.ก็มีการแจกกระปุกน้อยให้หยอดเงิน โดยทางกอช.ทดลองกับกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ในการออมเงิน อย่างเด็กให้ออมเงินวันละ 3 บาท ส่วนผู้ใหญ่ให้ออมเงินเดือนละ 1,100 บาท เพียงเท่านี้ก็จะได้เงินออมแล้วต่อเดือน อีกทั้งเงินออมของกอช.สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย...

คนที่จะออมเงินกับกอช.สามารถไปติดต่อได้ที่ธนาคารตัวแทนอย่างธนาคารออมสิน กรุงไทย ธ.ก.ส. ธ.อ.ส. เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือแอปพลิเคชันของกอช. โปรโมชั่นนี้ทำได้ทุกช่องทาง สมัครตอนนี้ได้กระปุกออมสินไปส่งถึงที่บ้าน และในช่วง 2 เดือนที่เหลือนี้จะมีโปรโมชั่นใหม่ออกมา ซึ่งการออมเงินถ้าเริ่มมีความคิดว่าหากหยอดวันละ 30 บาท ภายใน 15 ปีมีเงินล้านใช้หลังอายุ 60 ปี ส่วนเงินกองทุนในกอช.นี้ทางกอช.จะนำไปลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก หุ้นไทยบางส่วน”

สำหรับผู้ที่จะมาสมัครเป็นสมาชิกกอช.นั้น นางจารุลักษณ์กล่าวว่าต้องมีสัญชาติไทย มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก อายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปี โดยจะต้องไม่อยู่ในกองทุนอื่นเช่น กบข. ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“คนที่รับบัตรสวัสดิการคนจนสามารถรับสิทธิ์นี้ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิ์ของตัวเองก่อนได้ แต่ต้องไม่อยู่ในบำเหน็จบำนาญทั้งภาครัฐหรือเอกชน นอกจากนี้คนที่ทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกกอช.ได้เช่นกัน เพราะกอช.ดูแค่เพียงใครมีสวัสดิการของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น…

“สถานะของกอช.ในตอนนี้ดีขึ้นเรื่อยๆแต่ยังไม่ถึงเป้าเพราะต้องใช้เวลา อย่างชาวบ้านมองว่าจะเก็บเงินอย่างไร จะเก็บเงินได้จริงหรือไม่ บางคนยังไม่เข้าใจว่ากองทุนจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร ถ้ารู้จักกอช.จะติดใจว่ามีกลไกในการทำงานของเงิน ให้เงินทำงานผ่านกอช. และยังเป็นการออมที่มีคนมาเติมเงินให้ สะสมเงินไปตลอดเดือนละ 100-200 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกในกอช.เกือบ 600,000 ราย โดยปีนี้ตั้งเป้า 700,000 คน จากกลุ่ม 21 ล้านคน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขคนในระบบ...

ตอนนี้กอช.กำลังพิจารณาเรื่องการแก้ไขเรื่องอายุของการออมเงิน ซึ่งต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะกองทุนฯเพิ่งได้ก่อตั้งได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ต้องดูว่าประสิทธิภาพของกองทุนฯเป็นอย่างไรหรือเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากกอช.คล้ายนักสังคมสงเคราะห์และยังเป็นการดูแลประชาชนคนไทยซึ่งเป็นสวัสดิการของรัฐหลังเกษียณ”

17 views
bottom of page