top of page
312345.jpg

คาดกินเจปี '61 เม็ดเงินสะพัดทั่วกรุงฯ 4,650 ล้านบาท


ในแต่ละปี เทศกาลกินเจถูกจัดเป็นฤดูกาลทำตลาดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มร้านอาหารทั่วไป ร้านอาหารข้างทาง/แผงลอย/ ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มผู้ประกอบการ Food Online/Delivery เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มฐานลูกค้า ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้บริโภคอาหารและเครืองดื่มเจในไทย จะพบว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว สะท้อนจากพฤติกรรมคนไทยที่หันมารับประทานอาหารเจมากขึ้น ตามโอกาสที่สะดวกและไม่จำกัดอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเริ่มลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง จากเทรนด์รักษาสุขภาพ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสิถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2552 มีจำนวนคนไทย 1.1 ล้านคน จัดอยู่ในกลุ่มผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และขยับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 ล้านคน ในปี 2560 โดยจำนวนนั้นเป็นคนกรุงเทพฯ กว่า 1.2 ล้านคน ดังนั้น ทำให้คาดว่าในระยะต่อไป แนวโน้มของจำนวนผู้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มเจน่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น และส่งผลเชิงบวกต่อผู้ประกอบการธุรกิจในแง่ของยอดขายและจำนวนฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้น

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ (9-17 ตุลาคม 2561) คนกรุงเทพฯ1 ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจ คือ กลุ่มวัยทำงาน (ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/ งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ในขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ กินเจเพื่อสุขภาพ/อิงกระแสอาหารออร์แกนิค ในขณะที่บางกลุ่มก็เป็นผู้รับประทานอาหารเจ/มังสวิรัติเป็นประจำอยู่แล้ว

โดยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เทศกาลกินเจปี 2561 ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจสะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเจที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น รวมถึงจำนวนคนที่สนใจกินเจขยับเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 51 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 ในปีนี้ โดยจำนวนคนที่กินเจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเลือกกินเจเป็นบางวัน2 เฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการกินเจปีนี้ประมาณ 315 บาท/คน/วัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน)

พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจของคนกรุงฯ ปี 2561 ที่น่าสนใจ มีดังนี้

รสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่มเจ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคค่อนข้างสูง สะท้อนจากกลุ่มตัวอย่างที่เลือกกินเจในปีนี้ กว่าร้อยละ 66 ตัดสินใจเลือกซื้อจากรสชาติมากที่สุด รองลงมาคือ การมองถึงคุณค่าทางโภชนาการ (ร้อยละ 63) และราคาที่สมเหตุสมผล (ร้อยละ 60) ตามลำดับ ในขณะที่คนไม่เลือกกินเจ เหตุผลหลักก็ยังมาจากเรื่องของรสชาติเช่นกัน โดยกว่าร้อยละ 64 ของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กินเจ มองว่า รสชาติของอาหารเจดูไม่อร่อย มัน เลี่ยน รองลงมาคือ หลายๆ เมนูเจที่วางขายทั่วไปมีแคลอรี่สูง/ทำให้อ้วน (ร้อยละ 46) และไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลกินเจ (ร้อยละ 44) ปัจจัยเหล่านี้บ่งชี้ให้ภาพลักษณ์ของอาหารเจถูกมองเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพและส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลที่จะเลือกกินเจ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับภาพลักษณ์อาหารเจให้ดูไม่จำเจ น่ารับประทานและมองเป็นอาหารเชิงสุขภาพ รวมถึงมีกรรมวิธีในการปรุงที่คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก โดยเฉพาะคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อสุขภาพ ก็น่าจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติและมุมมองต่ออาหารเจในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเจในปีนี้และปีต่อๆ ไป

ช่องทางการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเจของกลุ่มตัวอย่างไม่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา คือ ส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อจากร้านอาหารมารับประทาน (ร้อยละ 70) รองลงมาคือ กินเจที่ร้านอาหาร (ร้อยละ 50) และซื้อจากร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 43) เป็นหลัก ในขณะที่ช่องทาง Food Online/Delivery แม้จะมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับช่องทางหลัก แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมายที่มีลักษณะการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ ชอบทานอะไรง่ายๆ ที่สะดวกรวดเร็ว แต่ต้องมีความอร่อยภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล สอดรับกับงบประมาณที่วางไว้

การชูจุดขายในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน ... โอกาสในการกระตุ้นยอดขายที่เพิ่มขึ้น

จากกระแสการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ในเนื้อสัตว์ รวมถึงโอกาสในการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคที่ง่ายขึ้น เปิดกว้างให้กับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเจยังมีโอกาสทำตลาดเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจกว่าร้อยละ 59 ของกลุ่มตัวอย่าง ที่ระบุว่าสนใจจะหันมารับประทานอาหารเจบ่อยขึ้นในระยะต่อไป จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกระแสดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค

หากวิเคราะห์ไปที่กลุ่มตัวอย่างซึ่งมีการรับประทานอาหารเจ/มังสวิรัติในช่วงเวลาอื่นๆ นอกเหนือจากช่วงเทศกาลกินเจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่รับประทานอาหารเจ มังสวิรัติ วีแกน (ทานแต่พืชเท่านั้น) และทานเจเป็นครั้งคราวหรือตามความสะดวก ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความเห็นว่า หากผู้ประกอบการพัฒนาเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผลิตจากโปรตีนจากพืช หรือการใช้วัตถุดิบอื่นๆ ทดแทนเนื้อสัตว์ ที่มีเนื้อสัมผัส มีคุณค่าทางอาหารที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง1 จะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 86 จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในระยะหลังจะเห็นภาพของผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มทั้งรายใหญ่และรายย่อย หันมาทำตลาดสินค้าอาหารในกลุ่มเจหรือมังสวิรัติมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มของคนที่กินเจจะยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น แต่ระยะหลังมานี้ ผู้บริโภคหลายคนที่ทานเจ รวมถึงที่ไม่สนใจทานเจ ต่างก็เริ่มมีความกังวลในเรื่องของการบริโภคอาหารเจว่า อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่อาจได้รับไม่เพียงพอ อาหารเจมีความมัน/ เลี่ยน ซึ่งเกรงว่าจะไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะการชูจุดขายในเรื่องของคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วนและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการใส่ใจในเรื่องของรสชาติและการสร้างความแปลกใหม่ให้กับเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ ก็น่าจะช่วยคลายกังวลในเรื่องของการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ และจูงใจให้ผู้บริโภคสนใจที่จะรับประทานอาหารเจเพิ่มขึ้น

โดยกลุ่มเป้าหมายที่น่าจะเข้าไปทำตลาดมากที่สุด คือ กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 35-55 ปี) และกลุ่มวัยเกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) เพราะมีกำลังซื้อสูง ยอมจ่ายให้กับกลุ่มสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการรับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการบอกกล่าวจากคนใกล้ตัวและการเข้าไปหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะใช้ช่องทางนี้เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการได้

1 view
bottom of page