top of page
379208.jpg

อยู่นิ่งๆ เดี๋ยวดีเอง...กัดฟันทน "พิษทรัมป์" 3 เดือน


Interview: คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ แห่งฟิโนมีน่า

 

“สิ่งที่ยากที่สุดแต่จำเป็นต้องทำที่สุด คือ การอยู่เฉยๆ ...คือ ถ้ามันลงมาแล้วเลยจุดปรับพอร์ตไประยะหนึ่ง วิธีที่เราควรทำ คือ อยู่นิ่งๆ และพยายามเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

ก่อนหน้านี้ที่เคยคุยกับคุณชยนนท์ ปรากฏว่า สงครามการค้ายังไม่คลี่คลาย แถมมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามา คือการบอยคอตอิหร่าน การกดดันตุรกี กลายเป็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตุรกี ...บรรยากาศแบบนี้ นักลงทุนควรทำตัวอย่างไร

ภาพรวมเมื่อสถานการณ์ผันผวน หรือตลาดมีความผันผวนสูงขึ้น สิ่งที่ยากที่สุดแต่จำเป็นต้องทำที่สุด คือ การอยู่เฉยๆ

ผมเห็นนักลงทุนใน ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่นักลงทุนที่เป็นลูกค้าที่บริษัทของผมดูแลอยู่ ทุกคนก็ถามว่าทำอย่างไรดี พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะปรับพอร์ตอย่างไรดี

...คือ ถ้ามันลงมาแล้วเลยจุดปรับพอร์ตไประยะหนึ่งแล้ว วิธีที่เราควรทำ คือ อยู่นิ่งๆ และพยายามเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

คำว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ สหรัฐจะมีการเลือกตั้งมิดเทอมในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจากโพลหลายสำนักปรากฏว่าฐานเสียงของรีพับลิกัน หรือ คะแนนนิยมในตัว โดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะลดลง

ถ้าลดลงจริง แปลว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ถ้าไม่พยายามดึงฐานเสียงขึ้นมาจะเป็นไปได้ว่ารีพับลิกันจะเสียฐานเสียงให้กับเดโมแครต ซึ่งจะทำให้ศักยภาพหรือการผลักดันกฎหมายใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นจากรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีความยุ่งยากและมีความลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้นนักวิเคราะห์สายข่าวของเศรษฐกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่วิเคราะห์กันในทางเดียวกันว่า ทุกๆ การเคลื่อนไหวของ โดนัลด์ ทรัมป์ การขยับทางด้านนโยบายด้านการต่างประเทศเป็นไปเพื่อรักษาฐานเสียงและดุลอำนาจของตัวเอง ซึ่งหลังจากเดือนพฤศจิกายนไปเมื่อทราบผลเลือกตั้งแล้ว เราจึงจะเห็นกันอีกทีว่าข่าวเหล่านี้ หรือการเคลื่อนไหวเหล่านี้จะลดลงหรือไม่

ถ้าเป็นในมุมนี้ ยังไม่ต้องตามเนื้อข่าว แปลว่าเราจะได้เห็นความผันผวนแบบนี้ไปถึงเดือนพฤศจิกายน....อันนี้ต้องเตรียมใจรับ

จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มากระทบ จนทำเศรษฐกิจมีปัญหา ... บังเอิญครบรอบ 10 ปีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือซับไพรม์ จะเข้าตำรา 10 ปีมีวิกฤตหนหนึ่ง คุณชยนนท์มองบรรยากาศแวดล้อมตอนนี้กับเมื่อ 10 ปีก่อนคล้ายๆ กันหรือไม่อย่างไร

ผมมองว่าตลาดสหรัฐก่อตั้งขึ้นมาประมาณ 230 ปี ตลาดหุ้นอื่นๆ ในโลกเฉลี่ย 100 ปี มีตลาดหุ้นไทยที่ตั้งขึ้นมา 40 ปีเศษ การจะมานับทุกๆ 10 ปีเกิดวิกฤต ในช่วงเวลาที่ตลาดสหรัฐ 200 ปีที่ผ่านมาไม่ได้...จังหวะทุกๆ 10 ปีไม่ได้เกิดวิกฤตทุกครั้ง เพียงแต่ 2 ครั้งหลังบวกกัน 10 ปีพอดี เพราะฉะนั้นเป็นความบังเอิญด้านตัวเลขมากกว่า เราต้องคิดเรื่องนี้ก่อน แต่ถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงพูดกันเยอะ คือ มีความเป็นไปได้ตรงที่หลังจากปี 2551 เป็นต้นมาวิกฤตซับไพรม์ ตลาดหุ้นถูกดันขึ้นมาโดยที่ GDP Growth หรือ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยเติบโตในระดับกระท่อนกระแท่น คือว่าช้าลงเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตซับไพรม์ สาเหตุเพราะเราเจอเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ

1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 2. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 3. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้า

ถ้ามาไล่ดูทีละตัว... ตัวแรก คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเกิดขึ้นมาของ Internet of thing คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงมือถือ ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน สิ่งใดที่สามารถไปบริโภคหรือหาข่าวสารออนไลน์ได้มากขึ้น มันดึง Market Share หรือดึงฐานในระบบไปใช้พฤติกรรมออนไลน์มากขึ้น มันแย่งเงินในกระเป๋าของประชาชนที่มีอยู่เดิม จากการซื้อของทางช่องทางจัดจำหน่ายเดิมมาซื้อขายทางออนไลน์มากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปรับตัวก็จะมีล้มหายตายจากเป็นเรื่องปกติ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คือ อย่างเช่น ไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นก็ไม่ถึงหลักล้านคน อยู่ที่ 64 ล้านคน แต่ถ้าไปดูประชากรแรงงานตั้งแต่ 18-60 ปี ปรากฎว่าจำนวนลดลงมาในช่วงปี 2555 ถ้าจำไม่ผิดจำนวนอยู่ที่ประมาณ 34 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 32-33 ล้านคน ประชากรวัยแรงงานซึ่งเสียภาษีและเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนลดลง สิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศใหญ่ๆ ทั้งหมด

20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ ก็เพราะคนไปทำงาน พอคนไปทำงานมีรายได้เยอะขึ้นก็เอามาจับจ่ายใช้สอย แต่ปรากฏว่าต่อมาคนไม่ได้เยอะขึ้นแปลว่าถ้าอยากให้ตัวเลขบริษัทมีกำไรมากขึ้น คือ คนกลุ่มเดิมต้องใช้จ่ายมากขึ้น แต่จะใช้จ่ายเยอะขึ้นได้อย่างไรในเมื่อจำนวนคนไม่ได้เยอะ รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ประชากร

อย่างสุดท้าย เรื่องการค้าที่โครงสร้างเปลี่ยนไป ที่จริงก็ไปกระทบกับเทคโนโลยีกับโครงสร้างประชากร ทำให้นโยบายของประเทศใดที่มีนโยบายให้น้ำหนักกับการค้าต่างประเทศมาก หรือ Global Trade มีสัดส่วนของเศรษฐกิจตัวเองไปอยู่ที่สัดส่วนการส่งออกเยอะ พอประชากรลดเทคโนโลยีเพิ่มและการเปิดโลกาภิวัตน์ คือ การเปิดให้มีการค้าเสรีก็แย่งงานกัน ข้อดีคือตกอยู่กับผู้บริโภค แต่คนที่ไม่ปรับตัวก็แย่

เมื่อ 3 อย่างนี้รวมกันทำให้เราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเจ็บตัว...ซึ่งได้เห็นบ้างแล้ว ในภาคธุรกิจได้เห็นแล้ว เช่น ธุรกิจเพลงจากที่เป็น CD หรือ MP3 ตอนนี้มันจบไปแล้ว คือ ในภาคธุรกิจเริ่มส่งผลแล้ว แม้แต่ในบริษัทเทคโนโลยี เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมีฐานผู้ใช้ทั่วโลก ปรากฏว่าประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ออกมายังดีอยู่ แต่ว่ายอดผู้ใช้งานลดลง ตลาดไม่พอใจเทขายหุ้นเฟซบุ๊กวันเดียว 20% แสดงให้เห็นว่ามีการอิ่มตัวในหลายๆ เซ็กเตอร์ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า บรรยากาศจะยังชะลออยู่ในไตรมาส 3-4 นี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

กลายเป็นว่าทฤษฎี 10 ปี เมื่อเทียบกับ Major Change ที่เรากำลังเจออยู่ขณะนี้ผมว่ามันเลยมีเค้า

แต่ในมุมมองผม คือ ถ้าเป็นเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจถดถอย วันนี้ในหลายๆ ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่ว่ามีวิวัฒนาการในเชิงลบในบางช่วงให้เห็นแล้ว

เพราะฉะนั้นปีนี้อาจเป็นปีที่เรายังพอประคับประคองพอร์ตการลงทุนได้ เรายังพอมองเห็นเศรษฐกิจและการลงทุนว่ายังมีโอกาส ...แต่ปีหน้า 2562 จะเริ่มเห็นผลกระทบเยอะขึ้น

ไทยเราบอกว่าเศรษฐกิจดี ส่งออกโต จีดีพีโต ขณะที่นักลงทุนต่างชาติไปก่อน อย่างในตลาดหุ้นก็ขายมาครึ่งปีเกือบ 2 แสนล้าน เข้าเดือนสิงหาคมเริ่มเห็นกลับมาซื้อคืนหุ้นเป็นสีเขียวแล้ว แต่กลับมามีสถานการณ์เกิดขึ้น ทั้งตุรกี อิหร่าน ...สมมุติว่าคุณชยนนท์สวมหัวใจฝรั่งต่างชาติ คิดว่าจะเอาเงินมาลงทุนในไทยต่อไปไหม

คิดว่าไทยในตอนนี้มีความเสี่ยง คือ ตัวนโยบายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเราต่ำกว่าของสหรัฐตอนนี้ของสหรัฐอยู่ที่ 1.75-2% ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม-กันยายนที่จะมีการประชุมอีกครั้ง คาดว่าจะขึ้นอีก 1 ครั้งขึ้นเป็น 2% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทย 1.5% ...แบบนี้ถามจริงๆ ว่า ถ้าเป็นนักลงทุนต่างชาติระหว่างถือพันธบัตรสหรัฐ ได้ดอกเบี้ย 2% กับถือพันธบัตรไทยได้ 1.5% เราจะเลือกอะไร.... มันเป็นจุดที่ทำให้เงินไหลออก แล้วค่าเงินบาทอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี และการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นความผิดแปลกจากเดิมแล้วว่า ประชุม 7 ท่าน มี 1 ท่านออกความเห็นว่าอยากขึ้นดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ว่าครึ่งปีหลังเราอาจจะเห็นแบงก์ชาติยอมขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้ง ...แต่การขึ้นดอกเบี้ยที่ว่าไม่ใช่มาจากเหตุผลว่าเศรษฐกิจดีจนสามารถทำให้ขึ้นดอกเบี้ยได้บ้าง แต่เป็นสาเหตุว่าต้องการให้เงินลงทุนไม่ไหลออกแรงเกินไป จนกระทบค่าเงินมากขึ้น

ตรงนี้ถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ย พวกตราสารหนี้ หรือ Money Market Fund จะได้ผลตอบแทนดีขึ้น แต่ตราสารหนี้ระยะยาวต้องระวัง และถ้ามีการขึ้นดอกเบี้ย...สิ่งที่ผมเห็นมาตลอด คือเมื่อเวลาดอกเบี้ยลงดอกเบี้ยเงินฝากรีบลงแต่ดอกเบี้ยเงินกู้จะคงที่ และครั้งนี้ถ้าดอกเบี้ยขึ้นจริงแปลว่าดอกเบี้ยเงินกู้จะรีบขึ้นทันทีแต่ดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่นิ่ง แปลว่ากลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์ ยังเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะมีแรงหนุนจาก Policy หรือนโยบายจากแบงก์ชาติซัพพอร์ต ทำให้หุ้นไทยอาจจะไม่ได้ลงแรง คิดว่าดัชนี SET Index ประมาณ 1,800 จุดที่เราเคยเห็นตรงนั้น คิดว่ามีโอกาสอีกครั้ง....อย่างไรก็ลองพิจารณาดู

33 views
bottom of page