top of page
358556.jpg

วิกฤตค่าเงินตุรกี...ผลโดยตรงต่อภาคการเงินไทยยังอยู่ในกรอบจำกัด


Credit: Kasikorn Research Center

  • แม้ค่าเงิน Lira จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้บ้างบางส่วน แต่คงต้องยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงที่เงิน Lira จะเผชิญแรงเทขายอีกเป็นระยะ ท่ามกลางข้อจำกัดของเครื่องมือ/ทรัพยากรทางการเงินของทางการตุรกีที่จะใช้ดูแลความผันผวน และความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อาจไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของไทยจากความเสี่ยงในตุรกีขณะนี้ ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่จะยังคงติดตามพัฒนาการของวิกฤตในตุรกี เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและความเป็นไปได้ของผลกระทบทางอ้อมระลอกต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาคธนาคารในยุโรปที่มีความเชื่อมโยงสูงกับตุรกี

  • สำหรับผลต่อภาคธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัดเช่นกัน เนื่องจากไทยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับภาคธนาคารในตุรกีค่อนข้างน้อย และสถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปัจจุบันนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าสภาวะวิกฤตในรอบก่อนๆ โดยเปรียบเทียบ

ตลาดการเงินทั่วโลก ยังคงเฝ้าจับตาความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตของค่าเงิน Lira ตุรกีอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ในขณะนี้ค่าเงิน Lira จะฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วน (หลังร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 7.2362 ต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา) แต่คงต้องยอมรับว่า ยังมีความเสี่ยงที่เงิน Lira จะเผชิญแรงเทขายอีกหลายระลอก ท่ามกลางข้อจำกัดของเครื่องมือ/ทรัพยากรที่จะใช้ดูแลความผันผวน ขณะที่ ความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีเอง ก็อาจไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินของไทยจากความเสี่ยงในตุรกีขณะนี้ ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด แต่จะติดตามพัฒนาการของวิกฤตในตุรกี เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและความเป็นไปได้ของผลกระทบทางอ้อมระลอกต่อๆ ไปที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของภาคธนาคารในยุโรปกับตุรกี

  • ผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน แม้สถานการณ์ที่ผันผวนของสกุลเงิน Lira ของตุรกี จะมีผลกระทบต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของสกุลเงินในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยในระยะนี้ แต่อาจกล่าวได้ว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพและมีผันผวนน้อยกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่า แรงกดดันต่อค่าเงิน Lira โดยหลักๆ แล้ว จะมาจากปัจจัยของตุรกีเป็นสำคัญ (โดยเฉพาะความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และประเด็นทางการเมืองภายใน) เนื่องจากในขณะที่ค่าเงิน Lira อ่อนค่าลงแล้ว 36.8% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ส.ค. 2561) แต่ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียกลับเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าน้อยกว่า โดยอ่อนค่าแล้วประมาณ 5.0% โดยเฉลี่ยจากต้นปี และมีเงินบางสกุล เช่น รูปีอินเดีย รูเปียห์อินโดนีเซีย และเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าค่อนข้างมาก จนทำให้ทางการของประเทศเหล่านั้นต้องเข้าดูแลเสถียรภาพของตลาดในระยะนี้ ขณะที่ ในส่วนของเงินบาทนั้น ขยับอ่อนค่าในกรอบที่จำกัด และอ่อนค่าลงเพียง 2.0% นับจากต้นปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ความเคลื่อนไหวระหว่างสกุลเงิน Lira และค่าเงินบาท จะค่อนข้างไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน (มีความสัมพันธ์ประมาณ 79%) แต่ทิศทางดังกล่าวก็น่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ เป็นหลัก

109 views
bottom of page