เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผอ.สำนักงบประมาณ แจงร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2562 หลังได้รับความเห็นชอบจาก ครม.อนุมัติงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 3 ล้านล้านบาท เผยกระทรวงที่ได้รับงบฯ สูงสุดคือกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่หน่วยงานที่ได้รับเงินงบฯปี 2562 มากที่สุด คือ กกต. ที่ต้องเตรียมการเลือกตั้งปี 2562 เงินสร้างอาคารรัฐสภาก็ได้เพิ่มด้วย
งบประมาณรายจ่าย 2562
สูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำงบฯ
งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ในงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท จะมาจากรายได้รัฐบาล 2.5 ล้านล้านบาท อีกส่วนก็จะมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลประมาณ 450,000 ล้านบาท
แนวทางการจัดทำงบประมาณทางรัฐบาลให้กรอบมาตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 10 ปี ซึ่งเป็นแผนใหญ่แยกเป็นยุทธศาสตร์ 6 ด้าน และมีเรื่องแผนแม่บทภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ และยังนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ฉบับที่ 2 มาประกอบ มีการนำนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการจัดทำงบประมาณปี 2562
ตัวเลขที่ได้ มาจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวและกำลังจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2562 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.9-4.9 ... หนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีอยู่ประมาณ 6.48 ล้านล้านบาท ประมาณร้อยละ 41.04 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่ากรอบที่มาตรฐานสากลร้อยละ 60
แจกแจงงบ 3 ล้านล้าน
ใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์
จากงบฯ 3 ล้านล้านบาท ก็จะแยกเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 2.26 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 75.4 โดยรายจ่ายประจำก็จะเป็นเรื่องเงินเดือน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าตอบแทนใช้สอย ค่าสาธารณูปโภค และยังมีค่าใช้จ่ายทางด้านลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1 ปีหรือผูกพันมาจากอดีตและใหม่ประมาณ 660,000 ล้านบาท และการชำระคืนต้นเงินกู้อีกประมาณ 78,000 ล้านบาท ลงทุนประมาณร้อยละ 22 ซึ่งสูงขึ้นมาโดยตลอดตามกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่ระบุไว้ว่าควรจะสูงกว่าร้อยละ 20
ยุทธศาสตร์จัดสรรที่สูงสุด จะเป็นเรื่องการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีถึงกว่า 838,000 ล้านบาท แต่ที่สูงสุดเป็นงบที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น อบจ. อบต. ถึง 276,000 ล้านบาท และยังมีงบที่ไปพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอีก 28,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการปราบปรามทุจริตที่ให้มา 46,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่ให้เงินมาก คือ ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของคน เช่น ด้านการศึกษา ประมาณ 181,000 ล้านบาท ดูตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุอีกประมาณ 20,000 ล้าน และยังมีเรื่องการพัฒนาด้านสุขภาพอีกประมาณเกือบ 50,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นเรื่องการแข่งขันที่มีประมาณ 400,000 ล้านบาท ก็จะแบ่งเป็น EEC ประมาณ 14,000 ล้านบาท โลจิสติกส์ประมาณ 191,000 ล้านบาท มีเรื่องเกษตรกรและแรงงานเพิ่มศักยภาพอาชีพประมาณ 40,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ที่ได้รับงบฯ เยอะ คือ ด้านปัญหาการลดความยากจนหรือการเหลื่อมล้ำ จะเป็นเรื่องการประกันสุขภาพ 223,000 ล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต สตรี คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ประมาณ 76,000 ล้านบาท ด้านการเกษตร หรือ Smart Farmer ที่ใช้นวัตกรรมใหม่จากเดิมที่รัฐบาลจัดสรรในปี 2558 จำนวนกว่า 100,000 ราย และในปี 2562 มีเกือบ 1 ล้านราย จะพยายามเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจากกว่า 40,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปีมาเป็น 58,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ...คงจะได้ยินเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมอีกกว่า 200,000 ไร่ ส่งเสริมเกษตรกรรมอีกกว่า 700,000 ไร่ ด้านอุตสาหกรรมที่มีเรื่องของ EEC และแศรษฐกิจพิเศษ 10 เขต โดยจะส่งเสริมและสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจ SME จากเดิมตอนที่รัฐบาลเข้ามาใหม่มีเพียงร้อยละ 39 ของมวลรวมของประเทศ แต่ตอนนี้เป็นร้อยละ 45 ของมวลรวมของประเทศ เรื่องการท่องเที่ยวตั้งเป้าว่าจะได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท มีกีฬาระดับโลกอย่าง MotoGP และยังมีการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งตอนที่รัฐบาลเข้ามาใหม่มีต้นทุนสูงถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาท แต่จะพยายามลดให้เหลือที่ 1.64 ล้านล้านบาท
ส่วนด้านการศึกษามีการเตรียมความพร้อมของเด็กประถมวัยประมาณ 980,000 ราย เด็กเล็กอีกประมาณ 800,000 คน และเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาประมาณ 12 ล้านคน เช่น รัฐบาลส่งเสริมอาชีวะนักศึกษาตอนปลายประมาณ 60,000 คน ด้านสาธารณสุขอีก 66 ล้านคนที่จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นบัตร สปสช. ประกันสังคม หรือของราชการ โดยมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวเป็น 3,400 บาทต่อผู้มีสิทธิ์ อีกเรื่องที่รัฐบาลริเริ่ม คือ บัตรส่วนกลางแห่งรัฐ ถ้าจำกันได้ที่มีการทำงบกลางปี 2561 จำนวน 11 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท และยังมีการส่งเสริมอาชีพประมาณ 28,000 คน โดยให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นแบบ One Stop Service โดยประชาชนที่มีเรื่องต่างๆที่ อยากจะเสนอหรืออยากจะขอให้รัฐช่วยก็จะดำเนินการตามรูปแบบให้ครบถ้วน
ก.ศึกษาฯได้งบฯ สูงสุด
“กกต.” หน่วยงานได้งบเยอะสุด
สำหรับในระดับกระทรวง กระทรวงที่ได้งบฯ สูงที่สุดเป็นกระทรวงศึกษาธิการ คือในงบฯปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้งบฯ ไปประมาณ 489,000 ล้านบาท ส่วนที่รองลงมาได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ประมาณ 373,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบให้ท้องถิ่น กระทรวงการคลัง ประมาณ 240,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังยังมีหนี้อยู่
ถ้าดูในระดับหน่วยงานที่ได้รับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 และมีสำนักงานเลขาสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นงบลงทุนอาคารรัฐสภาที่จะแล้วเสร็จและยังเป็นงบฯที่จะเปลี่ยนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะได้รับการเลือกตั้ง
ชี้จัดสรรเป็นธรรม
เสมอภาคให้กับทุกๆภาค
ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาเป็นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาระดับภูมิภาค ในตอนปี 2548 งบการลงทุนที่สู่ภาคต่างๆ มีประมาณ 230,000 ล้านบาท ในปี 2562 จะเพิ่มเป็น 410,000 ล้านบาท
ถ้าแบ่งแยกเป็นภาคอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 64,000 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 1113,000 ล้านบาท ภาคเหนือจาก 58,000 ล้านบาทเพิ่มมาเป็น 78,000 ล้านบาท ภาคกลาง 43,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 94,000 ล้านบาท ภาคตะวันออกจาก 26,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 54,000 ล้านบาท และภาคใต้จาก 39,000 ล้านบาทเพิ่มเป็น 70,000 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารัฐบาล พยายามจัดสรรให้เกิดความเสมอภาคความเป็นธรรมให้กับทุกๆภาคในการจัดสรรงบประมาณในปี 2562
ภาระผูกพัน
รายการใหม่ๆ
สำหรับภาระผูกพันรายการใหม่ๆ ต้องทำความเข้าใจ 2 ส่วน
ส่วนหนึ่งเป็นโครงการที่เริ่มใหม่ในแต่ละปีก็จะมีภาระผูกพันต่อๆไป ยกตัวอย่าง ในปี 2561 มีโครงการใหม่ประมาณ 41,000 ล้านบาท มีผูกพันมาในปี 2562 กว่า 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาระผูกพันใหม่ในปี 2562 เนื่องจากมีหลายโครงการด้วยงบลงทุนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถนนหนทางต่างๆ ทางอากาศ ทางน้ำ จะเพิ่มรายการใหม่อีกประมาณ 52,000 ล้านบาท ก็จะมีการผูกพันใหม่ในปีต่อไปอีกประมาณ 116,000 ล้านบาท
ต้องบอกว่าเราสามารถบริหารจัดการรายการที่จะเป็นภาระในอนาคตได้โดยใช้กลไกลการงบประมาณนี้
แจงประสิทธิภาพ
ไม่มีปัญหาในการเบิกจ่าย
สำนักงบประมาณ มีสิทธิ์ตามอยู่ในทุกระดับ ที่ผ่านมา 7 เดือนเป็นไปตามสัดส่วนของภาพรวมที่งบประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเงินเดือน ซ่อมแซมวัสดุสาธารณูปโภคต่างๆ ก็เป็นไปตามเป้าหรือสูงกว่าเป้าเล็กน้อย ร้อยละ 60
ที่เหลือที่เราตั้งเป้าถ้าเป็นรายเดือนจะง่ายเพราะเป็นรายจ่ายประจำ คือหาร 12 เดือน ก็จะกำกับให้เป็นไปตามเป้า
สำหรับงบรายจ่ายลงทุน เรายังเป็นห่วงอยู่นิดหน่อย เพราะ เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าประมาณร้อยละ 4 แต่มีการก่อหนี้สูงกว่าเป้ามาก ต้องเข้าใจถ้าเป็นร้อยละจะเป็นการเทียบกับในปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2561 งบลงทุนสูงกว่าปี 2560 เกือบ 100,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นเวลาที่เทียบร้อยละจะไม่เห็นเม็ดเงิน แต่ถ้าดูในเม็ดเงินก็จะเห็นว่าเข้าสู่ระบบเยอะมาก
เราทำงานเต็มที่ ให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติและ คาดหวังว่าเราทำให้ GDP ขยายตัวถึง 3.9-4.9% ..โดยเป็นการกระตุ้นภายใน คาดหวังจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนระดับล่างสู่บน