กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.85-32.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.00 ต่อดอลลาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเดือนพฤษภาคม เงินบาทอ่อนค่าลงราว 1.4% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.29 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเยน หลังพรรคร่วมรัฐบาลอิตาลีบรรลุข้อตกลงที่สามารถยุติทางตันทางการเมือง ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรและต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลอิตาลีมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนเงินยูโรฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน และนักลงทุนขายทำกำไรในเงินดอลลาร์ ส่วนการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นไปอย่างจำกัดท่ามกลางความวิตกรอบใหม่เกี่ยวกับสงครามการค้าโลก กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่านักลงทุนจะให้ความสนใจการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้าหลัก หลังสหรัฐฯ สั่งเก็บภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมและเหล็กกล้าจากแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป ขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อ นอกจากนี้ ข้อมูลการจ้างงานเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยอัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี ที่ 3.8% รวมถึงค่าจ้างซึ่งเติบโตได้ดี บ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 มิถุนายนและมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ขยับสูงขึ้น ในภาวะดังกล่าว กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไม่กลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยอย่างมีนัยสำคัญในระยะนี้ สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.80% เราคาดว่าทิศทางขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะดำเนินต่อไป ท่ามกลางการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในที่ฟื้นตัว รวมถึงฐานปี 2560 ที่ใช้เปรียบเทียบค่อนข้างต่ำ ในระยะข้างหน้า เราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% ก่อนสิ้นปีนี้ หากเศรษฐกิจไทยสามารถรักษาแรงส่งเชิงบวกของการเติบโตและมีสัญญาณกระจายตัวมากขึ้น