แม้ว่า พ.ร.ก.ควบคุมเงินดิจิทัลจะดูคล้ายมุ่งเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในคอยน์ แต่อีกด้านเป็นการดึงกิจกรรมการเงินดิจิทัลทั้งหมดเข้าอยู่ในกรอบของกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน บรรดาคอยน์ที่รอคอยเข้าทำ ICO ไม่ต้องไปทำในตลาดเพื่อนบ้านอีกต่อไป
พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2561 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค.2561 สร้างความเชื่อมั่นและความอุ่นใจ ให้แก่บรรดาแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟกันมาเป็นปีๆ ว่า จะมีโอกาสตีคืนได้ในไม่ช้าเมื่อทุกอย่างอยู่ในกรอบกฎหมาย
ไม่ถูกพวกสแกมหรือพวกพอนซี่หลอกลวงกันอีกต่อไป
ในช่วงที่ผ่านมา จากการสุ่มสำรวจการลงทุนในบิทคอยน์และคอยน์อื่นๆ ของคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่ยังขาดทุนกันอยู่
ทั้งนี้เนื่องจากคนไทยตื่นบิทคอยน์ในช่วงขาขึ้น ซื้อเก็งกำไรหลังบิทคอยน์ราคาพุ่งขึ้นไปผ่านเส้น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทหน่วยละประมาณ 370,000 บาท (ราคาซื้อบิทคอยน์ในไทยผ่านตัวแทนลงทุนคิดเป็นดอลลาร์ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ต่อ 37 บาท)
บางรายซื้อที่ราคา 18,000-19,000 ดอลลาร์ อันเป็นราคาที่บิทคอยน์เคยขึ้นไปสูงสุด คิดเป็นบาทที่ 666,000-703,000 บาท
โดยเชื่อตามการวิเคราะห์ของบรรดากูรูพหูสูตระดับโลกที่ว่า บิทคอยน์จะขึ้นไปถึงบิทละ 300,000 ดอลลาร์
ยิ่งนายจอห์น แมคคาฟี เจ้าของซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส ที่ขณะนี้ถือบิทคอยน์มากเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโลกออกมาปลุกเร้าให้ถือและลงทุนกันต่อด้วยเป้าหมายราคา 800,000 ดอลลาร์ต่อบิท
บรรดาแมลงเม่าไทยที่ถือกันไว้ที่ราคาหลัง 10,000 ดอลลาร์ (330,000-660,000 บาท) ก็เลยแข็งใจถือกันต่อ
ล่าสุดบิทคอยน์กระเตื้องขึ้นมาหลังจากหล่นลงไปแตะระดับ 7,000-8,000 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ริมๆ 10,000 ดอลลาร์ เม่าทั้งหลายก็ยังใจแข็งไม่ยอมขาย ด้วยหวังว่าจะรีบาวด์แรงๆ ในช่วงหลังกลางปี
แต่ก็ยังเป็นราคา “ลุ้นคอย” กันอยู่ สัปดาห์กลางเดือน พ.ค.เคลื่อนไหวที่ 7,920-8,226 ดอลลาร์ ในไทยระดับราคาบิทคอยน์เป็นบาทอยู่ที่ 235,000-250,500 บาท
จึงต้องหาตัวเลือก ตัวลดขาดทุนกันในคอยน์ระดับรองๆ
Ripple ยังเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะราคาต่ำระดับ 0.632-0.668 ดอลลาร์ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะไม่หวือหวา
ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้รูปแบบ blockchain ของริปเปิ้ลสำหรับการสร้าง bahtcoin
ล่าสุด Western Union อันเป็นผู้ให้บริการโอนเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังทดลองใช้การชำระเงินแบบ blockchain กับ Ripple เช่นกัน
ส่วนอันดับที่ 2 Etherium ราคาค่อนข้างสูง 638-682 ดอลลาร์ แต่ก็เป็นตัวเลือก ตัวแลกกับ Bitcoin Cash ซึ่งเคลื่อนไหวระดับ 1,000 -1,100 ดอลลาร์
ทั้งหมดนั้น สัปดาห์กลางเดือน พ.ค.พากันเป็นขาลง
แม้ว่า พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2561 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา จะมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อคุ้มครองประชาชนมิให้ตกเป็นเหยื่อหรือเป็นแหล่งฟอกเงินของเหล่าอาชญากร
แต่ก็มีผลต่อการลงทุนในบิทคอยน์และคอยน์อื่นๆ ที่มิใช่บริษัทจดทะเบียนพาณิชย์ในไทย เพราะนักลงทุนไทยพากันถอนทุนหรือปิดพอร์ตกันไปเป็นแถว
เพราะเมื่อได้กำไรจากการเทรด นักลงทุนจะต้องถูกหักเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ถึง 15 % ทั้งนี้เพื่อไปคำนวณภาษีเงินได้เมื่อสิ้นสุดปีภาษี
ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าภาษีเงินได้จะเป็นอัตราเท่าใด เพราะยังมีส่วนหักลดต่างๆ ไม่ต่างไปจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ยิ่งกว่านั้น ยังต้องหักกลบส่วนที่นักลงทุนขาดทุนอีก ว่าขาดทุนไปเท่าใด ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ตัวเลขด้านกำไรอย่างเดียว
หากเป็นไปตามผลการสำรวจสถานภาพการลงทุนจากนักลงทุนไทยในเงินคริปโตกว่า 2,000 คนแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ขาดทุน ก็คงจะมีคนเสียภาษีให้สรรพากรกันไม่มากนัก
ภาษีที่จะได้เป็นกอบเป็นกำจากการเทรดคริปโตเคอเรนซี่น่าจะมาจากบริษัทตัวแทนหรือบริษัทให้บริการซื้อขายเงินคริปโตมากกว่า
เพราะไม่ว่านักลงทุนจะกำไรหรือขาดทุน ค่าธรรมเนียม ซื้อ-ขาย-จ่าย-โอน เป็นไปตามอัตราที่กำหนด ไม่มีการลดหย่อนให้ในกรณีขาดทุน หรือบวกเป็นค่าต๋งในกรณีกำไร
ภาษีส่วนนี้ในระยะยาว หากการซื้อ-ขาย มีปริมาณเพิ่มขึ้น จำนวนเงินภาษีที่เก็บได้ ก็ย่อมจะมากขึ้นเป็นอัตโนมัติ
ขณะเดียวกัน เมื่อความเชื่อมั่นของคนไทยต่อการลงทุนในเงินคริปโตมีมากขึ้น จากการที่ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมดูแล
ความกังวลที่จะถูกหลอกลวงจากบรรดาสะแกมเมอร์ทั้งหลายก็จะหมดไป
บรรดาคอยน์เชื้อชาติไทย สัญชาติไทยที่ไปสตาร์ทอัพหรือออก ICO ในตลาดต่างแดน เพราะเห็นความล้มเหลวของสตาร์ทอัพในเมืองไทย เท่าที่มีตัวอย่างชัดๆ คือ JFinCoin
ก็จะหันกลับมาออก ICO ในประเทศแทน
บรรดาคอยน์อื่นๆ ที่พากัน คอยๆๆๆ กัน มา 2-3 ปีก็จะมีโอกาสได้ทำ ICO กันเสียที