top of page
369286.jpg

สมาคมไทยรับสร้างบ้านหวั่น แรงงานกัมพูชาเผ่นกลับบ้าน


THBA หวั่นแรงงานกระเพื่อมหลัง “สมเด็จฮุนเซน” ปลุกเร้าแรงงานกัมพูชากลับบ้าน นายกส.ไทยรับสร้างบ้าน ชี้คนไทยปฎิเสธทำงานก่อสร้างเพราะงานหนัก เผยรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ไม่พร้อมปรับตัว ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์และรับสร้างบ้านชั้นนำ อาทิ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พฤกษา พีดีเฮ้าส์ ทิ้งห่างไปไกล เชื่อตลาดรับสร้างบ้าน 6 เดือนแรกขยายตัวตามคาด 8 พันล้านบาท

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้เดินทางกลับไปทำงานในบ้านเกิด โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมีโครงการลงทุนต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยการออกมาประกาศของสมเด็จฮุนเซนในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับชาวกัมพูชา ที่เข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือเลือกจะทำงานก่อสร้างกันแล้ว แม้ว่าจะได้ค่าแรงแพง นั่นก็เพราะเป็นงานที่หนักเหนื่อยและสกปรก ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทที่ต้องใช้ทักษะหรือกรรมกรก่อสร้างก็ตาม ฉะนั้นหากแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามคำเรียกร้อง ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงแรงงานก็จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก

“สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินว่า นับวันปัญหาแรงงานขาดแคลนและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หากผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใด ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจหรือผลประกอบการก็จะค่อย ๆ ถดถอยลงหรือรับงานได้น้อยลง และอาจถึงขั้นจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะการดำเนินธุรกิจและแข่งขันจะยากลำบากมากขึ้น เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะว่าในปัจจุบันและในอนาคตพฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การตอบสนองจากสินค้าและบริการคือ “คุณภาพ สะดวก รวดเร็ว” ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ ไม่ตอบโจทย์และควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ดีเวลลอปเปอร์และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ เช่น กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แสนสิริ พฤกษา แลนดี้โฮม และ พีดีเฮ้าส์ ฯลฯ ที่ใช้ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูป ต่างมีมูลค่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและขยายตลาดได้ทั่วประเทศ”

สถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างรูปแบบเดิม ๆ คือหล่อคอนกรีตในที่ หรือการผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ และเทคอนกรีตโครงสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างนั้น โดยยังคงต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก สวนทางกับดีเวลลอปเปอร์ที่ต่างเปลี่ยนมาใช้ระบบพรีแฟบกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อย่างไรก็ดี ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมากนัก สาเหตุเพราะว่าไม่คุ้นเคยและที่สำคัญคือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งการออกแบบด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การคำนวณต้นทุน การผลิต การขนส่งจากโรงงานไปยังสถานที่ก่อสร้าง และการติดตั้งที่ต้องอาศัยทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ฯลฯ เป็นต้น

นายสิทธิพร นายกสมาคมฯ แนะว่าปัจจุบันมีโรงงานรับจ้างผลิตที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถผลิตตามออเดอร์หรือความต้องการของลูกค้าได้ ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ต้องการหันมาใช้ระบบพรีแฟบ จึงไม่จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะอาศัยความเชี่ยวชาญของกันและกันในการสร้างบ้านทุกหลัง เหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการกำหนดวิสัยทัศน์และเร่งปรับตัวเอง เพื่อให้พร้อมจะดำเนินธุรกิจต่อไปในระยะยาว เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบพรีแฟบทั้งแบบโครงสร้างคอนกรีตและโครงสร้างเหล็ก จะเข้ามาแทนที่ระบบก่อสร้างแบบเดิม ๆ มากขึ้น และช่วยให้การส่งมอบคุณภาพงานสร้างบ้านทุกหลังเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคมากขึ้น ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านก็จะมีความเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นตามกัน

ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 4 เดือนเศษที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค. 2561) ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หรือคิดเป็นมูลค่า 6 เดือนแรก 7.5-8 พันล้านบาท สำหรับความต้องการสร้างบ้านในต่างจังหวัด พบว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้หลาย ๆ จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางเริ่มมีความต้องการและกำลังซื้อดีขึ้นมาก เช่น เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา และสระบุรี ฯลฯ เป็นต้น

21 views
bottom of page