top of page
327304.jpg

ฟันธง! เงินบาทอ่อน...ถือเงินสด-หนี้สั้น


ดร.เชาว์ เก่งชน ชี้...สองเกาหลีดีกัน ส่งผลบวกต่อโลก ลดความตึงเครียดจากภาวะสงคราม กระตุ้นเศรษฐกิจโสมแดง เงินเยนจะลดความสำคัญลง ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรเป็นขาขึ้น แต่เงินบาทจะอ่อนค่าลง แนะนำ...นักลงทุนควรถือตราสารหนี้ระยะสั้นและเงินสด ลดการถือครองตราสารหนี้ระยะยาว

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการประชุมกันระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ว่า ถือเป็นนาทีประวัติศาสตร์ ทำให้อย่างน้อยในช่วงระยะสั้นนี้มีมุมมองที่บวกขึ้น รวมถึงความกังวลต่างๆในคาบสมุทรเกาหลีมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งในช่วงที่ความขัดแย้งของคาบสมุทรเกาหลีคุกรุ่นนั้นค่าเงินเยนจะแข็งค่าเพราะเป็นเงินสกุลที่ปลอดภัย แต่เมื่อความขัดแย้งจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า Yield หรือผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีปรับขึ้นไปประมาณ 3% ส่วนเงินบาทจะอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า การประชุมระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือดีขึ้น ถ้อยคำแถลงของผู้นำเกาหลีเหนือค่อนข้างชัดเจนว่า หลังจากพัฒนาระเบิดอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว จะหันมาดูแลเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น การพัฒนาการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศเกาหลีเหนือน่าจะมีขึ้นหลังการเจรจาของทั้งสองเกาหลี

“ส่วนการดีลเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับโลกตะวันตกน่าจะเป็นตามที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสกล่าวตอนที่ไปเยือนวอชิงตัน คือ เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะไม่ยอมรับสนธิสัญญานี้ถ้าฝั่งยุโรปยังมีท่าทียังยืนอยู่กับอิหร่าน ต้องรอดูว่าถ้าสหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญานั้นไป ทุกอย่างจะล้มลงหรือไม่ ถ้ายุโรปยังยืนอยู่จะเพียงพอให้อิหร่านปฏิบัติตามพันธะสัญญาหรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับกันอย่างไร นับว่าเป็นอะไรที่ไม่ดูดีต่อแนวโน้มหรือความกังวลที่มีต่อราคาพลังงานและราคาน้ำมัน หรือความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียในช่องแคบที่จะส่งน้ำมันออกมา...

ราคาน้ำมันก็สูงขึ้นอย่างที่เห็น อย่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 73-74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนหนึ่งมาจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโอเปค อีกทั้งซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณอยากเห็นราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 100 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล รวมถึงความต้องการน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เศรษฐกิจโลกดีขึ้นช่วยทำให้ดีมานด์ขึ้นมา หรืออุปทานส่วนเกินหมดไปแล้ว และยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับตะวันตกที่ยังมีส่วนผลักดันราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไป”

สำหรับในกรณีของ Yield พันธบัตรสหรัฐ 10 ปี ที่ปรับขึ้นมาในระดับ 3% ส่วนหนึ่งมีผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัวขึ้นจากตัวเลขการว่างงานที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

“ที่สำคัญคือตัวเลขเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้นมาที่ 2.4% ในเดือนมีนาคม นับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 1 ปี โดยในเดือนเมษายน Yield พันธบัตรของสหรัฐ ได้ปรับขึ้นไปทะลุ 3% แม้จะมีการปรับลงมาในภายหลัง แต่ก็อยู่ใกล้ระดับ 3% ซึ่ง Yield ที่ปรับขึ้นไปส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรของไทยขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน หากได้ติดตาม Yield พันธบัตรไทยในช่วงเดือนเมษายน จะเห็นว่าเริ่มมีการไต่ระดับขึ้นไปค่อนข้างชันเหมือนกัน โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐ”

อย่างไรก็ตาม ดร.เชาว์กล่าวว่าการปรับตัวขึ้น 3% ของ Yield พันธบัตรสหรัฐ ไม่ถือเป็นเรื่องน่ากังวล เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นของดอกเบี้ยที่มีโอกาสประมาณ 70% ที่จะมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ อีกทั้งตลาดเริ่มเพิ่มน้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้ง แต่เป็นการให้น้ำหนักเพียง 38% เพราะตลาดยังไม่แน่ใจในหลายประเด็น เช่น ประเด็นการเมืองในสหรัฐ ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หรือกรณีข้อตกลงต่างๆ ที่ยังต้องติดตาม

แต่ในแง่ของพื้นฐาน เฟดต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งอย่างแน่นอน ในช่วงที่ผ่านมาประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พูดถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกัน ทำให้ตลาดติดตามดูและให้น้ำหนักในเรื่องต่างๆ แต่ไม่ได้เทไปที่ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง รอบนี้คงยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะรอบที่ตลาดมองว่าน่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นน่าเป็นรอบเดือนมิถุนายนซึ่งจะมีตัวประมาณการที่ต้องทบทวนทุกไตรมาส โดยมีตัวแสดงตัวแนวโน้มเศรษฐกิจดอกเบี้ยของสมาชิก FOMC ที่ออกมาไตรมาสละ 1 ครั้ง เพราะฉะนั้นจึงมีการคาดการปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนมากกว่า”

ในสถานการณ์ดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นเช่นนี้ ดร.เชาว์แนะนำว่า สำหรับนักลงทุนจะต้องดูแนวโน้มเรื่องนโยบายดอกเบี้ย ถ้าหากมีการปรับขึ้นได้ 3-4 ครั้ง Yield พันธบัตรสหรัฐน่าจะปรับขึ้นไปอีก เพราะตลาดมีการรับรู้ไปพอสมควรแล้วเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง แต่ถ้าตัวเลขออกมาดีเหตุการณ์ต่างๆไม่ได้เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งของสหรัฐกับจีนหรืออิหร่าน Yield พันธบัตรสหรัฐน่าจะปรับขึ้นได้อีกนิดหน่อย และ Yield พันธบัตรไทยน่าจะปรับขึ้นตาม

“ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นแบบนี้ในตลาดหุ้นกู้หรือตลาดพันธบัตร ส่งผลให้ตัวผลตอบแทนขยับขึ้น เมื่อผลตอบแทนมีการปรับขึ้น คิดว่าสิ่งที่นักลงทุนอาจจะต้องดูกลายเป็นว่าต้องถืออายุของตราสารหนี้แบบระยะสั้นและรวมไปถึงเงินสด เพราะจะมีความได้เปรียบในภาวะแบบนี้ ส่วนตราสารระยะยาวจะถูกล็อคตามดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นไป ทำให้ตราสารระยะยาวอาจจะเสียเปรียบในรอบที่จะมาถึงนี้อีกครั้ง การมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐคงไม่จบในปีนี้ เพราะเฟดมองการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้และปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปีหน้า การถือตราสารหนี้ระยะยาวจะขาดทุนด้านราคาในระยะถัดไปยกเว้นผู้ลงทุนถือจนครบกำหนด ในภาวะการลงทุนแบบนี้นักลงทุนควรจะถือตราสารหนี้ระยะสั้นหรือเงินสดน่าจะได้เปรียบกว่า”

นอกจากนี้ ดร.เชาว์ยังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าด้วยว่า จะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนนั้น ต้องรอดูเศรษฐกิจไปจนถึงเดือนกันยายน เพราะในรอบเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายนเฟดน่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยในเดือนกันยายนตลาดประเมินว่าเฟดน่าจะปรับขึ้น 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง

“สมมุติว่าปลายเดือนกันยายน เงินเฟ้อสหรัฐมีตัวเลขสูงกว่าตัวเลขการจ้างงาน หรือเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตลาดน่าจะเริ่มมองไปถึงการปรับดอกเบี้ย 4 ครั้ง และรวมไปถึงเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นไปอีก ปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์ Yield หรือ Bond ต่างรับรู้การขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง ประมาณ 70% โดยเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าและเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะไปต่อได้ แต่ยังมีตัวแปรคือเรื่องความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งเรื่องการเมืองในประเทศสหรัฐเพราะจะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน และประเด็นระหว่างประเทศของสหรัฐกับจีนและอิหร่าน”

ส่วนค่าเงินบาทของไทยที่เคยแข็งค่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์นั้น ดร.เชาว์กล่าวว่า ถือว่าผ่านจุดค่าเงินแข็งสูงสุดไปแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทแตะระดับที่ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่เงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าได้ ถ้ามีมูลเหตุที่ไปช็อกต่อค่าเงินดอลลาร์มากๆ

"เงินบาทอาจจะคล้ายเงินเยนตรงที่เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคงสูง ในสถานการณ์ความไม่แน่นอน โดยฐานะบัญชีเงินสะพัดหรือทุนสำรองของไทยจะเป็นที่นิยมให้นักลงทุนเข้ามาพักเงิน ซึ่งภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีเหตุที่ทำให้นักลงทุนต้องหาแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐยังไปต่อได้โดยมีการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งในไม่ช้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐจะมีการเดินทางไปเยือนจีน หากสมมุติไม่มีเหตุการณ์กับอิหร่าน คิดว่าค่าเงินดอลลาร์จะมีการปรับขึ้น เพราะธนาคารกสิกรไทยมองค่าเงินบาทในช่วงกลางปีนี้ไว้ที่ 31.80 บาทต่อดอลลาร์ และในช่วงปลายปีนี้ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์...

“ในแง่ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะขยายตัวได้เกิน 4% นับว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าปีที่แล้ว แต่ประเด็นปัญหาอาจจะมีคล้ายกันกับช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว คือการขยายตัวมาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ตัวเลขการส่งออกโตค่อนข้างดีเกินกว่าที่คาดและเงินบาทที่แข็ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวยังได้รับอานิสงส์จากการส่งออก แต่กำลังซื้อในประเทศยังสวนทางกัน อาจจะไปได้ในส่วนของรถยนต์เพราะยอดขายรถยนต์โต 13% ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในระดับฐานล่างยังไม่ดี ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยยังสะท้อนภาพแบบนี้ เพราะการบริโภคในกลุ่มสินค้าปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวันบางเดือนแทบจะไม่โตหรือบางเดือนติดลบ เป็นภาพที่แตกต่างในระบบเศรษฐกิจไทยที่มาจากทั้งภาคต่างประเทศ ตัวเลขที่ได้แรงหนุนจากดอกเบี้ยต่ำ ตัวเลขจากกำลังซื้อในระดับฐานล่างอย่างเรื่องรายได้เกษตรกรหรือเรื่องหนี้”

51 views
bottom of page