top of page
327304.jpg

ผู้ส่งออกข้าวไทยงง! เมื่อ 'แจ็คหม่า' ลั่นช่วยขายข้าวไทย


แจ็ค หม่า/อาลีบาบา มา “เมืองไทย” ลั่นช่วยขายข้าวไทยไปจีน อุ้มชาวนาไทยรอดพ้นจากความยากจน เป็นเรื่องที่ “ผู้ส่งออกข้าวไทย” มึนงง สงสัยว่าจะทำได้จริงแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องการขายข้าวไปจีนเต็มไปด้วยเงื่อนไขชาติเขา/มาตรฐานสินค้า นอกเหนือจากเรื่องภาษี 60% เป็นกระดูกชิ้นเบ้อเริ่มอีกต่างหาก ระบุเรื่องขายข้าวต่างประเทศมีความละเอียดอ่อนมาก ไม่เหมือนขายทุเรียนหรือสินค้าอุปโภค/บริโภคทั่วไป รวมถึงค่าส่งทางเครื่องบินมีราคาแพงกว่าราคาข้าวซะอีก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึง การมาของ แจ็ค หม่า ว่าทำให้ยังไม่ทราบในรายละเอียดในเรื่องของการทำธุรกิจข้าวไทยว่าจะมีวิธีการทำในลักษณะแบบไหนอย่างไร จะเป็นการเทรดปกติในลักษณะรายย่อยหรือเป็นแบบเทรดออนไลน์ อย่างเช่น ข้าว จะเป็นการซื้อข้าวถุงเล็กหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ยังไม่ทราบในรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ความเป็นไปได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ

1. เรื่องข้าวจะส่งออกไปประเทศจีนไม่ใช่จะทำได้ง่าย เพราะประเทศจีนมีข้อกำหนดว่าบริษัทที่จะส่งออกข้าวไปที่จีนได้จะต้องผ่านระบบตรวจสอบ AQSIQ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงเกษตรเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า โดยเข้ามาตรวจที่โรงงานของผู้ส่งออกไทย ปัจจุบันไทยมีผู้ส่งออกข้าวไปจีนเพียง 48 รายที่ผ่านมาตรฐานจีน เพราะฉะนั้นใครจะทำการส่งออกข้าวไม่ใช่เรื่องง่าย

2. เรื่องขาเข้าจีนเช่นเดียวกัน สินค้านำเข้ามีเรื่องของภาษีและผู้นำเข้าจากจีนในปัจจุบันต้องไปยื่นเรื่องโควตาการนำเข้า โดยรัฐบาลจีนใช่ว่าจะให้โควตาได้ทุกคน คนที่จะนำเข้าอาจจะต้องซื้อข้าวในสต็อคของจีนที่เก็บไว้ซึ่งอาจจะเป็นข้าวเก่าเพื่อเป็นการหมุนเวียนข้าวเก่า โดยคนนำเข้าต้องไปซื้อข้าวเก่านี้จากรัฐบาลเพื่อแลกกับโควตาการนำเข้าข้าว และอาจจะมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมของรัฐเพื่อเป็นโควตาผู้นำเข้าข้าว แต่ถ้าผู้นำเข้าไม่มีโควตาตรงนี้และจะทำการนำเข้าข้าวจากไทยจะต้องเสียภาษี 60% ทำให้การนำเข้าแบบไม่มีโควตาแล้วคิดว่าจะขายให้ชนะคู่แข่งซึ่งคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะต้องเจอกับการเสียภาษีสูงถึง 60% ที่สูงมาก ทำให้ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขายข้าวในจีนให้มีความหลากหลายเพราะเมื่อเจอกับรายละเอียดการนำเข้า

ทั้งนี้ การซื้อขายข้าวผ่านอาลีบาบาต้องถามว่าจะมีการลดภาษีให้หรือไม่ เพราะการจะซื้อขายผ่านเว็บไซต์อาลีบาบาแล้วรัฐบาลจีนจะผ่อนปรนไม่เก็บภาษีซึ่งตรงนี้ไม่มีความรู้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้เพราะหากดูจาก 2 ข้อที่กล่าวมาแล้วไม่น่าจะไปขายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ อย่างของไทยมีผู้ส่งออกมีเพียง 48 รายเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ก็ไม่สามารถส่งออกข้าวไปจีนได้เพราะเป็นกฎหมายที่จีนกำหนดออกมาเพื่อสุขอนามัยหรือมาตรฐานสินค้าที่จีนส่งคนมาตรวจที่โรงงานของผู้ส่งออกข้าวไทยที่ยื่นเรื่องขอไว้ อีกทั้งการเข้ามาตรวจมีเพียงครั้งเดียวแล้วจบทันทีหลังจากนั้นไม่มาอีกเลย เพราะจีนคิดว่าผู้ส่งออกข้าวไทย 48 รายถือว่าเพียงพอและทุกประเทศก็ทำเช่นเดียวกับไทยเหมือนกันหมด เช่น เวียดนาม

“ในภาพรวมปีที่แล้วส่งออกข้าวไปจีนกว่า 1 ล้านตัน แต่ต้องแยกเป็นข้าวจีทูจีที่เป็นรัฐบาลจีนซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยในเรื่องของข้าวขาวที่มีประมาณกว่า 600,000 ตัน ซึ่งเป็นเรื่อง MOU ระหว่างประเทศ สำหรับเอกชนที่ซื้อข้าวจากไทยส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ มีอยูประมาณกว่า 300,000 ตัน หากจะดูคงต้องดูในส่วนของการซื้อขายของเอกชนกับเอกชน” นายชูเกียรติกล่าว และมองการขายข้าวถุงแบบ 1-5 กิโลกรัมเข้าไปที่จีนนั้น ต้องถามรัฐบาลจีนว่าจะยอมเรื่องภาษีตรงนี้หรือไม่ เพราะข้าวถุงไม่ได้ผ่านระบบ AQSIQ ทำให้จะต้องเก็บภาษีหรือไม่ รวมถึงการซื้อขายข้าวผ่านเว็บไซต์อาลีบาบาไม่ได้อยู่ในโควตาของผู้นำเข้า และถ้าเป็นผู้นำเข้ารายใหม่จะต้องเสียภาษี 60% หรือไม่ ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ถึงแม้จะเป็นข้าวถุงเล็ก 5-10 กิโลกรัม แต่อย่าลืมว่าสินค้าข้าวเป็นสินค้าที่ค่อนข้างหนัก ค่าขนส่งใช่ว่าจะถูกเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินค้า ไม่เหมือนกับการส่งสินค้าอย่างเสื้อผ้า รองเท้า แว่นตา การส่งแบบแอร์เฟดคงเสียค่าใช้จ่ายไม่กี่บาท แต่ถ้าส่งข้าวทางแอร์เฟดค่าขนส่งอาจจะมากกว่าราคาข้าวที่สั่งซึ่งลักษณะแบบนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

“อาลีบาบาโชว์ขายทุเรียน 1 นาที 80,000 ลูก โอกาสแบบนี้จะเกิดกับวงการข้าวไทยหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะการขายของอาลีบาบาเป็นการซื้อขายในประเทศแล้วมีผู้นำเข้าหรือออนไลน์ซื้อขายกับชาวสวนไทย ทำให้ตรงนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด” นายชูเกียรติกล่าว และพูดถึงการเข้ามาลงทุนเว็บไซต์อาลีบาบาหรือ E-Commerce ของแจ็ค หม่า ทางสมาคมฯยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะขอเข้าพบเพราะยังไม่มีความชัดเจนมากนักเกี่ยวกับการลงทุนของอาลีบาบาซึ่งตอนนี้ยังเป็นเพียงตั้งข้อสังเกต

“ผู้ส่งออกข้าวมีฐานลูกค้าที่มีความแน่นอนอยู่แล้ว โดยมีเรื่องของแบรนด์มาเกี่ยวข้องหรือการทำแบรนด์ต่างๆ ให้ลูกค้าเพื่อไปทำตลาด นอกจากนี้แบรนด์สินค้าข้าวเหล่านั้นถือว่าติดตลาดจีนไปแล้ว เพราะฉะนั้นการจะไปเปลี่ยนแบรนด์ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำง่ายๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะต้องใช้เวลาและความไว้วางใจ สินค้าที่ไทยส่งไปต้องมีมาตรฐานเป็นที่เชื่อใจของลูกค้าว่าสั่งซื้อข้าวหอมแต่ไทยไม่ได้ส่งข้าวอื่นหรือผสมไปแทน คือการซื้อขายอยู่ที่ความเชื่อใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ถ้าไปซื้อข้าวบริษัทไหนก็ไม่รู้ที่ขายข้าวในราคาถูก เมื่อซื้อข้าวไปคุณภาพอาจจะไม่ใช่ที่อยากได้ เพราะสินค้าข้าวไม่เหมือนกับสินค้าอื่นๆ เรื่องข้าวจึงมีความละเอียดอ่อนมาก”

อย่างไรก็ตาม นายชูเกียรติมองว่าการเข้ามาของอาลีบาบาถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งของเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับจีน น่าจะมีประโยชน์กับสินค้าบางชนิด หากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคหรือเป็นสินค้าที่ขายได้คล่องโดยไม่มีเรื่องของคุณภาพที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นับว่าเป็นช่องทางหนึ่งในเรื่องที่ดี นับเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับการค้าขายระหว่างประเทศดีขึ้น แต่โดยเนื้อหารายละเอียดต้องลงลึกไปอีกว่าไม่สามารถทำได้ทุกสินค้า อาจจะมีสินค้าบางอย่างทำได้ดีหรือบางสินค้าอาจจะทำไม่ได้ เมื่อวิเคราะห์ในเชิงลึกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจะติดข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ เต็มไปหมด

102 views
bottom of page