กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.50 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.32 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่าเท่ากันที่ 4.7 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ขณะที่เงินยูโรและเงินปอนด์เผชิญแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังและการคาดการณ์ที่ว่าการปรับสมดุลนโยบายการเงินในเขตยูโรโซนและอังกฤษอาจล่าช้าออกไป ส่วนเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยท่ามกลางตลาดการเงินที่ผันผวนสูงขึ้น กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีมองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญอยู่ที่การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หากอัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปี สามารถปรับขึ้นต่อและยืนเหนือระดับ 3.00% ได้ เงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะแตกต่างจากช่วงต้นปีนี้ที่อัตราผลตอบแทนระยะ 2 ปีปรับตัวขึ้นเร็วกว่าระยะยาว และค่าเงินดอลลาร์ขาดแรงหนุนเนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนที่แบนราบ (Flatten) สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะถัดไป ในขณะเดียวกัน ตลาดยังให้ความสนใจกับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี หลังข้อตกลงลดการผลิตที่นำโดยกลุ่มโอเปก ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันส่วนเกินทยอยปรับลดลง ซึ่งมีส่วนผลักดันการคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การประชุมนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) อาจเพิ่มความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลกช่วงท้ายสัปดาห์ได้เช่นกัน สำหรับปัจจัยในประเทศ ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลการค้าเดือนมีนาคม โดยระบุว่ามูลค่าส่งออกของไทยเติบโต 7.06% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดนำเข้าขยายตัว 9.47% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1.27 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าตัวเลขส่งออกและนำเข้าจะต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อยและเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางส่วนอาจสะท้อนฐานการเปรียบเทียบที่สูงขึ้น โดยเรายังคงประเมินว่าในภาพรวมแรงส่งเชิงบวกน่าจะดำเนินต่อไป ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2561 มูลค่าส่งออกเติบโต 11.29% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์การค้าโลก เนื่องจากไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลกและอาจจะได้รับผลกระทบ หากทิศทางการค้าโลกที่ขยายตัวอย่างสดใสตั้งแต่ปี 2560 มีเหตุต้องสะดุดลง
top of page
bottom of page