บล.ไอร่า ชี้การประกาศงบฯ ไตรมาส1/2561 ตัวแปรที่จะเข้ามาฉุดดัชนีเดือนดีดกลับขึ้นมาแกว่งในกรอบ1,790-1,850 จุด ด้าน KTBST ระบุดัชนีที่หลุด 1,750 จุดลงมาเมื่อก่อนวันสงกรานต์สร้างสัญญาณขายให้กับตลาด แม้จะมีโอกาสรีบาวด์ แต่หากไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาดก็จะเดินหน้าไปได้ไม่ไกลนัก
จากที่หุ้นเดือนมีนาคมปรับลดลง จนทำให้นักลงทุนเสียศูนย์ ยิ่งมาตกแรงกว่า 40 จุด เมื่อ 4 เมษายน 2561 หลุดแนวรับทุกแนว ขณะที่มีข่าวร้ายต่างๆถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องของสงครามการค้า ที่ดูเหมือนจะแรงขึ้นเรื่อยๆ และ ความไม่มั่นใจในเรื่องชองแนวโน้มการเมืองไทย ตลอดจนเรื่องของรายได้จากค่าธรรมเนียมของแบงก์พาณิชย์ ทำให้ตกใจเทขายหุ้นกันออกมายกกระดาน โดยเฉพาะหุ้นบลูชิพ
ทั้งนี้คำแนะนำที่นักลงทุนได้รับในช่วงนี้ คือ ถือเงินสดไว้ในมือจะดีกว่าการกอดหุ้นไว้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความคาดหวังว่าเมื่อพ้นสงกรานต์เมษายน ที่เป็นวันหยุดยาว หุ้นน่าจะรีบาวน์ขึ้นมาได้ตามปัจจัยบวกเรื่องงบการเงิน ผลการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ ซึ่งจะเริ่มมีการทยอยประกาศออกมาหลังสงกรานต์
บล.ไอร่า ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยระหว่างเดือนเมษายนจะ “รับปัจจัยบวก” จากการประกาศงบ ไตรมาส 1/2561 แนะติดตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นลงทุน และกรอบดัชนีหุ้นยกขึ้นในระดับ 1,756 –1,852 จุด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ บล. ไอร่า จึงยังแนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ผลประกอบการผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 เติบโตดี ชู BANPU-CHG-CPN-GCAP-MONO-PTTGC-SCC-SPA เด่น
นางจิตรลดา เลขาพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า หรือ AS ให้ความเห็นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นในเดือนเมษายน ได้รับปัจจัยบวกจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2561 เริ่มจากกลุ่มธนาคารช่วงกลางเดือน เม.ย. อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีแรงเก็งกำไรต่อเนื่องในกลุ่ม Real Sector ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
“รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ล่าสุด ธปท. ปรับเพิ่มเป้าหมาย GDP ปี 2561 เป็น 4.2% จากเดิมที่ 3.9% สอดคล้องเป้าหมายของสภาพัฒน์ฯ และ สศค.
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2561 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโต 5 – 7% จาก 35.38 ล้านคน เมื่อปี 2660 โดย ก.พ.2561 เพิ่มขึ้น 19% อยู่ที่ 3.56 ล้านคน (รวมนักท่องเที่ยวจีน 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 51% ซึ่งเป็นระดับ New High จาก 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ 2 เดือนแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 7.11 ล้านคน และคาดไตรมาส 1/2561 ยังคงดีต่อเนื่อง จากช่วง High Season ของฤดูท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันภาพรวมการลงทุนในเดือนนี้ ได้แก่ Fund Flow จากแรงขายสุทธิของต่างชาติต่อเนื่อง โดยมียอดขายสุทธิรวม 58,117 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามยังได้รับการชดเชยจากสถาบันในประเทศ และประเด็นทางการเมือง ภายใต้การยื่นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งอาจส่งผลต่อ Road Map เลือกตั้ง ในเดือนก.พ.2562
“สำหรับปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาสำหรับเดือนเมษายนนี้ คือ การประมูลโครงการระบบราง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 โดยเฉพาะสายสีม่วงใต้ มูลค่างานก่อสร้าง ประมาณ 80,000 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ –เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง มูลค่างานก่อสร้าง ประมาณ 300,000 ล้านบาท และภายใต้ความไม่แน่นอน และนโยบายของสหรัฐฯ ที่ออกมาอาจสร้างความผันผวน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นลงทุน เช่นที่เกิดขึ้นในเมื่อมีนาคม ที่ผ่านมา
ดังนั้นประเมินกลยุทธ์การลงทุนในเดือนเมษายนว่า ยังมีความผันผวน แม้คาดว่าจะมีแรงเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 1/2561 โดยกลุ่มธนาคารจะประกาศในช่วงกลางเดือนนี้อย่างไรก็ตามคาดมูลค่าซื้อขายอาจเบาบางจากช่วงวันหยุดเทศกาล และอาจได้รับปัจจัยกดดันจากประเด็นการเมือง ภายใต้การยื่นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งอาจส่งผลต่อ Road Map เลือกตั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ .2562 รวมถึง Fund Flow จากแรงขายสุทธิต่อเนื่องของต่างชาติ แต่คาดยังได้รับการชดเชยจากแรงซื้อของสถาบันในประเทศ”
ในส่วนของประเด็นต่างประเทศคาดว่า ในที่สุดแล้วสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะมีสัญญาณคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น จึงยังแนะติดตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างความผันผวน และส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อมี.ค. ที่ผ่านมาได้ โดยมีกรอบทางเทคนิค 1,756 – 1,852 จุด
สำหรับหุ้นที่ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 มีแนวโน้มเติบโตดี เช่น BANPU, CHG, CPN, GCAP, MONO, PTTGC, SCC และ SPA
ด้าน ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ให้ความเห็นว่า จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ตอนแรกดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายลงไปแล้ว ได้กลับมาสร้างความกดดันให้กับตลาดอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ เตรียมพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มในสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ที่ 6 เมษายน ขณะที่รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาน่าผิดหวัง เพิ่มขึ้น 103,000 ตาแหน่ง จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 193,000 ตำแหน่ง ประกอบกับตัวเลขอัตราการว่างงานออกมาทรงตัวที่ระดับ 4.1% น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 4.0% ฉุดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อย่าง ยูโร และเยน ขณะที่ยังต้องดู
รายงานการประชุมนโยบายทางการเงิน (FOMC Minutes) ในวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลังนาย Jerome Powell ได้ออกมากล่าวว่า Fed อาจจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะออกมาที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 2.2% และรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะออกมาที่ 2.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ 1.8%
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นที่หลุด 1,750 จุดลงมาเมื่อ 4-5 เมษายน สร้างสัญญาณขายให้กับตลาด แม้จะมีโอกาสรีบาวด์ แต่หากไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาด ดัชนีก็จะเดินหน้าไปได้ไม่ไกลนัก ขณะที่ตัวแปรในทางลบหลายตัว จะจำกัดกรอบการสูงขึ้นของดัชนีไว้ ดังนั้นการเข้าลงทุนจึงต้องพิจารณาเป็นรายตัว และลงทุนในกรอบเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาอ่อนตัวลงมาและมีปัจจัยบวกหนุนอย่าง AOT , CPALL , CPN และหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงเช่น LH (Dividend Yield ปีนี้ 6.2% ; Bloomberg) และหุ้นที่มีปัจจัยบวกอื่นๆ ประกอบด้วย CPF และ TOA