แม้วันนี้เงินคริปโตจะมีฐานะเป็นโภคภัณฑ์ ยังต้องใช้ดอลลาร์และเงินกระดาษสกุลหลักอื่นๆของโลกในการซื้อขาย แต่ในอนาคต เมื่อมีการถือครองกันมากขึ้น และธุรกิจ การค้า ยอมรับเงินตรานี้ ในฐานะมาตรฐานกลางในการชำระราคาสินค้า เมื่อนั้นธนาคารกลางทั่วโลก จะหลีกเลี่ยงไม่พ้นในอันที่จะยอมรับเป็นเงินตราสกุลหลัก
IBM มองการณ์ไกลนี้ จึงสร้าง CPU ซูเปอร์จิ๋วสำหรับประมวลผลในกิจกรรมของบล็อกเชน
IBM เชื่อว่า ภายใน 5 ปีนับแต่นี้ cryptocurrency จะมีบทบาทต่อการเงินโลก ถึงขั้นเป็นเงินตราสายพันธุ์หนึ่งเฉกเช่นเงินตรากระดาษในปัจจุบัน
ขณะที่เงินกระดาษมีดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของทั่วโลก โดยมีเงินสกุลรองคือปอนด์อังกฤษ ยูโรสหภาพยุโรป เยนญี่ปุ่น หยวนจีน ฯลฯ
ในอนาคต จะมี เงินคริปโตหรือสกุลเงินดิจิทัลอาทิ bitcoin, ethereum, ripple, litecoin ฯลฯ เป็นเงินสกุลหลักคู่ขนานกับเงินกระดาษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เงินตราทั้งสองชนิด จะทำหน้าที่ที่คล้ายกัน คือเป็นมูลค่าชำระราคาสินค้าและบริการ ที่มีค่าทดแทนกันได้
CPU (Central Processor Unit) จิ๋วของไอบีเอ็ม จึงมุ่งที่จะรองรับการเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ อันมีบล็อกเชนเป็นกลไกในการซื้อ-ขาย-จ่ายโอน
Blockchain คือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละบุคคลเข้าด้วยกัน โดยมีtoken หรือรหัสประจำตัวของแต่ละบุคคล เพื่อใช้ในการส่งต่อข้อมูลกันไปมาในระบบ อย่างเช่นในการลงทุนซื้อขายบิทคอยน์ ผู้ซื้อกับผู้ขายจะเชื่อมโยงข้อมูลกัน สามารถโอนบิทคอยน์ให้แก่กันเพื่อดำเนินธุรกรรมทางการเงินต่างๆได้สะดวกและรวดเร็วกว่าระบบเก่าที่ต้องผ่านตัวกลางหรือบุคคลที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ฯลฯ
การเชื่อมต่อระหว่างกันและกันในบล็อกเชน ทำได้รวดเร็วและสะดวก แค่มีสมาร์ทโฟนตัวเดียวก็สามารถทำได้ทุกขั้นตอน โดยไม่ผ่านหลายขั้นตอนและตัวกลาง ตัดค่าใช้จ่ายในการโอนผ่านได้มาก
แม้ว่าปัจจุบันบล็อกเชนจะใช้เพื่อการโอนเงินคริปโตเป็นหลัก แต่ในอนาคตยังใช้ในธุรกรรมด้านอื่นๆได้ด้วย เช่นในการซื้อขายสินค้า ในการทำธุรกิจระหว่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้า
ยิ่งกว่านั้น ยังสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันด้วย เนื่องจากสมาชิกบล็อกเชน ต่างมีรหัสของตน เมื่อส่งข้อมูลไปสู่คู่ธุรกรรม หากข้อมูลตรงกัน บล็อกเชนก็จะเปิดให้ทั้งสองฝ่าย ดำเนินธุรกรรมกันจนกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์
คำว่าบล็อกเชนนั้น มาจากคำว่า block หรือก้อนหรือกล่อง ส่วน chain คือห่วงโซ่ เมื่อนำมาผสมเป็นคำเดียวกัน ก็หมายถึงก้อนหรือกล่องที่ถูกนำมาผูกคล้องเข้าด้วยกัน...ทำให้แต่ละบล็อกสามารถส่งข้อมูลจากบล็อกสู่บล็อกได้ด้วยตัวเชื่อม ซึ่งในที่นี้คือระบบอินเทอร์เน็ต (ไร้สาย)
ซีพียูตัวจิ๋วที่สุดในโลกของไอบีเอ็มจะเข้ามามีบทบาทในการประมวลผลในกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบล็อกกับบล็อก
ไอบีเอ็มตั้งชื่อโครงการนี้ว่า Think 2018 โดยประกาศว่า จะนำเอาคอมพิวเตอร์ตัวเล็กที่สุดในโลกออกมาเพื่อใช้กับบล็อกเชนโดยเฉพาะ โดยซีพียูประมวลผลใช้กับคอมพิวเตอร์นี้ จะมีขนาดแค่เมล็ดข้าวเท่านั้น คือ 1x1 มิลลิเมตร แต่มีพลังในการประมวลผลเทียบเท่ากับ CPU คอมพิวเตอร์ในทศวรรษ 1990 นั่นเทียว
ตามปกติ นวัตกรรมใหม่ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเก่า มักจะมีราคาแพงกว่าของเดิม แต่สำหรับCPU เมล็ดข้าวของไอบีเอ็มนี้ กลับตรงกันข้าม คือราคาถูกลง
ส่วนผลงานของมันกลับไม่จิ๋วตามตัวเครื่อง ผลการทำงานของมันจะเทียบเท่ากับ CPU ขนาดใหญ่ สามารถวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล ส่ง-รับ ข้อมูล ประมวลผล ฯลฯ ไม่ต่างไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกขนาดในปัจจุบัน
สำหรับอายุการใช้งาน CPU จิ๋วมีข้อจำกัดที่อายุสั้นและสามารถทำลายตัวเองได้ หรือใช้แล้วลบหรือใช้แล้วทิ้ง (disposable) จะด้วยเหตุผลว่าขนาดทำให้อายุการใช้งานจำกัด หรืออายุชิ้นส่วนไม่ยืนยาวก็ได้
ราคาถูกอยู่แล้ว ยังจะให้อายุยืน ไอบีเอ็มก็เจ๊งน่ะสิ...ยิ่งกว่านั้น ยังเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ จะทำให้มีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาตลอดเวลา ซีพียูจิ๋วนี้ก็อาจจะกลายเป็นของเก่าได้ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า เมื่อคลื่นลูกใหม่ไล่กระทบกลบคลื่นลูกเก่า
อีกด้านหนึ่ง ไอบีเอ็มมองว่า เงินคริปโต จะได้รับการยอมรับเป็นสกุลเงินชำระราคาได้เหมือนเงินกระดาษภายใน 5 ปี จึงได้ประดิษฐ์ซีพียูนี้ เข้าไปรองรับความเปลี่ยนแปลงนี้
หลังจาก 5 ปีไปแล้ว อาจเป็น 5 ปีถัดไป จะมีความเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน ตามครรลองของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก
โฉมหน้าของอุตสาหกรรมยุคใหม่ จะเป็นอย่างไร บทบาทของคอมพิวเตอร์จะไปทางไหน การใช้ซีพียูเป็นหัวใจของเครื่องคอมพิวเตอร์จะยังมีอยู่หรือไม่ หรือมีนวัตกรรมใหม่มาแทน ?
ขณะนี้ AI คือการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปมาก จนคาดว่าไม่เกินทศวรรษนี้ กว่า 90% ของขบวนการผลิตของโลกจะนำเอา Artificial Intelligence (AI) ปัญญาประดิษฐ์มาใช้กันหมด
ขณะเดียวกัน คู่ขนานของ AI คือ BI ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
BI มีความหมายในด้านธุรกิจการค้าที่ใช้ในรูปแบบ Business Intelligence หมายถึง การนำสหวิชาการชั้นสูงมาใช้ อันประกอบด้วย การวิเคราะห์ข้อมูล(data analysis) การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (business information) มาช่วยในการบริหาร จัดการ การวิเคราะห์ การพยากรณ์ ฯลฯ เพื่อช่วยในการตัดสินใจที่แม่นยำ
Big Data ที่ผู้นำรัฐบาลไทยชอบเอ่ยอ้าง ก็เป็นส่วนหนึ่งของ BI คือการเพิ่มขนาด เพิ่มความเร็วและความหลากหลายของข้อมูล
วิทยาการคอมพิวเตอร์จะมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งไอบีเอ็มมองว่า อนาคตของคอมพิวเตอร์ยังไปอีกไกล ระบบการประมวลผล จึงยังต้องก้าวหน้าไปยิ่งขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เพิ่มขึ้น
การผลิต ซีพียูจิ๋ว มาใช้ในระบบบล็อกเชน เป็นตัวอย่างที่ดีของนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุน ทั้งทุนตัวเงินและทุนเวลา ลดการสูญเสีย เพิ่มความแม่นยำ ปกป้องข้อมูล ไม่ให้ถูกมิจฉาชีพโจมตีระบบ ป้องกันความผิดพลาด
ทำให้โลกทั้งโลกอยู่ในมือแค่มือเดียว หรือที่ถูกคืออยู่ในสมาร์ทโฟนตัวเดียว
สำนักงานบริษัท เป็นเพียงโกดังเก็บสินค้า ส่วนที่ทำงานของพนักงานและผู้บริหาร อยู่ทุกหนทุกแห่ง : บ้าน รถยนต์ ร้านกาแฟ บนถนน ส้วมสาธารณะ ฯลฯ
หลับตาแล้วจินตนาการดู.....โลกจะกว้างใหญ่ไพศาล หรือแคบแค่จอกว้างไม่กี่นิ้ว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกใช้ส่วนไหน