การเปลี่ยนแปลงทางด้านไอทีและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาแรงและมาเร็วเกินคาด ทำให้กองทุนบัวหลวง ปรับเพิ่มธีมการลงทุน เพื่อเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับปี 2018
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) กล่าวว่า ทุกๆ ปี กองทุนบัวหลวงมีการกำหนดแนวทางการลงทุนในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย และสำหรับปี 2018 นี้ ธีมการลงทุนของกองทุนบัวหลวง คือ “ตลอดสายซัพพลายเชน ตามเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และ
ยานยนต์ไฟฟ้า”
ธีมการลงทุนในปี 2018 นี้ สะท้อนปรากฎการณ์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดในเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต และกำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินงานของธุรกิจและบริษัทต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมอีกด้วย โดยที่ระบบซัพพลายเชนจะมีการขยายตัวมาต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นดาวรุ่งที่จะมาแทนรถยนต์ที่เติมพลังงานเชื้อเพลิงที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน
“สำหรับอีคอมเมิร์ซแล้ว มองได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาซื้อของหรือบริการผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสั่งซื้อสินค้าต่างๆ เช่น มือถือ กล้องถ่ายรูป รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ อุปกรณ์กีฬา หรือแม้กระทั่งอาหาร หรือเครื่องดื่ม ก็สามารถสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ช้อปปิ้งได้” นายพีรพงศ์ กล่าว และเสริมว่า “นอกจากนี้ การจองโรงแรม การซื้อตั๋วเครื่องบิน การซื้อตั๋วดูหนังหรือคอนเสิร์ต ก็มีการจองผ่านระบบออนไลน์แล้วเกือบทั้งสิ้น”
อย่างไรก็ดี อีคอมเมิร์ซจะขับเคลื่อนไม่ได้ ถ้าหากว่า ไม่มีระบบจัดการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดธุรกิจส่งของถึงมือผู้รับ เช่น Kerry Express, Lazada Express หรือ DHL ในเวลาที่เราสั่งซื้ออาหาร ไม่ว่าจะโทรศัพท์สั่ง หรือสั่งผ่านออนไลน์ของระบบLine Man หรือ Uber Food ก็แล้วแต่ จะมีบริการส่งสินค้า เช่น พนักงานของฟู๊ดแพนด้า จะขับมอเตอร์ไซด์บริการส่งอาหารถึงบ้าน
ในสหรัฐอเมริกาเอง บริษัทที่เป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซ คือ อเมซอน ส่วนในประเทศจีน มีอาลีบาบาและเจดีดอทคอม ทั้ง
อเมซอนและอาลีบาบานั้น ติดอันดับท็อป 10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ขนาดมูลค่าตลาดโดยรวม ซึ่งแนวโน้มยังมีความเจริญเติบโตอยู่อีกมากในอนาคต
ส่วนเรื่องยานยนต์แล้ว นายพีรพงศ์ กล่าวว่า ภาพใหญ่เป็นเรื่องของภาวะโลกร้อน และเรื่องมลภาวะที่เกิดจากไอเสียจากการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซล หรือเครื่องยนต์เบนซิน หรือแม้แต่แก๊สโซลีน ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน แนวโน้มของการดูแลสิ่งแวดล้อม คือ พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด หรือยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle)
“เดิมทีรถยนต์พลังงานทางเลือกเป็นแบบไฮบริด (hybrid) แล้วเปลี่ยนมาเป็น plug-in hybrid แล้วต่อมาก็เป็นแบตเตอรี่ล้วนๆ ความจริงแล้วรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกใหม่ เราจะเห็นได้ว่า รถไฟฟ้าที่ใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอส หรือรถรางของเมืองนอก หรือรถกอล์ฟ สกู๊ตเทอร์ก็ใช้ไฟฟ้า ทำให้ไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม” นายพีรพงศ์ กล่าว
เทรนด์ต่อไปในโลก คือ รถยนต์ไฟฟ้า ก่อนที่จะไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ จะเห็นได้ว่า บริษัท Geely ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของจีน เตรียมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการของตลาดในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยก่อนหน้านี้ได้ซื้อกิจการของบริษัทวอลโว่ของสวีเดน และล่าสุดได้ซื้อหุ้นเกือบ 10% ในบริษัท Daimler ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์เบนซ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า
“นอกจากนี้ ประเทศเยอรมนีเอง ประกาศว่า ในอนาคตอันใกล้จะไม่มีรถยนต์ที่เติมน้ำมันอีกต่อไปแล้ว โดยจะมีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น อีกทั้งเมืองไทยต่อไปในอนาคตจะไปในทิศทางเดียวกัน” นายพีรพงศ์ กล่าว
กองทุนบัวหลวงเชื่อว่า การค่อยๆ สะสมหุ้นของกิจการที่ได้ประโยชน์ตาม theme เหล่านี้ ทั้งในเรื่อง อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่จะสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน