top of page
379208.jpg

สมโภชน์ ยืนยันไม่เคยขายหุ้น EA....กระแสเงินสดพุ่งพร้อมขยายการลงทุน เตรียมสร้างโรงงานแบตเตอรี่เฟส 1


“สมโภชน์ อาหุนัย” ยืนยันไม่เคยขายหุ้น EA ตามที่โดนกุข่าวเท็จ ตรวจสอบแล้วพบเหตุหุ้นทรุดจากการเทขายกองทุนระยะยาวพร้อมกับนักลงทุนรายใหญ่ 1-2 ราย ทำชอร์ตเซล ตอกย้ำพื้นฐานแกร่ง เตรียมเงินสำหรับลงทุนปี 2561-2562 ที่ต้องใช้ราว 2.6 หมื่นล้านบาทไว้พร้อม ไร้แผนเพิ่มทุน ระบุกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะมาจากการขายไฟฟ้าเฉพาะปีนี้ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้าน ยืนยันเดินหน้าแผนขยายธุรกิจเต็มกำลัง มั่นใจเทคโนโลยีแบตปลอดภัยจากไฟไหม้แน่นอน นักวิเคราะห์มองราคาหุ้นต่างกันเหตุจากความเข้าใจธุรกิจใหม่ไม่เท่ากัน

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า “จากการที่ราคาหุ้นของบริษัทปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและมีการขายออกมาจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม เป็นต้นมานั้น บริษัทได้ปิดสมุดทะเบียนเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นแล้ว พบว่า กลุ่มผู้ที่ขายหุ้นออกมามากเป็นพิเศษคือ กองทุนหุ้นระยะยาวของ บลจ.สองแห่ง โดยแห่งที่ 1 ขายออกมากว่า 32 ล้านหุ้น และแห่งที่ 2 ขายออกมาอีกกว่า 9.7 ล้านหุ้น และยังมีการขายชอร์ตเซลอีกจำนวนรวมกว่า 48.9 ล้านหุ้น โดยเฉพาะจากบุคคลธรรมดา 2 รายที่มีจำนวนหุ้นสูงถึง 12 ล้านหุ้น จึงเกิดผลทางจิตวิทยา ประกอบกับมีการปล่อยข่าวลือด้านลบมากมาย เช่น ผมและครอบครัวขายหุ้นทิ้ง มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง มีคดีฟ้องร้องกัน ทุจริตฉ้อโกงหอบเงินหนีไปทางไต้หวัน ผู้บริหารถูกยิง บริษัทมีปัญหาการเงินจนอาจจะเพิ่มทุน ผลประกอบการปี 2560 ต่ำกว่าที่คาด และจะแย่ลงอีกเพราะจะมีค่าใช้จ่าย R&D และการเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมาก โครงการแบตเตอรี่ทำไม่ได้จริง พื้นที่ที่จะทำโรงงานติดปัญหาเป็นพื้นที่สีเขียว นักวิเคราะห์บางรายออกบทวิเคราะห์ให้ราคาต่ำมาก เป็นต้น”

“ผมขอชี้แจงในประเด็นสำคัญ ๆ ว่า ผมและครอบครัวไม่ได้มีการขายหุ้นออกมาแม้แต่หุ้นเดียว รวมถึงผู้บริหารหลักๆ ทุกคน ก็ไม่ได้มีการขายหุ้นออกมาเช่นกัน อีกทั้งข่าวลือทั้งหลายก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และถือโอกาสชี้แจงว่า บริษัทมีแผนการลงทุนโครงการสำคัญๆ ในช่วงปี 2561-2562 โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่บริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาในปีนี้ประมาณ 8 พันล้าน และปีหน้าคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้าน ซึ่งหลักๆ มาจากรายได้การขายไฟฟ้า จึงเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายลงทุน ด้านการกู้ยืมระยะยาวจะมีเพียงบางส่วนเท่านั้น และคาดว่าก้อนใหญ่จะเป็นต้นปีหน้า สำหรับในปีนี้งบประมาณส่วนใหญ่เกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับเครดิต จากซัพพลายเออร์ให้ชำระเงินส่วนใหญ่กว่า 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนมี.ค. ปีหน้า จึงไม่กระทบกับแผนการจัดการด้านการเงินแต่อย่างใด สำหรับความคืบหน้าโครงการเป็นไปด้วยดี กังหันลมชุดแรกมาถึงแล้วเมื่อวันที่ 14 มีนาคม และจะนำไปติดตั้งทันที จึงมั่นใจว่าโครงการจะแล้วเสร็จและ COD ได้ปลายปีนี้”

นอกจากนี้ในปี 2561 จะเริ่มลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 1 กิ๊กะวัตต์ โดยจะใช้เงินลงทุนราว 4พันล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเครื่องจักร และอุปกรณ์ ซึ่งบริษัทได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจักรที่เป็นหัวใจสำคัญไปเรียบร้อยแล้ว และจะลงทุนระบบสาธารณูปโภคไว้เผื่อสำหรับรองรับการก่อสร้างโรงงานทั้งหมด 50 กิ๊กะวัตต์ด้วย และได้ยื่นขอรับการส่งเสริมภายใต้พรบ.EEC จึงไม่มีปัญหาเรื่องผังเมืองตามที่เป็นข่าวลือแต่อย่างใด

ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในช่วงกลางปี 2561 นี้ และจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2562 จากนั้นจะมีเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เฟสแรก แบตเตอรี่จากโรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีที่ป้องกันการเกิดไฟไหม้ จึงมีความปลอดภัยสูง และจะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ ส่วนเฟสที่สองอีก 49 กิ๊กะวัตต์นั้น จะยังคงมุ่งเน้นเป้าหมายอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเป็นหลัก และสามารถรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ ซึ่งจะมีการจัดโครงสร้างการลงทุนร่วมกับพันธมิตรโดยเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน

เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หลายประเทศทั่วโลกมีการประกาศนโยบายและแผนการลงทุนผลิตแบตเตอรี่เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ สอดคล้องกับทิศทางที่บริษัทวางแผนไว้ บริษัทได้ศึกษาล่วงหน้าเกือบ 2 ปีแล้ว จึงมีความพร้อมและได้รับเลือกให้เป็น Quick Win Projectภายใต้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 และได้รับการสนับสนุนจาก EECทุกๆ ด้าน ซึ่งผลสำเร็จของโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้นอกจากจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเพราะแบตเตอรี่คิดเป็นสัดส่วนถึง 40-50% ของต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันไทยมีการผลิตรถยนต์ถึงปีละประมาณ 2ล้านคัน และส่งออกกว่า 1.1 ล้านคัน มูลค่ารวมกว่า 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6.6% ของจีดีพี ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญอันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 12ของโลก มีการจ้างงานจากอุตสาหกรรมนี้ถึงกว่า 5.5 แสนคน การเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นสาระสำคัญ บริษัทมองเห็นโอกาสอันสำคัญนี้ และพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากจะสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แล้ว บริษัทยังได้ทำการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นฝีมือของคนไทย 100% ด้วยงบประมาณการทำ R&D ในปี 2560 เพียง 11.21 ล้านบาท เท่านั้นซึ่งเป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการพัฒนารถยนต์ของผู้ผลิตรายอื่น พร้อมทั้งลงทุนทำสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและมีเป้าหมายติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,000 สถานีทั่วประเทศภายในปีนี้

“การที่นักวิเคราะห์แต่ละรายมีความเห็นด้านราคาหุ้นแตกต่างกันระหว่าง 27 – 110 บาทนั้น เป็นเหตุจากความรู้ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัทที่ไม่เท่ากัน ซึ่งบริษัทยินดีให้ข้อมูลโดยเท่าเทียมกัน ส่วนที่ปรากฎกระแสข่าวลือต่างๆ ซึ่งรวมถึงลือว่า ผมและภรรยา รวมทั้งครอบครัวขายหุ้น EAออกมาในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ผมขอให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มั่นใจได้ว่าผมและผู้บริหารตลอดจนพนักงานทุกคนจะร่วมกันมุ่งมั่นทำงานตามแผนงานต่างๆ เพื่อทำให้ EA เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายสมโภชน์ อาหุนัย กล่าวในที่สุด

18 views
bottom of page