แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย จัดงบ 300 ล้านบาทลงทุนดิจิทัล แพลตฟอร์ม ไม่ได้เอาครบเหมือนแบงก์ใหญ่ ขอเน้นให้บริการสินเชื่อเป็นหลัก เผยยกของเวียดนามที่ให้บริการอยู่แล้วมาทั้งกระบิ ด้านสัญญาดิจิทัล แบงกิ้งกับ AIS หมดแล้ว รอเจรจาต่อสัญญาใหม่ แต่ส่วน Banking Agent ยังดำเนินการต่อไปได้ เผยแผนธุรกิจปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อโต 5% หนี้เสียไม่เกิน 5%
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมงบลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยมุ่งเน้นบริการด้านสินเชื่อแก่ลูกค้าทุกกลุ่มเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการลงทุนครั้งเดียว และในอนาคตสามารถเสริมโมดูลหรือฟังก์ชั่นบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเข้าไปในแพลตฟอร์มนี้ได้
ทั้งนี้ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ของซีไอเอ็มบี ไทย จะเป็นระบบเดียวกับที่ซีไอเอ็มบีในประเทศเวียดนามได้เปิดให้บริการประชาชนในประเทศเวียดนามไปก่อนหน้านี้ โดยซีไอเอ็มบี ไทยจะยกระบบทั้งหมดของเวียดนามที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วมาใช้งาน ซึ่งผู้ให้บริการระบบเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ที่จะเข้ามาวางระบบในประเทศไทยเช่นกัน
นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า สำหรับดิจิทัล แบงกิ้ง ที่ธนาคารให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้ในรูปแบบ Beat Banking ที่เป็นการร่วมมือกับ AIS ปัจจุบันได้หมดสัญญาในส่วน Exclusive ไปแล้ว และธนาคารอยู่ระหว่างขอต่อสัญญา ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันทาง AIS หันไปให้ความสำคัญกับ Internet of Things (IoT) เป็นหลัก และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีมุมมองต่อธุรกิจการเงินอย่างไร แต่เชื่อว่าเมื่อทาง AIS เห็นว่าธุรกิจการเงินก็มีส่วนสำคัญเชื่อมโยงกับ IoT น่าจะมีการต่อสัญญาต่อไป
อย่างไรก็ดี สำหรับสัญญาในส่วนที่ AIS ได้ให้ศูนย์บริการและร้านค้าเครือข่ายในเครือเป็นจุดรับฝากเงินของธนาคาร หรือเป็น Banking Agent มาตั้งแต่ปี 2558 ยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และธนาคารยังต้องการให้ AIS เป็น Bankig Agent ต่อไป เนื่องจากซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องมี Banking Agent เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า
ด้าน นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ธนาคารทำผลงานได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน และปี 2561-2562 นับเป็นก้าวแรกของโครงการ FAST FORWARD คือ การเดินหน้าสู่เป้าหมายของการก้าวขึ้นเป็นธนาคารระดับกลางที่แข็งแกร่งที่สุดด้านอาเซียนในประเทศไทย ภายในปี 2565 หรือเป็นธนาคารที่มีกำไรก่อนหักสำรองในระดับ 12,000-15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เนื่องจากในปีที่ผ่านมาธนาคารมีกำไรก่อนหักสำรองอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยการมีกำไรก่อนสำรองตามเป้าหมาย ธนาคารจะวางกลยุทธ์สร้างการขยายตัวทางด้านสินเชื่อของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนมากเมื่อมีการเปิดใช้ e-Payment เหมือนกับธนาคารอื่นๆ ทำให้ในระยะต่อไปรายได้ค่าธรรมเนียมจะเพิ่มขึ้นและเป็นส่วนสำคัญของกำไรก่อนหักสำรอง
ทั้งนี้ ในปี 2561 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อและเงินฝากเติบโตในระดับเดียวกันที่ 5% สูงขึ้นจากปีก่อนที่เติบโต 3.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ประมาณการว่าจะเติบโตที่ระดับ 4% และรักษาระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้อยู่ในระดับ 3.8% จากปีก่อนอยู่ที่ 3.89% และที่สำคัญการเพิ่มกำไรของธนาคารจะมาจากการลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% จากปีก่อนอยู่ที่ 56% นอกจากนี้จะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.8% ซึ่งส่วนหนึ่งจะเกิดจากการขาย NPL ออกไป เช่นเดียวกับปีก่อนที่มีการขาย NPL ออกไป 2 ครั้งมูลค่ารวม 3.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารมีเป้าหมายการทำกำไร หากยังคงมีปัจจัยที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้ธนาคารโดยการตั้งสำรองให้เพียงพอ ซึ่งในปีนี้ธนาคารมีแนวโน้มตั้งสำรองฯต่อหนี้สูญ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100% จากสิ้นปีก่อนที่ 93.2%
นายกิตติพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ทางด้านธุรกิจรายย่อย ของธนาคารทำได้ดีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายหลักของตลาด Wealth ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ซับซ้อน และตอบความต้องการของลูกค้าที่ต้องการทางเลือกใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจากฝั่งธุรกิจบริหารเงิน ขณะเดียวกัน ในฝั่งของสินเชื่อรายย่อยก็เป็นที่จับตาของตลาด จากจุดแข็งของการเดินหน้าทำ risk based pricing ทำให้สามารถตอบแทนลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ดังนั้น ธุรกิจรายย่อยถือเป็นตลาดที่ธนาคารมีศักยภาพในการแข่งขัน ธนาคารจะเดินหน้าบุกตลาดนี้ต่อไปภายใต้ความท้าทายที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น
ส่วนพาณิชยธนกิจ หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ธนาคารเห็นโอกาสที่จะเติบโตจากตลาดลูกค้า SME ที่จะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ และมองเห็นโอกาสการเติบโตจากแนวทางการพัฒนา EEC ของประเทศ โดยธนาคารจะส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความสามารถหรือพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนผลักดันลูกค้าให้เป็น Smart SME ให้สามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก้าวทันเทคโนโลยีการผลิต มีนวัตกรรมและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น แม้ในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเผชิญภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย แต่คาดว่าช่วงครึ่งหลังของปีนี้ภาพรวมตลาดจะกลับมาสดใสอีกครั้ง
สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ในปีที่ผ่านมาธนาคารมีดีลที่หลากหลายมากขึ้น และมีดีลสำคัญของประเทศ ประกอบไปด้วยการนำเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ บมจ. บีกริม เพาเวอร์ และ บมจ. ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ การได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายสินทรัพย์ของ ของ บลจ.กรุงไทย และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บมจ. บีซีพีจี ในการซื้อโครงการไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับปีนี้การสร้างทีมเสริมทัพผู้เชี่ยวชาญเข้ามา ผนวกกับเครือข่ายอันแข็งแกร่งของอาเซียน ธนาคารจะยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์พาลูกค้าไปโตในอาเซียน