top of page
369286.jpg

“ไทคอน” รุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม...ทุ่มงบลงทุน 10,000 ล้านบาท


“ไทคอน” ผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เผยโรดแมป 3 ปี ทะยานสู่ผู้นำอันดับหนึ่งในระดับอาเซียน ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงานที่จะเป็น “ผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์อันทรงคุณค่าเพื่อลูกค้า” หรือ “Delivering Valuable Experiences” ทุ่มงบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ Total Dimension เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ ผ่านแผนธุรกิจเชิงรุก 4 ด้าน ทั้ง “รุกเจาะตลาดด้วยจุดแข็งด้านบริการที่ครบวงจร พร้อมเปิดธุรกิจใหม่ขยายฐานลูกค้า” “รุกสร้างนวัตกรรมให้องค์กรและผลิตภัณฑ์” “รุกขยายพื้นที่ยุทธศาสตร์ ผลักดันธุรกิจให้เติบโต” และ “รุกวางรากฐานการเงินที่แข็งแกร่ง” มั่นใจครองความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง หลังกำไรสุทธิปี 2560 เติบโตขึ้น 73%จากปีที่ผ่านมา พร้อมตั้งเป้าปี 2561 เติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับภาพรวมตลาดที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนที่กำลังฟื้นตัว

นายวีรพันธ์ พูลเกษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON กล่าวว่า ไทคอนในฐานะผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจรในอาเซียน ที่ก่อตั้งขึ้นในไทยตั้งแต่ปี 2533 ดำเนินธุรกิจในการส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ทั้งโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่มีคุณภาพสูง ทันสมัยในระดับสากล ทั้งในรูปแบบพร้อมใช้ (Ready-Built) และสร้างตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) รวมถึงการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ส่งผลให้ไทคอนมีลูกค้าชั้นนำให้ความไว้วางใจในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ แอมเวย์ วัตสัน ลอรีอัล เนสท์เล่ย์ ดีเอชแอล ดีเคเอสเอช ลาซาด้า แมคโคร ฟอร์ด มิตซูบิชิ บีเอ็มดับเบิ้ลยู ไทยเบฟเวอเรจ บิ๊กซี เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นต้น ทำให้ไทคอนสามารถครองความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยสัดส่วนการตลาดกว่า 48% หรือคิดเป็นพื้นที่ในการให้บริการกว่า 2.7 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ ไทคอนยังเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ของไทยที่จัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน หรือ TREIT ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทคอนสามารถขยายธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“ในปีที่ผ่านมาถือเป็นอีกปีที่มีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของบริษัทฯ อาทิ การเข้ามาถือหุ้นของ บริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยต์ ลิมิเต็ด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด) ซึ่งมีธุรกิจหลักในการพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ โรงแรม ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ถือเป็นการเริ่มต้นในการปรับโมเดลธุรกิจของไทคอนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเริ่มส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากการปรับโครงสร้างทางการเงิน จากเงินเพิ่มทุนกว่า 13,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มรายได้ค่าเช่ามากขึ้น สร้างความมั่นคงในโครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ ทำให้ผลการดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมาน่าพึงพอใจ จะเห็นได้จากผลประกอบการรวมกว่า 2,086 ล้านบาท โดยมียอดกำไรสุทธิ 482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% จากปี 2559 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ผนึกกำลังกับบริษัท เซอร์ยา ซีเมสตา อินเตอร์นูซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ SSIA ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมาก็สามารถคว้าบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างยูนิลีเวอร์ ยามาฮ่า อายิโนะโมะโต๊ะ และหัวเว่ย มาเป็นลูกค้า และได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดี โดยมีผู้เช่าคลังสินค้าเต็มทุกพื้นที่กว่า 100,000 ตารางเมตร

ในปีที่ผ่านมา ไทคอนยังประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนจากการคว้ามาตรฐาน LEED® Building (Leadership in Energy and Environmental Design) ระดับโกลด์ และมาตรฐาน EDGE (Excellence in Design for Greater Efficiencies) โครงการ TPARK บางพลี 4 คว้ามาตรฐาน LEED ระดับซิลเวอร์ให้กับคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit ของแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลกบนพื้นที่โครงการ TPARK บางนา นอกจากนี้ไทคอนยังมีแผนที่จะเตรียมลงทุนเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาการใช้แผง Solar Cell ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้าและบริษัท” นายวีรพันธ์ กล่าว

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในปีนี้ คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองเห็นสัญญาณบวกจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แรงหนุนด้านการลงทุนของรัฐบาล อาทิ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนที่มาจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจ New S-Curve รวมถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่จะนำไปสู่ความต้องการด้านการจัดเก็บและกระจายสินค้า ซึ่งปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ความต้องการโรงงานและคลังสินค้าที่มีมาตรฐานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายวีรพันธ์ กล่าวต่อไปว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยบวกในตลาดดังที่ได้กล่าวมา บริษัทจึงได้ทุ่มงบลงทุน 10,000 ล้านบาท พร้อมประกาศโรดแมปแผนการดำเนินธุรกิจ 3 ปี ภายใต้ปรัชญาการดำเนินงานในการเป็น “ผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์อันทรงคุณค่าเพื่อลูกค้า” หรือ “Delivering Valuable Experiences” โดยเราจะเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดของลูกค้าและพันธมิตร ที่พร้อมจะส่งมอบสินค้า โซลูชั่น และบริการที่ตรงความต้องการ ที่สำคัญจะใช้นโยบายเชิงกลยุทธ์ ในการขับเคลื่อนองค์กรและพันธมิตรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ หรืออุตสาหกรรมยุค 4.0 ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตอันใกล้”

ด้าน นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับโรดแมปหรือแผนการดำเนินธุรกิจ 3 ปี ไทคอนจะใช้กลยุทธ์ Total Dimension ขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติผ่านแผนธุรกิจเชิงรุก 4 ด้าน ดังนี้

· “รุกเจาะตลาดด้วยจุดแข็งด้านบริการที่ครบวงจร พร้อมเปิดธุรกิจใหม่ขยายฐานลูกค้า” ตอกย้ำความเชี่ยวชาญในการให้บริการแบบครบวงจร ทั้งรูปแบบพร้อมใช้ (Ready-Built) และพัฒนาตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนในกลุ่ม Built-to-Suit มากขึ้น เป็น 100,000 ตารางเมตรต่อปี โดยจะชูจุดแข็งแนวทางการทำงานแบบ Co-creation ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจของลูกค้าได้อย่างตรงจุด โดยไทคอนกำหนดเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่ายของกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด (FPL) นอกจากนี้ไทคอนยังมีโครงการที่จะจับมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงระดับสากลในการเปิดตัวธุรกิจใหม่ที่หนุนการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-Curve ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการขยายธุรกิจ และกลุ่มลูกค้าอีกก้าวหนึ่งของบริษัทอีกด้วย

  • “รุกสร้างนวัตกรรมให้องค์กรและผลิตภัณฑ์” ปรับองค์กรให้พร้อมรุกไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น ชูกลยุทธ์สร้างนวัตกรรมทั้งในกระบวนการทำงานและนวัตกรรมของสินค้าและบริการต่างๆ การเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์โดยการเพิ่มเติมเทคโนโลยีสมัยใหม่ การรวมจุดแข็งของบริษัทที่มีอาคารทั้งแบบ Ready-Built และ Built-to-Suit เพื่อสร้างโครงข่ายการผลิตและโลจิสติกส์ (Production & Logistics Footprints) ที่มีเอกลักษณ์ ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • “รุกผลักดันธุรกิจให้เติบโต” ไทคอนตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) เป็น 85% ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 69% นอกจากนี้ยังมีแผนขยายพื้นที่ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยวางแผนขยายการพัฒนาเพิ่มเติมในเขตอีอีซี เตรียมร่วมกับบริษัทพันธมิตรในกลุ่มผู้ถือหุ้นเปิดคลังที่ดินร่วมพัฒนาศักยภาพรองรับกับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น จีน และยุโรป สำหรับในต่างประเทศ ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดอินโดนีเซียที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเตรียมรุกตลาดกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ทั้งนี้จะขยายไปตามการขยายธุรกิจของเฟรเซอร์สที่มีธุรกิจในหลากหลายประเทศอยู่แล้ว

  • “รุกวางรากฐานการเงินที่แข็งแกร่ง สร้างสมดุลด้านการบริหารจัดการรายได้” จากปีที่ผ่านมาไทคอนได้มีการวางรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากการเพิ่มทุนของกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ส่งผลให้ไทคอนมีสภาพคล่องทางการเงินเพื่อใช้ในการลงทุนรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไทคอนยังกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างสมดุลในโครงสร้างรายได้ของธุรกิจ ระหว่างรายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากทรัพย์สิน (Recurring Income) พร้อมทั้งเชื่อมั่นใน TREIT ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตผ่านการขายทรัพย์สินแบบครบวงจรและรายได้อื่นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเติบโตระยะยาว

“จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ และแผนธุรกิจต่างๆ ภายใต้โรดแมป 3 ปีที่วางไว้ ตลอดจนการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมและกลุ่มนักลงทุน เรามั่นใจว่าจะช่วยผลักดันกำไรสุทธิปีนี้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถครองความเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้กว้างขึ้น และก้าวสู่ผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในระดับอาเซียนภายในปี 2020 ด้วยพื้นที่บริหารจัดการกว่า 3 ล้านตารางเมตร” นายวีรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

31 views
bottom of page