top of page
358556.jpg

ลุ้นตลาดหุ้นโลกจบรอบพักฐาน


ไม่กลัวดอกเบี้ยขึ้น !

การปรับตัวขึ้นมาอีกครั้งของตลาดหุ้นสหรัฐ โดยที่ล่าสุดดัชนี S&P500 กลับมามีสัญญาณซื้อเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้นอีกครั้ง ทำให้ความเชื่อที่ว่าการพักฐานในระยะสั้นของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐได้จบลงแล้วมีสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสะท้อนว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ใช้ประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญมากเหมือนที่นักลงทุนกังวลกันก่อนหน้านี้ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มค่อยปรับตัวลง หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขานรับการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30-31 ม.ค. 2561 ที่ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะดีดตัวขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

ขณะที่ล่าสุดนอกจากโกลด์แมน แซคส์ จะระบุว่ามีโอกาสมากกว่า 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 20-21 มี.ค.2561 แล้ว CME Group ก็ระบุว่านักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 83% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. 2561 สู่ระดับ 1.50-1.75% เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในจำนวน 3 ครั้งของปีนี้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้คือเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค.2561 และทั้งปี 2561 ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง

ก็ต้องยอมรับว่าประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ และตลาดคงไม่หวั่นไหวกับประเด็นดังกล่าวอีก ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุดก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หลังจากที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนของนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 44.7% สูงกว่าสัดส่วนของนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะกลับเป็นขาลงแล้ว หรือ Bearish ที่ 22.8% พอสมควร

ทั้งนี้ “นายหมูบิน” มองว่าความเห็นของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ที่ระบุว่าเฟดจะต้องใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในปีนี้ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่ง หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 45 ปี และตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 155 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดต่อไปอีกหลายปี นอกจากนี้ในเชิง Tactical การที่แนวโน้มที่ Spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 และ 3 ปียังคงปรับตัวลดลงต่อ น่าจะส่งผลให้ Momentum การฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกก็น่าจะยังคงต่อเนื่องไปได้

สภาพคล่องโลกยังไหลต่อ : นอกจากปัจจัยจากฝั่งสหรัฐที่ดูเหมือนว่าตลาดเริ่มที่จะเฉยๆกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐในปีนี้แล้ว สถานการณ์ในภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะในส่วนของสภาพคล่องก็เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของตลาดหุ้นโลกเช่นเดียวกัน โดยที่ในฝั่งของยุโรป แม้ว่าล่าสุดดัชนี Stoxx50 จะยังคงไม่สามารถกลับมามีสัญญาณซื้อที่ชัดเจนได้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับการที่ลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เริ่มลดน้ำหนักลง หลังจากที่ ECB เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25 ม.ค.2561 ซึ่งบ่งชี้ว่ากรรมการ ECB มองว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านการสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของยุโรโซนกำลังปรับตัวขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น โดยคาดว่าจะแตะระดับ 1.5%, 1.7% และ 1.8% ในปี 2561, 2562 และ 2563 ตามลำดับ

แต่การที่ล่าสุดการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนปรับตัวลง 0.9% ในเดือน ม.ค.2561 ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานไม่นับหมวดพลังงาน และอาหาร ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ความสำคัญลดลงถึง 1.3% ในเดือน ม.ค. 2561 ทำให้โอกาสที่ ECB จะกลับมาใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในระยะสั้นๆนี้ “นายหมูบิน” มองว่าเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่พี่ใหญ่อย่างเยอรมันมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดไม่สวยเท่าไรนัก โดยล่าสุดสำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4 ปี 2560 ขยายตัว 2.5% ซึ่งเป็นสถิติที่อ่อนตัวลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้น ที่ระบุว่า GDP ไตรมาส 4 จะขยายตัว 2.9%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 115.4 ในเดือน ก.พ. 2561 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 117.0 ด้วย ในส่วนของเอเชียเองชัดเจนแล้วว่าพี่ใหญ่อย่างญี่ปุ่นยังคงเดินหน้ามาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่อไป โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศเดินหน้าโครงการรับซื้อพันธบัตร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวลงไปสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน สอดคล้องกับในฝั่งของจีน ที่ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้กลับมาดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations - OMO) อีกครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนคลายภาวะสภาพคล่องตึงตัวในระบบธนาคาร เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ และเพื่อชดเชยการสำรองเงินสด และการชำระภาษี หลังจากที่เป็นวันหยุดเนื่องในเทศกาลตรุษจีนนาน 1 สัปดาห์ต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ PBOC ได้ระงับการดำเนินการทางตลาดเงินติดต่อกัน 16 วันทำการ

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทย การที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไม่เห็นชอบรายชื่อผู้เหมาะสมได้รับเลือกเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับโรดแมปเลือกตั้งเพิ่มขึ้นแน่นอนในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ และการที่ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงอยู่ที่แนวโน้มของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในฝั่งขายต่อไป หลังจากที่ล่าสุด Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” ต่ำกว่า Zero-Line สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงอยู่ฝั่งขายอย่างต่อเนื่องในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในแนวโน้มของการปรับตัวขึ้นที่อ่อนกว่า หรือ Underperform เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ยังคงไม่กลับไปปิดเหนือ 1,850 (+/-5) จุดอีกครั้ง เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.00-12.00 น.ทาง FM 101 เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

62 views
bottom of page