top of page
312345.jpg

นักธุรกิจไม่หวั่น "สงครามการค้า"....ทรัมป์แค่ขู่


ทรัมป์ ประกาศกร้าว ไม่อดทนกับการค้าที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบอีกต่อไป กลางที่ประชุมเอเปก พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล จับไต๋ทรัมป์ทำสงครามการค้าแค่ที่ปาก ในความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ย้ำไม่ได้ให้น้ำหนักต่อคำพูดของ ทรัมป์ แต่อย่างใด

ภายหลังจากการเดินทางมาเยือน 5 ประเทศเอเชีย ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยทริปที่ยาวนานที่สุดถึง 11 วัน นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออนทัวร์เอเชียยาวนานที่สุดในรอบ 25 ปี หลังจากที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิ้ลยู บุช เคยเดินทางร่วมเจรจาการค้าในเอเชียนาน 12 วันในปี 1992 แต่เรื่องระยะเวลาการออนทัวร์เอเชีย ไม่สำคัญเท่ากับคำกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่โชว์ความแข็งกร้าวในฐานะประเทศผู้นำโลก ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากที่ไปพบกับผู้นำ3 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเหนือ มาก่อนหน้าแล้ว

ทรัมป์ กล่าวในงานการประชุม เอเปก โดยมีใจความหลักคือ การยืนยันถึงแนวทาง อเมริกาเฟิร์สต์ และตอกย้ำว่าจะไม่ยอมนิ่งเฉยในเรื่องของสถานการณ์ทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ตำแหน่งงานของชาวอเมริกันถูกดึงดูดออกนอกประเทศจนสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่ง และจะไม่ยอมอดทนอดกลั้นกับการเสียเปรียบทางการค้าอีกต่อไป โดยเรียกร้องให้ประชาคมโลกดำเนินการค้าอย่างสมดุลยุติธรรมมากขึ้น และย้ำว่าการค้าของสหรัฐฯ ไม่เป็นไปอย่างสมดุล เพราะสหรัฐฯพยายามลดข้อกีดกันทางการค้าและลดกำแพงภาษี แต่หลายประเทศกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม ทำให้สหรัฐฯ ต้องดำเนินการค้าแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศ

ข้อความที่ ทรัมป์ ดังกล่าวทำให้ เกิดคำถามว่า อาจจะเกิดสงคราม และการตอบโต้ทางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่รุนแรง ขึ้นหรือไม่ในอนาคต

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผู้คร่ำหวดในวงการการค้าไทยและต่างประเทศ กล่าวให้ความเห็น กับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ในประเด็นนี้ว่า ในคำกล่าวของ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ประชุมเอเปกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีความหมายเหมือนว่า อเมริกาต้องการประกาศสงครามการค้า แต่ในความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดสงครามการค้า และไม่ได้ให้น้ำหนักต่อคำพูดของ ทรัมป์ แต่อย่างใด

“เป็นไปไม่ได้ เพราะการตอบโต้การค้า ทรัมป์ พูดตลอด เช่น สมัยหาเสียง ก็พูดว่าจะต้องขึ้นภาษีสินค้าจีน 30-40% เพื่อแก้ไขดุลการค้า หมายถึงว่า สินค้าจากจีน เข้าไปขายในอเมริกาต้องแพงๆหน่อย จีนจะได้ขายของได้น้อยหน่อย แต่ทำไม่ได้อยู่แล้วครับ เพราะว่ามันผิดกฎการค้า ถ้าไปขึ้นภาษีเรื่องใหญ่เลย แล้วต้นทุนสินค้าในอเมริกาก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ดี เช่นของ 10 บาท ตอนนี้คุณเก็บภาษี 1 บาท ขึ้นภาษีเป็น 4 บาท ของก็กลายเป็นราคา 14 บาท ไปๆมาๆ กลายเป็นคนซื้อของในอเมริกาซื้อแพงเท่านั้นเอง จีนก็ยังขายได้เหมือนเดิม นี่ทำไม่ได้อยู่แล้ว และถ้าทำจีนก็ตอบโต้ คุณขึ้นผม ผมขึ้นคุณ แบบนี้ทำไม่ได้หรอกครับ”

นายพรศิลป์ กล่าวและให้ความเห็นว่า แทนที่ ทรัมป์ จะประกาศสงครามการค้า ที่ยังไงก็สู้ไม่ได้ สู้เอาเวลาไปศึกษาเรื่องในประเทศอเมริกาดีกว่า ว่าวิธีการผลิตเป็นอย่างไร ต้นทุนแพงอยู่ตรงไหน หาทางแก้ไขดีกว่า หรือธุรกิจอะไรที่ได้เปรียบคุณก็ทำให้เก่งๆ บริการอะไรที่ดีกว่าจีน เช่นไอที มีดีอีกเยอะ ไปขยายตรงนั้นดีกว่า

“ความหมายที่พูดเป็นอย่างนั้น คือเหมือนขึงขังประกาศสงครามการค้า แต่ว่าความเป็นจริงจะทำได้จริงแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องของสงครามการค้าใครก็ไม่อยากให้เกิด เรื่องของการตอบโต้กันก็ทำกันมาในระยะ 10-20 ปีเราก็คุยกันตลอด เรื่องโลกโลกาภิวัฒน์ จะเห็นว่าหลัง ทรัมป์พูด ประธานาธิบดีจีนก็พูด เวลาฟังนี่ตรงกันข้ามเลย

ผมเองติดตามทรัมป์มาอย่างใกล้ชิด ฟังแล้วเป็นห่วง เวลาทรัมป์พูดในฐานะ ประธานาธิบดี หลายครั้งที่พูดคนเริ่มจับทางเขาได้ว่าพูดอย่างแล้วเดี๋ยวก็พูดอีกอย่าง อันนี้น่ากลัว อย่างตอนหาเสียง เขาใช้คำว่า raping ซึ่งเป็นคำแรง คือกล่าวหาว่าจีนเอาเปรียบอเมริกามาก ขาดดุลการค้าปีหนึ่งกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเยอะมาก ทีนี้ก็หมายความว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องตอบโต้กัน แต่เอาเข้าจริงล่าสุดที่ทรัมป์ไปจีน ทรัมป์ไปพูดว่า ไม่ว่าหรอกนะ เพราะจีนต้องทำหน้าที่ของเขา อันนี้ก็เลยทำให้คนเริ่มงง แล้วก็มีคนวิเคราะห์ว่า ทรัมป์ เป็นของขวัญของจีน คือหมายความว่า คนอเมริกาเลือกทรัมป์มาให้เป็นของขวัญของจีน พูดภาษาไทยคือ หมูอยู่ในอวย

คือสงครามอยู่ที่ปากทรัมป์พูด แต่เอาจริงคือ ทำไม่ได้ ผมก็เลยเป็นห่วงอเมริกานิดหน่อยว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องการค้า เป็นปกติว่าทุกคนมีเป้าหมายคือกำไร ในฐานะคู่ค้ากันก็คิดแบบเดียวกันจริงมั้ย ทีนี้ถ้าศึกษาตลาดเลยจะเข้าใจปรับปรุงแก้ไข ยกตัวอย่างอเมริกากับจีน หรือกับไทยก็ได้ ว่าในการค้า ไม่ว่าจะมีข้อตกลงทางการค้าก็ดี หรือไม่มีข้อตกลงทางการค้าก็ดี เราก็จะต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เราจะไปหวังว่าเจรจาแล้วเอาข้อเจรจานั้นมาทำประโยชน์โดยอัตโนมัติ มันเป็นไปไม่ได้ คุณจะเอาข้อตกลงนั้นมาแล้วปฏิบัติตามนั้นไปเลยโดยไม่พัฒนามันเป็นไปไม่ได้ครับ

สมมติมีสินค้าตัวหนึ่งเราเจรจาประเทศคู่ค้าได้ ลดได้ 10% จาก 20% ,มันถูกลง 10% อัตโนมัติเราขายเขาไปในราคาถูกลง 10% แต่ถ้าเราคิดแค่นั้นไม่ทันระวังตัว แล้วประเทศคู่แข่งเรา เขาไปพัฒนาในบ้านเขา สมมติลดต้นทุนลง 11% เราก็ขายไม่ได้อยู่ดี มันต้องมองสองมุม”

นายพรศิลป์ให้ความเห็นต่อไปว่า ใครก็ตามที่ค้าขาย ไม่ว่าจะไทย หรือแม้แต่อเมริกา ที่แพ้ดุลการค้าก็เพราะไม่รู้จักไปปรับปรุงต่อ

“คือเขานึกว่าสัญญานี้เป็นเหมือนใบเบิกทาง เหมือนมีกุญแจประตูบ้านเขาเปิดเข้าไป มันเป็นไปไม่ได้ คิดว่าเรื่องนี้เข้าใจผิดกันหมดครับ ทรัมป์ ยังพูดบอกว่าอเมริกาต้องยอมเจรจาสองฝ่าย เป็นทวิภาคีมากกว่าเจรจาหลายฝ่าย ซึ่งเจรจาหลายฝ่ายทำให้เขาเสียหาย ผมก็ยังนึกไม่ออกว่าเจรจาหลายฝ่ายเสียเปรียบยังไง คือเจรจานี่ทุกคนได้เปรียบทั้งนั้น

ผมยกตัวอย่างว่า FTA ที่อเมริกาทำกับเกาหลี มันเป็นสองฝ่ายใช่หรือไม่ ถ้าอย่างนั้นเขาชอบแบบนี้เขาน่าจะได้เปรียบใช่หรือไม่ แต่ไปดูสิ อเมริกาขาดดุลการค้าเกาหลีปีหนึ่งหลายหมื่นล้านเหมือนกัน แล้วมันได้เปรียบยังไง ไม่เข้าใจแกคิดอะไรอยู่

ผมอยากฝากความเห็นไปแล้วกัน รวมทั้งฝากถึงไทยด้วย ว่า เอฟทีเอ ไม่ใช่ยาวิเศษ มันเป็นแค่เครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ เราต้องใช้เครื่องมือนี้ให้เป็นประโยชน์ คือตกลงแล้วก็มาพัฒนาปรับปรุงใช้ประโยชน์จากการเจรจาด้วย ไม่ใช่เจรจาแล้วบอกว่าเราชนะแน่นอน ไม่มีอะไรชนะแน่นอนหรอกครับ อาจแพ้มากขึ้นไปอีกก็ได้”

พรศิลป์ชี้ให้เห็น ถึงกรณีการค้า อเมริกากับญี่ปุ่นด้วยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันญี่ปุ่นต้องเกาะอเมริกาไว้ เพราะว่า ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ตั้งแต่สงครามโลก ที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถมีกองทัพเหมือนประเทศอื่นได้ แม้ตอนหลังอาจจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ และตอนนี้มีเกาหลีเหนือที่อันตรายกับญี่ปุ่น

“ดังนั้นเขาต้องเข้ากับสหรัฐเอาไว้ เผื่อมีอะไรก็จะมาช่วย แล้วก็มีฐานทัพที่โอกินาว่า เป็นฐานเสียงให้อาเบะ ตอนเลือกตั้งก็ช่วยอาเบะได้เยอะ เพราะคนญี่ปุ่นก็ไม่อยากมีปัญหากับใครแล้ว ไม่อยากให้มีสงคราม

ขณะเดียวกันด้านการค้าญี่ปุ่นไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้แพ้อเมริกา ซึ่งแน่นอนสหรัฐก็ติดใจอยู่เพราะยังขาดดุลการค้าญี่ปุ่นอยู่เกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้นผมก็เชื่อว่าเรื่องอาวุธนี่ทรัมป์หรือญี่ปุ่นต้องการคุยกันต่อไป อเมริกามีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ ประเทศไหนก็ตามที่มีความห่วงใยเรื่องสงคราม ก็จะทำการค้ากันต่อไปได้ แต่ถ้าค้าขายปกติอเมริกาก็ยังคงต้องแพ้ต่อไปหากตัวเองไม่มาปรับปรุงนะ เหมือนคราวนี้ที่จีน ก็เซ็นสัญญากัน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ซื้อ โบอิ้งตั้ง 300 ลำ ก็เป็นจุดเด่นขอสหรัฐ เพราะจีนยังไม่สามารถสร้างเครื่องบินได้ขนาดนั้น แต่ว่าขายแค่นี้ก็ไม่ได้ทำให้ดุลการค้าดีขึ้น เพราะเครื่องบินลำหนึ่งก็ใช้งานเป็นสิบปี ต้องมีอย่างอื่นด้วย ต้องเป็นการบ้านของทรัมป์ที่ต้องไปทำต่อไป ในอดีตที่ผ่านมาจีนยังไม่แก้ไขการค้าเศรษฐกิจย้อนหลังเมื่อ 20 ปีก่อน ก็ชนะดุลการค้าตลอดเวลาอยู่แล้ว และอเมริกาก็บ่นตลอดว่าเธอต้องซื้อฉันมากๆหน่อย ในที่สุดก็ทำอะไรไม่ได้

กรณีญี่ปุ่น ต้องไปประชุมที่กลุ่มยุโรป ที่พลาซ่าแอคคอร์ด กดดันให้เงินเยนแข็งขึ้น จาก 200 กว่า เป็น 70 กว่าเยน ก็ไม่ได้ช่วย ยังแพ้ญี่ปุ่นอยู่ดี เพราะเขามีความยืดหยุ่น ปรับตัวกันเยอะ แต่การทำอย่างนั้นกลับทำให้ญี่ปุ่นรวยขึ้นเป็น 3 เท่าทันที ซึ่งกดดันให้เงินแข็งขึ้น เพื่อดุลการค้าสำหรับสหรัฐ ยุโรปดีขึ้น แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ คือที่สุดต้องไปปรับปรุงภายในให้ต้นทุนถูกๆ หาวิธีการแข่งขันการค้าตรงไปตรงมาดีที่สุด”

38 views
bottom of page