top of page
358556.jpg

ระวัง! โค้งสุดท้าย 2017 - หุ้นมะกันอันตราย...แนะขุนคลังจับเข่าคุยกนง.


อดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เตือนระวัง Q4 โค้งสุดท้ายปี 2017 ต้องจับตาสถานการณ์ความผันผวนในต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ตลาดหุ้นมะกัน” บูมมายาวนานกันไกลสุดๆ มาถึงเวลาอาจมีการปรับตัวแรง ขณะที่สถานการณ์การเมือง/สังคมอเมริกันออกอาการไม่เป็นโล้เป็นพาย หาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ค่าเงินดอลล์ผันผวนอาจกระทบโลก แนะรัฐมนตรีปิดห้องจับเข่าคุยกับกนง.ทุกๆ 3-6 เดือนครั้ง ถกปัญหาค่าเงินบาท, นโยบายการเงิน-เศรษฐกิจ ร่วมมือกันผ่าทางตัน ดีกว่าต่างคนต่างทำ หายกันไปคนละทิศละทาง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยทีมข่าวหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คงนโยบายดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี คิดว่าปัญหาในแง่ของเงินบาทยังคงแข็งค่าในระดับต้นๆของเอเชีย คือเป็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยอยู่ โดยส่วนตัวอยากสนับสนุนให้ทางกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติมีการปรึกษาหารือว่าจะมีวิธีบริหารจัดการค่าเงินบาทให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

“จะไม่ลดดอกเบี้ยก็ไม่ว่ากัน แต่ในแง่ของปัญหายังอยู่ คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีข้อมูลด้านเศรษฐกิจเยอะ ขณะที่ในแง่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถ้าจะนัดคุยกับทางกนง.สัก 3 หรือ 6 เดือนครั้ง แล้วมาดูข้อมูลเศรษฐกิจกันเพราะว่าทางกนง.และแบงก์ชาติจะมีข้อมูลเยอะ ถ้าเอามาขึ้นจอพูดคุยกันมาพิจารณาปัญหาในเรื่องของค่าเงิน วิธีบริหารจัดการว่าที่อื่นๆเขาทำกันอย่างไร ขณะที่เรามีทางเลือกอย่างไรบ้าง ลดดอกเบี้ยหรือไม่ลดจะเป็นอย่างไร คิดว่าถ้าได้เจอกันบ้าง และใช้ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย”

ส่วนกรณีที่แบงก์ชาติประกาศคุมเข้มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีแผน คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงของประเทศ โดยมีขนาดสินทรัพย์ 70% นั้น นายธีระชัยกล่าวว่า เวลานี้แนวโน้มหรือมาตรฐานสากล จะเน้นให้มีการทดสอบวัดสุขภาพของสถาบันการเงิน เพื่อจะให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วมีโอกาสลุกลามบานปลายจะต้องมีวิธีป้องกันความเสี่ยงต่างๆเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ หากเกิดปัญหาขึ้นมา คืออาจไม่ถึงขั้นล้มแค่เซ แต่ก็จะลากรายอื่นๆหรือทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มาก

“ลักษณะอย่างนี้ มาตรฐานในการจัดการ มาตรฐานในเรื่องของทุนหรือมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงจะต้องเข้มกว่าปกติ และที่แบงก์ชาติออกมาให้ข้อมูลว่าทุกประเทศจะมีการประเมิน ขณะที่ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย แปลว่าทางแบงก์ชาติได้ประเมินแล้วว่ารั้วรอบขอบชิดยังไม่ดีพอ ไม่ว่าจะในแง่สัดส่วนของทุนที่ยังไม่ดีพอ หรือความเข้มข้นในแง่บริหารจัดการอาจจะไม่พอ เขาก็มีการลงแส้ และผลักดันให้ 5 ธนาคารพาณิชย์มีการปรับปรุง เผื่อหากเกิดอะไรขึ้นมา ก็ยังพอมีกระจกกั้นไม่ให้ลุกลามบานปลาย” นายธีระชัยตั้งข้อสังเกตและมองว่าการประกาศเพื่อให้ 5 ธนาคารพาณิชย์รู้ตัว ซึ่งในความจริงก็คงจะรู้ตัวอยู่แล้วถึงแม้จะไม่มีการประกาศ การประกาศก็เพื่อให้มีการวางแผนแบบเข้ม และจะอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุง ดังนั้น 5 ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการปรับปรุงแบบไหนหรืออย่างไร ทางแบงก์ชาติคงเข้าไปดูแล้ว

“เรื่องนี้พวกสถาบันจัดอันดับเครดิต จะพิจารณาตรงนี้มาปรับลดเครดิตหรือไม่นั้น ผมเชื่อว่าคงไม่ และจะยิ่งทำให้ในแง่ของภาพรวมระบบสถาบันการเงินของไทยยิ่งมีเครดิตสูงขึ้น แต่ว่าแน่นอนธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งดังกล่าว จากนี้ไปบริษัทจัดอันดับเครดิตจะต้องมีการจับจ้องอย่างใกล้ชิด และถ้าหากว่ามีการระบุชื่อทั้ง 5 ธนาคารพาณิชย์มา เขาก็จะเข้าไปดูว่ามีจุดไหนที่แบงก์ชาติยังมีความรู้สึกว่ารั้วรอบที่ป้องกันคลื่นที่เกิดจาก 5 ธนาคารพาณิชย์นี้ หากสถาบันใดสถาบันหนึ่งเกิดการซวนเซ คลื่นก็จะได้ไม่กระจายไป”

นายธีระชัยยังกล่าวถึงตลาดหุ้นไทย ที่สร้างปรากฎการณ์ภายใน 1 เดือน ปรับขึ้นมากว่า 100 จุดว่าต้องยอมรับขณะนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หลายคนก็มองว่าใกล้ถึงจุดอิ่มตัว จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นมาเยอะแล้ว ทำให้หลายคนเริ่มกระจายความเสี่ยงจากการไปลงในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกานำเงินออกไปในตลาดหุ้น/ตลาดเงินหลายประเทศถือเป็นเรื่องธรรมดา และในแง่ของไทยเวลานี้ที่เข้ามาและราคาหุ้นแค่ไม่ลงก็ถือว่ากำไรแล้ว เพราะว่าจะกำไรค่าเงินกลายเป็นว่าถ้าราคาหุ้นขึ้นไปด้วยก็จะกำไร 2 ต่อ จึงเป็นที่พอใจของนักลงทุนต่างชาติ

“ในส่วนนี้เท่าที่ดูที่ผ่านมาบังเอิญผลประกอบการของบริษัทในตลาดไทยดีด้วย จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี และการกระจายก็ไม่ได้มากมาย แต่ทำไมบริษัทในตลาดหุ้นจึงกำไร แสดงให้เห็นว่าเมืองไทย กฎ กติกา แข่งขันในเรื่องการผูกขาดยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่โดยรวมแล้วในส่วนนี้ที่ผ่านมากำไรของบริษัทในตลาดหุ้นมีความคึกคัก ก็ย่อมทำให้มีเงินไหลเข้ามาและก็มีการตั้งความหวังไว้ว่าในอนาคตจะดีขึ้นต่อไปจึงเป็นเรื่องธรรมดา”

ส่วนเรื่องงบประมาณประจำปี 2561 นายธีระชัยเปิดเผยว่าจากที่ติดตามข่าวหนังสือพิมพ์คือการเก็บภาษีในขณะนี้ จะให้ถึงเป้าคงจะยากหน่อยเพราะนักธุรกิจขนาดเล็กและกลางกำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ ธุรกิจไม่สดใสสักเท่าไหร่ ดังนั้น แนวทางในการเดินหน้าของรัฐบาล โดยส่วนตัวคิดว่าคงถึงจังหวะที่ต้องคิดอ่านในการเก็บภาษีในรูปแบบอื่นที่เน้นในเรื่องของคนที่มีรายได้จำนวนมาก เหมือนอย่างที่ส่วนตัวได้เขียนหนังสือไทยแลนด์รีเซ็ทจะมีการระบุพวกภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะต้องตั้งอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าอัตราทั่วไปอยู่ที่ 7% กลุ่มฟุ่มเฟือยอาจจะปรับเพิ่มเป็น 15% แล้วสินค้าประเภทอวดรวยพวกกลุ่มซูเปอร์คาร์ก็ให้จัดเก็บมากหน่อย และการเก็บภาษีในรูปแบบอื่นๆอาจจะต้องเริ่มคิดโดยเฉพาะภาษีตลาดทุนจากการซื้อขาย จากธุรกรรม คิดว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อที่จะดูแลประชาชนในระดับรากหญ้ายังมีต่อเนื่องอีกมาก จึงถึงเวลาที่เราต้องคิดอ่านให้คนที่มีฐานะที่ดีกว่าเข้ามาช่วยรับภาระมากขึ้น

“การจัดเก็บเพิ่มแวตทั่วไป ผมมองว่าไม่ต้องเก็บเพิ่ม แต่สำหรับภาษีฟุ่มเฟือยอาจจะต้องมี คืออะไรที่เป็นผลกระทบไม่กว้าง แต่เป็นลักษณะแคบ และผลกระทบเน้นไปที่คนมีฐานะ ตรงนี้ต้องคิดอ่านมากขึ้นส่วนการเก็บภาษีเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินก็ดี ดอกเบี้ยก็ดี ส่วนนี้น่าคิด แต่ว่าการเก็บภาษีสำหรับเงินที่จะเข้ามา เป็นมาตรการแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่าจะทำให้ภาพออกมาดูติดลบหน่อย แล้วหลายประเทศพยายามไปหามาตรการอื่นที่ไม่โจ่งแจ้งเท่านี้ ส่วนตัวเชื่อว่าอาจมีและก็ใช้แทน คือถ้าประกาศเก็บภาษีอะไรต่างๆ มันเหมือนเอากำปั้นทุบ แต่หากเราใช้มีดหมอผ่าตัด แล้วเจาะเข้าไปจุดนี้จุดนั้นเล็กๆน้อยๆก็ทำให้เกิดการชะลอเกิดขึ้นได้”

นายธีระชัยกล่าวถึงการเตรียมตัวของนักลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ว่า เท่าที่ดูเศรษฐกิจ ก็เริ่มปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ฟังจากแบงก์ชาติก็เห็นว่าจะมีการปรับการเติบโตให้สูงขึ้น คือดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ปัญหาเวลานี้คือไม่กระจาย ผลประโยชน์แล้วผลดีของเศรษฐกิจ ยังไม่กระจายลงไปยังนักธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมเท่าที่ควรรวมถึงตัวเกษตรกรด้วย ตรงนี้จึงจำเป็นที่จะต้องคิดอ่านหาวิธีคิดใหม่ทำใหม่ในแนวที่จะต้องมีนโยบายที่เอื้ออำนวยในการกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น

“อาจจะต้องระวังความผันผวนจากต่างชาติ ที่มองคือนโยบายของสหรัฐอเมริกา เวลานี้เหมือนว่าจะเกินหน้าหรือจะเป็นชิ้นเป็นอันยังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อไปเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นเรื่องค่าเงินดอลลาร์อะไรต่างๆจะไม่ค่อยดี แล้วก็ในแง่ของตลาดหุ้นที่ว่ามันบูมมานานมาก ก็อาจจะอยู่ในจุดที่จะต้องปรับตัวอะไรขึ้นมา ดังนั้น ในแง่ของความผันผวนสำหรับไตรมาสสี่ โดยส่วนตัวมองว่ายังเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอยู่มากทีเดียว”

17 views
bottom of page