top of page
312345.jpg

5 แบงก์ไทยแกร่ง รับกฎเหล็ก Basel 3 ได้


สบายใจ หายห่วง 5 แบงก์ไทยแกร่ง แบงก์ชาติยกระดับปรับสู่กฎ Basel III มั่นใจทั้ง 5 แบงก์ตั้งสำรองเงินกองทุนเพิ่มได้โดยไม่กระทบผลกำไร ส่วนแบงก์อื่นที่เหลือก็แข็งแกร่ง แต่ยังให้อยู่ใต้กฎ Basel II เพื่อค่อยๆ ปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานเดียวกันใน 2-3 ปีข้างหน้า นายแบงก์รุ่นเดอะชี้ งานนี้แบงก์ชาติทำถูกที่ถูกเวลา แต่พลาดเรื่องการ PR และการสื่อสาร ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและตระหนกตกใจกันเล็กๆ

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารทหารไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยน.ส.พ. “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องคุมเข้มสถาบันการเงิน 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกสิกรไทย ให้ตั้งสำรองเงินกองทุนเพิ่มว่า ไม่มีอะไรน่ากลัว ซึ่งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศคุมเข้มเป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งของ 5 ธนาคาร โดยเฉพาะกฎที่ให้ธนาคารคงเงินกองทุนกับสินทรัพย์เสี่ยง

“สินทรัพย์เสี่ยง หมายถึง สินเชื่อต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยออกไปในอัตราส่วนตามกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากล เรียกว่า Basel III ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนผันให้ใช้เกณฑ์ Basel II ไปก่อน โดยกฎของ Basel II จะไม่เข้มเท่ากฎ Basel III จนกระทั่งเห็นว่าธนาคาร 5 แห่ง มีความมั่นคง มีกองทุนเพียงพอ สามารถรับภาระเพิ่มขึ้นได้แล้วจึงมีประกาศออกมาให้ 5 ธนาคารนี้ใช้กฎ Basel III ที่เข้มขึ้น ซึ่งกฎที่เข้มข้นก็สะท้อนถึงความแข่งแกร่งของแบงก์ จึงได้นำกฎนี้มาใช้ แล้วคนที่ฝากเงินหรือลูกค้าก็จะยิ่งมั่นใจได้ว่าธนาคารพาณิชย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ปกป้องความเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีได้ นอกเหนือจากเรื่องคนฝากถอนหรือคนที่มาใช้บริการสินเชื่อแล้ว คนที่ติดต่อระหว่างประเทศโดยเฉพาะสถาบันการจัดอันดับทั้งหลาย ถ้าธนาคารใดอยู่ภายใต้กฎมาตรการ Basel III ก็จะได้รับความเชื่อถือมากกว่าและได้รับการจัดอันดับได้ดีกว่า ซึ่งทั้ง 5 แบงก์ปัจจุบันมีอันดับเครดิตเท่ากับเครดิตของประเทศไทย คือ BBB+ ของ S&P และ BAAA 1 ของ Moody's

ส่วนธนาคารพาณิชย์อื่นที่ยังใช้กฎ Basel II นั้น นายสมชายกล่าวว่ามีความแข็งแกร่งเช่นกัน ทั้งนี้เพราะนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คุมเข้มมาตลอด เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดกับระบบสถาบันการเงินของไทย

“จนกระทั่งบางครั้งไปกล่าวหาว่าแบงก์ชาติเข้มงวดเกินไปหรือไม่ จนทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ซึ่งความจริงแล้วแบงก์ชาติก็ทำตามมาตรฐานในการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นระหว่างกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินของประเทศไทยทุกแห่งมีความเข้มแข็งตามในมาตรฐานสากล ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพียงแต่ว่าสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำคือ ภายในระยะอีก 2-3 ปีข้างหน้า ธนาคารทุกแห่งต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่ตอนนี้ให้สถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กได้ปรับตัวไปก่อน และเมื่อถึงเวลาที่พร้อมแล้วก็ให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน...

เหตุผลที่ต้องให้ 5 แบงก์นี้ก่อน เพราะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงออกมามีความเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงเชิงระบบ หมายความว่า สินทรัพย์ สินเชื่อ เงินฝากของ 5 ธนาคารนี้คิดเป็น 75% ของระบบ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า GDP เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเกิดปัญหาใดกับแบงก์ใดแบงก์หนึ่ง ก็จะกระทบถึงระบบการเงิน การคลัง ฐานะของประเทศ แต่ยืนยันอีกครั้งด้วยความมั่นใจ 100% ว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องทำให้เข้าสู่มาตรฐานสากล และแบงก์ทั้ง 5 แห่งนี้นอกจากขนาดแล้ว ธุรกรรมที่ทำอยู่ในปัจจุบันมีธุรกรรมสลับซับซ้อนกว่าแบงก์ขนาดเล็ก เช่น ตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ธุรกรรมระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความพร้อมแล้วก็สามารถเข้าสู่มาตรฐานสากลได้ ส่วนแบงก์ที่มีขนาดเล็กกว่าที่ไม่ได้มีธุรกรรมสลับซับซ้อนมาก สามารถทยอยปรับเข้าสู่ระบบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ไม่ให้เข้าเพราะอ่อนแอ แต่ว่ายังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ที่ต้องรีบทำเทียบเท่าแบงก์ขนาดใหญ่...

“แบงก์ชาติผ่อนผันมา 2 ปี อยู่ๆ จะมาทำคงไม่ใช่ คิดว่าคงเห็นความพร้อมที่จะทำก็ทำ โดยเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังในการทำหรือระยะเวลาในการสั่งการไม่ได้ทำผิดเวลา ได้ทำตามขั้นตอนที่ควรจะทำ จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็คือการประกาศออกมาโดยไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลที่คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นการประกาศเพื่อให้แบงก์ทั้ง 5 แห่งเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล”

สำหรับการที่ทั้ง 5 ธนาคารต้องเข้าสู่กฎ Basel III และต้องสำรองเงินทุนเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบกับผลกำไรของธนาคาร เพราะธนาคารต้องนำกำไรหรือเงินทุนมาสำรองเพิ่มอีก 1% นั้น นายสมชายกล่าวว่า ถ้าสมมุติกำไรของธนาคารไม่ได้เพิ่มขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า แน่นอนว่ากำไรต้องลดลงถ้าหากต้องกันเงินสำรองไว้เพิ่มทุน

“แต่ที่จริงไม่ได้เป็นการสำรองเพราะกำไรจะเข้าไปอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งจะกลายเป็นทุนอัตโนมัติ ไม่ได้เหมือนสินเชื่อที่มีปัญหาแล้วไปตั้งสำรอง แต่ข้อเท็จจริงคือ ตอนนี้ธนาคารทุกแห่งในไทยมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเกินจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทั้งหมด เพราะฉะนั้นเชื่อว่าทั้ง 5 ธนาคารนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสัดส่วนงินกองทุนต่อสินทรัพย์ความเสี่ยงตอนนี้สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอยู่แล้วหรือเกินกว่ากฎ Basel III…

“ปกติแล้วทุนจะเป็นหุ้นที่ขายออกไปกับกำไรที่เก็บมา ก็จะไม่นับกองทุนหลากหลายประเภทที่เรียกว่ากองทุนขั้นที่ 1 เพราะฉะนั้นถ้าแบงก์มีกำไร ถ้าไม่จ่ายเงินปันผลออกมาก็จะกลายเป็นทุนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และถ้าหากว่ากำไรจากตรงนี้มีอยู่สูงเกินกว่าสัดส่วนที่กำหนดอยู่ใน Basel III ประมาณ 6.5-7% ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไม่จ่ายเงินปันผลหรือลดการจ่ายเงินปันผลลง เพราะแบงก์มีอยู่แล้วเกินความจำเป็น”

นอกจากนี้ นายสมชายยังได้แสดงความเห็นต่อ สถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงการคลัง ซึ่งอาจก่อปัญหาให้กับระบบการเงินโดยรวมว่า ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังพยายามเข้าไปมีบทบาทในการกำกับดูแลสถาบันการเงินพวกนี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ควรห่วงกับสถาบันการเงินพวกนี้มากนัก แต่ห่วงลูกค้าดีกว่าเพราะโดนคิดดอกเบี้ยหนักเพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ได้ปล่อยออกไป และต่อให้สถาบันการเงินพวกนี้มีปัญหาก็จะไม่กระทบต่อระบบเพราะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่อยู่ในระบบ และเฉพาะดอกเบี้ยที่คิดกับลูกค้าก็สามารถครอบคลุมความเสี่ยงได้แล้ว

“ถ้าดูขั้นตอน การปล่อยสินเชื่อส่วนหนึ่งเอามาจากทุนแน่นอน อีกส่วนต้องกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินในประเทศ ซึ่งปัจจุบันธนาคารค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว ถ้าหากมีธนาคารนอกระบบไปขอกู้กับธนาคารที่อยู่ในระบบ ก่อนที่จะปล่อยกู้ก็ต้องมาวิเคราะห์ดูก่อนว่าสินเชื่อที่จะปล่อยไปเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีหนี้เสียมากหรือไม่ จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ และเมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่าธนาคารนอกระบบที่มาขอกู้เงินไม่มีความน่าเชื่อถือ คุณภาพสินทรัพย์ไม่ดี ก็ไม่ปล่อยกู้อยู่ดี ถือว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงทางอ้อม ส่วนใครที่ไปหาธนาคารแล้วให้วิเคราะห์โครงการแล้วไม่อนุมัติ หากมองในมุมกลับกันคือ ธนาคารช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ ซึ่งคนที่ไปขอกู้อาจจะมองไม่เห็นแต่ธนาคารจะมีประสบการณ์สามารถเปรียบเทียบและมองเห็นได้ เหมือนเป็นการให้ธนาคารช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงให้”

78 views
bottom of page