top of page
379208.jpg

ระวังขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกิน 100% AI จะมาแทนที่


ข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาทต่อวันของเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศสำหรับปี 2561 กำลังเป็นระเบิดเวลาสำหรับรัฐบาล คสช.และรัฐบาลหน้า เมื่อแรงงานมนุษย์จะถูกหุ่นยนต์แทนที่

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ประกาศใช้กันมาตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งมาปรับขึ้นอีกครั้งเมื่อ 1 มกราคม ศกนี้

โดยคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-10 บาทใน 4 กลุ่มได้แก่

กลุ่มคงที่ 300 บาทต่อวัน แก่ 8 จังหวัดคือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

กลุ่มปรับขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา พระนครศรีอยุธยา

กลุ่มปรับขึ้น 10 บาทต่อวัน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต

กลุ่มปรับขึ้น 5 บาท 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

ขึ้นค่าแรงมาได้ 8 เดือน เมื่อ 8 ก.ย.ที่ผ่านมานี้ เครือข่ายแรงงานทั้งประเทศยื่นเสนอรัฐบาลขอปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 เป็น 600-700 บาทต่อวัน

สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยไปสู่ยุค Thailand 4.0 ที่จะมีการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากขึ้น

หากเป็นไปตามเป้าหมาย ยุค 4.0 สูตรโครงสร้างต้นทุนการผลิตจะเปลี่ยนไปมาก

ยกตัวอย่างโครงสร้างต้นทุนโดยเฉลี่ยในยุค 3.0 แบบลำลองคือ ค่าพลังงาน 45% ค่าแรงงาน 15% ค่าบรรจุภัณฑ์ 13% ค่าวัตถุดิบ 3% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นเครื่องจักร (ซื้อ เช่า บำรุงรักษา ค่าเสื่อม ฯลฯ) บริหาร ค่าเช่า ภาษี 24%

หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สมมุติว่าเป็นไปตามคำขอของสหภาพแรงงานจาก 310 เป็น 700 บาท เท่ากับต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 129%

ในยามปกติ หากมีการปรับค่าแรงเกิน 100% ผู้ประกอบการมักจะลดต้นทุนด้านอื่นๆ ลงมาชดเชย เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากนัก เพื่อรักษาขีดแข่งขัน

หากดูดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยและกำลังซื้อภายในประเทศแล้ว ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และซบเซาเช่นนี้ การขึ้นค่าแรงเกิน 100% ทำได้ยาก

โดยเฉพาะขณะนี้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของคนไทยถ่างกว้างมาก จนขยับขึ้นมาสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลกจากอันดับ 11 เมื่อปี 2558

รัฐบาลอาจจะหลงทางอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค ใช้ตัวเลขส่งออก ตัวเลขว่างงาน ตัวเลขเงินเฟ้อ อัตราผลกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นตัววัด

แต่ในด้านเศรษฐกิจจุลภาค ตัวเลขห้องแถว ตึกแถวร้าง ตัวเลขจำนวนแผงค้าตามริมถนน ตามตลาดนัด เพิ่มขึ้นเพราะการจ้างงานลดลง ลูกจ้างหันมาประกอบอาชีพส่วนตัวด้วยทุนน้อยนิดกันเพิ่มขึ้น

การที่ชนชั้นกลางและชั้นล่างของไทยยังมีอยู่ถึงกว่า 60% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่คนรวยสัดส่วนแค่ 5% มีมูลค่าทรัพย์สินและความร่ำรวยเทียบเท่ากับมูลค่าทรัพย์สินและเงินฝากของชนชั้นกลางและล่าง ทำให้เกิดภาพลวงตาว่าเมืองไทยมีฐานะดี

ภาวะติดหล่มหรือติดกับดักชนชั้นกลางจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้อธิบายด้วยความเหลื่อมล้ำที่มีสูง

รัฐบาลคสช.พยายามอัดเม็ดเงินลงไปในช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ เช่นการลงทะเบียนคนจน 14 ล้านคน เพื่อที่ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” จะได้โปรยเงินลงไปได้ถูกคน ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลดความเหลื่อมล้ำ

แต่การกระทำเช่นนั้น จะกลายเป็นภาระและเป็นตัวก่อหนี้ในงบประมาณหรือหนี้สาธารณะที่ผูกพันไม่รู้จบสิ้น

รัฐบาล คสช.ยังให้ความสำคัญต่ำต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้ผลิตและดัชนีผู้บริโภคที่ลดต่ำลงอย่างน่ากังวล ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนหรือขยายกิจการของนักลงทุนที่โยงไปถึงการสร้างงานที่ทำให้รายได้คนไทยเพิ่มขึ้นแท้จริง และทำให้สามารถเพิ่มค่าแรงได้เป็นปฏิสัมพันธ์กัน

แม้ว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปฏิภาคต่อการจ้างงานลดลง เนื่องจากมีการนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้เพิ่มขึ้น

ตัวแรงงานที่จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ก็คือ AI

ในภาษาเทคโนโลยีการผลิตหมายถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

หุ่นยนต์อุตสาหกรรมไม่ใช่หุ่นที่มีลักษณะเหมือนคนที่มีหัว มีลำตัว มีมือ มีเท้า เดินได้ เคลื่อนไหวได้

หากแต่หมายถึงเครื่องจักร เครื่องยนต์อัตโนมัติที่จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์ในอุตสาหกรรมทุกด้าน ทุกสาขา

เมื่อใดที่ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น ต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงเกิน 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ผู้ผลิตจะลดการจ้างแรงงานมนุษย์ หันมาใช้ AI แทน

แม้เหตุผลในการขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็คือ แรงงานทุกคนมีภาระต้องเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัว 2 คนโดยเฉลี่ย

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในภาคแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมไทยที่จะข้ามผ่านยุค 3.0 ไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งจะมีการจ้างงานน้อยลง

นาย AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์กว่าครึ่ง หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกิน 100% ของอัตราปัจจุบัน จึงต้องตั้งโจทย์ขึ้นมาเพื่อหาคำตอบว่า จะพบกันครึ่งทางระหว่างค่าจ้างแรงงานมนุษย์กับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ตรงไหน ?

เพราะนาย AI คงจะไม่สามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวมนุษย์อีก 2 คนได้เหมือนกับแรงงานมนุษย์ด้วยกันเอง

30 views
bottom of page