top of page
312345.jpg

แบงก์ Q2/60 กำไรทรงตัว...สินเชื่อแผ่ว-ตั้งสำรองสูง


ธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาส 2/60 และงวดครึ่งปีแรก กำไรสุทธิโตทรงตัว เหตุสินเชื่อโตไม่มาก ทั้งต้องตั้งสำรองเพิ่มสูง จากแนวโน้มหนี้เสียยังเป็นขาขึ้น กรุงไทยหนักสุดกำไรสุทธิเทียบครึ่งแรกปีก่อนหดกว่า 4.4 พันล้าน แถมหนี้เสียพุ่งจากกรณี EARTH

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/2560 และงวดครึ่งปีแรกของปี 2560 มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2560 จำนวน 8,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวดครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิ 16,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 15,487 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% เทียบกับไตรมาส 2/2559 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.31% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.0% สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมรับจากการบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากบริการอิเล็กทรอนิกส์และการโอนเงิน ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 12,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.8%ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,978,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% จาก สิ้นปี 2559 โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) คิดเป็น 3.7% ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและรักษาระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 129,918 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.6% ของเงินให้สินเชื่อ

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) รายงานผลการดำเนินงาน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2560 ตามงบการเงินรวม จำนวน 11,911 ล้านบาท ลดลง 7.1% จากจำนวน 12,818 ล้านบาทในไตรมาส 2/2559 เนื่องจากในไตรมาส 2/2559 มีการกลับรายการสำรองประกันภัยของ SCB Life จำนวน 4,300 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 26.1% จากปีก่อน หากไม่รวมรายการดังกล่าว รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.3% ซึ่งเมื่อรวมกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 4.7% ทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้น 4.2% อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 14.0% เป็นผลจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย 1.8% จากปีก่อน

เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 กำไรสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยยังคงเพิ่มขึ้น 1.0% จากไตรมาสก่อน และ 5.3% จากไตรมาสก่อนตามลำดับ ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 5.9% จากไตรมาสก่อน

สำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2560 กำไรสุทธิมีจำนวน 23,823 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% จากจำนวน 23,364 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ รวมถึงการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ส่วน NPL ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.65% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 ที่ 2.70% สำหรับไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 5,010 ล้านบาท หรือ 1.02% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับที่ดีที่ 133.5% ณ สิ้นไตรมาส 2/2560

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนการกันสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 36,620 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันในปีก่อน โดยลดลงเพียง 359 ล้านบาท หรือลดลง 0.97% การบริหารจัดการในธุรกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 936 ล้านบาท หรือ 8.88% จากธุรกิจบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น

ธนาคารมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 204 ล้านบาท (0.83%) จากนโยบายการควบคุมค่าใช้จ่าย อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio) เท่ากับ 39.85% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 39.81% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเพียง 94 ล้านบาท (0.22%) จากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก ด้วยการเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดีลง 0.50% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 3.40% เพิ่มขึ้น 0.16% จากช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งเท่ากับ 3.24%

สำหรับกำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อยในงวด 6 เดือนเท่ากับ 12,528 ล้านบาท ลดลง 4,317 ล้านบาท หรือ 25.63% กำไรสุทธิส่วนของธนาคารจำนวน 11,760 ล้านบาท ลดลง 4,471 ล้านบาท หรือ 27.55% สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้น จำนวน 4,974 ล้านบาท หรือ 30.40% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงและหลักเกณฑ์ความระมัดระวังของธนาคาร โดยได้กันสำรองหนี้สูญเต็มจำนวน สำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทำให้สามารถคงอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารและบริษัทย่อยที่ 112.50% ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 99,078 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio-Gross) 4.33% ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามดูแลและการแก้ไขมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรักษาระดับของอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้มีความเหมาะสม คงอัตราเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่า 110% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ธนาคารและบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ เท่ากับ 1,918,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,921 ล้านบาท หรือ 0.73% จากสิ้นปี 2559 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าภาครัฐ ด้านเงินรับฝาก ลดลง 9,982 ล้านบาท หรือลดลง 0.51%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับงวดแรก ปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดแรก ปี 2559 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 19,157 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 19,074 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,108 ล้านบาท หรือ 4.76% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.42% อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 1,614 ล้านบาท หรือ 4.88% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนลดลง ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน และยังคงตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 635 ล้านบาท หรือ 2.09% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 39.88%

ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2/2560 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 8,986 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,185 ล้านบาท หรือ 11.65% ส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและภาษีเงินได้จำนวน 23,459 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ 23,381 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 255 ล้านบาท หรือ 1.11% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.43% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 450 ล้านบาท หรือ 2.90% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 627 ล้านบาท หรือ 4.12% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 40.32%

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.31% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 อยู่ที่ระดับ 141.17% จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลการดำเนินงานสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2560 มีกำไรสุทธิ จำนวน 1.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.8% คิดเป็นจำนวน 2.662 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ส่วนเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 5.0% หรือจำนวน 5.502 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.82% ปรับตัวดีขึ้นจาก 3.78% ในครึ่งปีแรกของปี 2559 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 6.5% จากครึ่งปีแรกของปี 2559 ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งเติบโต 8.9% และ 5.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 47.2% ในไตรมาส 2/2560 ปรับตัวดีขึ้นจาก 48.8% ในไตรมาส 1/2560

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 2.24% ในเดือนมิถุนายน 2560 อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 143.6% อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ 15.96% ปรับตัวดีขึ้นจาก 14.16% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559

ธนาคารธนชาต (TBANK) รายงานผลการดำเนินงานของไตรมาส 2/2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 3,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.80% จากไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.48% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ขณะที่งวด 6 เดือน ปี 2560 มีกำไรสุทธิจำนวน 6,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.01% จากงวดเดียวกันปีก่อน ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงมาอยู่ที่ 2.16% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20.39%

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สำหรับไตรมาส 2/2560 มีกำไรสุทธิ 356.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39.8 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนงวด 6 เดือน มีกำไรสุทธิจำนวน 477.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110.6 ล้านบาท หรือ 30.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานลดลงจากงวด 6 เดือนปี 2559 จำนวน 104.7 ล้านบาท หรือ 1.6% มาอยู่ที่ 6,383.1 ล้านบาท หากชดเชยด้วยการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 158.6 ล้านบาท หรือ 21.5% สำหรับอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin-NIM) สำหรับงวด 6 เดือนปี 2560 อยู่ที่ 3.81% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2559 ที่อยู่ที่ 3.79% เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 2.024 แสนล้านบาท ลดลง 2.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ส่วนเงินฝาก มีจำนวน 2.07 แสนล้านบาท ลดลง 7.4% จากสิ้นปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 2.235 แสนล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 97.7% จาก 92.4% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.13 หมื่นล้านบาท อัตราส่วน NPL อยู่ที่ 5.4% ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ที่อยู่ที่ 6.1% มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2560 สำหรับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 84.0% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 77.3% นอกจากนี้ เงินสำรองของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่จำนวน 9.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.3 พันล้านบาท

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2560 มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 2,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 2/2560 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2559 มีกำไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,185 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 มียอดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 11,089 ล้านบาท โดยมียอดสำรองทั่วไปทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท อัตราส่วนสำรองทั้งสิ้นต่อสำรองตามเกณฑ์เท่ากับ 185.1% เปรียบเทียบกับ 169.8% ณ สิ้นไตรมาส 2/2559 และมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 104.6% เพิ่มขึ้นจาก 95.7% ณ สิ้นไตรมาส 2/2559

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 17.54% โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.20% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 2/2560 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 18.64% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 15.30%

สินเชื่อของธนาคารไตรมาส 2/2560 มีการขยายตัว 2.8% จากสิ้นไตรมาส 1/2560 ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2560 สินเชื่อโดยรวมของธนาคารขยายตัว 4.1% ในด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 โดยอัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2560 อยู่ที่ 5.8% เพิ่มขึ้นจาก 5.6% ณ สิ้นปี 2559 ทางด้านธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารขายทรัพย์รอการขายได้ ในไตรมาสที่ 2/2560 จำนวน 142 ล้านบาท

85 views
bottom of page