
วิบากกรรม...ไม่น่าเชื่อว่า “อนันต์ อัศวโภคิน” จะมีวันนี้ วันที่ต้องยอมตัดแขนขาเพื่อรักษาชีวิต จำยอมลาออกจากทุกตำแหน่งในอาณาจักร LH แต่ก็ยังไม่พ้นบ่วงเวรกับชนักที่อาจปักหลังจากคดีที่ดีเอสไอเป็นเจ้าภาพเล่นหนัก ทั้งข้อหาฟอกเงิน-ทำธุรกรรมลวง
ก่อน จะเข้าสู่วงการเมือง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสืบทอดจากบิดา จนประสบความสำเร็จ สามารถทำรายได้และผลกำไรมหาศาล จนสามารถขยายอาณาจักรสู่ธุรกิจอื่นๆ ไปทั่วโลก กลายเป็น "ไอดอล" ของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนโลก แต่หลังจากทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐแค่ 100 กว่าวันเศษ ก็มีข่าวฉาวโฉ่ ทั้งเรื่องการฉ้อฉล ทั้งด้านการเมืองและธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หันมาดูเมืองไทย ผู้ประกอบการที่ได้รับการยอมรับในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาหลายสิบปี มีโครงการทั้งแนวสูง-แนวราบหลายร้อยโครงการ ทำรายได้ครองแชมป์รายได้มายาวนาน จนเป็น "ไอดอล" ของนักพัฒนาที่ดินไทยก็คือ นายอนันต์ อัศวโภคิน
แต่ขณะนี้นายอนันต์เริ่มมีปัญหาที่สั่นคลอนอาณาจักรของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว หลังถูกหมายเรียกสอบสวนเส้นทางการเงินและธุรกรรมการรับ-โอนที่ดินของนายอนันต์ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับนายศุภชัยและพระธัมมชโย โดยเฉพาะเงื่อนปมการซื้อบริษัทที่ดิน ที่มีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องเข้ามาสอบคดี
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงกรณีการอนุมัติให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ว่า คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนพบหลักฐานชัดเจนว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด นำเงินของสหกรณ์มาซื้อหุ้นทั้งหมดหรือเทคโอเวอร์ บริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จำกัด โดยทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทนี้เป็นที่ดิน ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หลังจากนั้นได้มีการทำหนังสือสัญญาขายต่อที่ดินดังกล่าวบางส่วนให้นายอนันต์ และนายอนันต์มอบที่ดินบริจาคให้กับวัดพระธรรมกายโดยมูลนิธิคุณยายจันทร์ขนนกยูงซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระธัมมชโยใช้ทำประโยชน์ แต่ที่ดินยังถือครองอยู่ในชื่อของนายอนันต์
พ.ต.อ.ไพสิฐกล่าวด้วยว่า หลักฐานมีความชัดเจนว่าเป็นการร่วมกันฟอกเงิน หลังจากนี้พนักงานสอบสวนยังต้องพิสูจน์เส้นทางการเงินว่ามีการซื้อขายและจ่ายเงินกันจริงหรือไม่ เพราะอาจเป็นการทำสัญญาลวง อีกทั้งปัจจุบันที่ดินในความครองครองของเอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 อีกส่วนหนึ่งถูกขายต่อไปให้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ ซึ่งในชั้นสอบสวนพบว่าเป็นการอนุมัติซื้อขายโดยคณะกรรมการบริหารสหกรณ์คลองจั่นฯชุดใหม่ ซึ่งที่ดินแปลงนี้ได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งศาลแพ่ง ดีเอสไอ จึงไม่ได้อายัดไว้เป็นของกลาง ทำให้กรรมการสหกรณ์สามารถอนุมัติซื้อขายได้
ส่วนกำหนดนัดในการออกหมายเรียกนายอนันต์นั้น พ.ต.อ.ไพสิฐชี้แจงว่าขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังเร่งประสานอัยการสำนักการสอบสวน เพื่อกำหนดวันในการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ เนื่องจากการสอบสวนในคดีพิเศษจำเป็นต้องมีพนักงานอัยการร่วมในการสอบสวน โดยคาดว่าจะเรียกนายอนันต์เข้านัยทราบข้อกล่าวหาได้ภายในต้นเดือนมิถุนายนนี้
ดีเอสไอเล็งออกหมายเรียก
ลูกสาว “อนันต์ อัศวโภคิน”
พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองโฆษก กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และดีเอสไอ มีการประชุมกันทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ถูกออกหมายเรียกให้มาพบเจ้าหน้าที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเรียกให้มารายงานตัว 258 ราย และ 2. กลุ่มมีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ 94 ราย โดยมีมารายงานตัวแล้ว 191 ราย นอกจากนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ยังสั่งการให้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ และกรมแผนที่ ไปตรวจสอบที่ดินรังวัด รวมถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ในพื้นที่ที่ปลูกอาคารบุญรักษา เพื่อให้ได้ทราบแน่ชัดว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของใคร หากเป็นของ น.ส.อลิสา อัศวโภคิน บุตรสาวของนายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จริง ดีเอสไอจะดำเนินการออกหมายเรียกมาสอบถึงที่มาที่ไปในการสร้างอาคาร และอนุญาตให้วัดพระธรรมกายใช้สถานที่ เหมือนกรณีป้าเช็ง
ส่วนกรณีพระทัตตชีโว รักษาการเจ้าอาวาส นำเงินจากบัญชีของวัดพระธรรมกาย ที่ได้จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีคดีเพิ่มเติมอีก 4 คดี โดยต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินและประสานไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าเข้าข่ายผิดกฎการซื้อขายหุ้นหรือเข้าข่ายผิดระเบียบการซื้อขายหรือไม่ หากเชื่อมโยงไปถึงใครจะเรียกตัวไปสอบถาม ส่วนพระที่มาตามหมายเรียก 14 รูป ขณะนี้ได้เข้าไปพบอัยการรับทราบข้อกล่าวหากรณีขัดคำสั่ง คสช.แล้ว 11 รูป ขาดเพียงพระทัตตชีโว, พระครูใบฎีกา และพระธัมมชโย
"ประดิษฐ์" ยอมรับ
ซื้อที่ดินใกล้ตลาดไท 2 แปลง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) ชี้แจงว่า มีการซื้อที่ดินแปลงของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จริง สาเหตุที่เข้าไปซื้อเพื่อกันคู่แข่งทางธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจเดียวกับตลาดไท ตอนแรกที่เข้าไปซื้อมีการจ่ายเงินมัดจำไปประมาณ 65 ล้านบาท ภายใต้ข้อตกลงในการซื้อที่ดินไร่ละ 10 ล้านบาท เนื้อที่กว่า 40 ไร่ แต่หลังจากมีการจ่ายมัดจำไปแล้ว กลับไม่สามารถโอนที่ดินแปลงดังกล่าวได้ มาทราบภายหลังหลังว่าติดปัญหาอยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ในที่สุดก็สามารถเคลียร์ออกมาได้ และเพิ่งจะมีการโอนที่ดินเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ในส่วนของการซื้อขายที่ดินแปลงของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 นั้น นายประดิษฐ์กล่าวว่ามีการจ่ายเงินผ่านให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ไปแล้ว โดยราคาที่เสนอซื้อถือเป็นราคาตลาดที่มีการซื้อขายปกติในช่วงประมาณปี 2554 ไม่ได้กดราคารับซื้อแต่อย่างใด เหตุผลที่ต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว เพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินธุรกิจคือต้องการขยายพื้นที่ของตลาดไทเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับวัดพระธรรมกาย ราคาที่เสนอซื้อถือว่าเหมาะสม มีการจ่ายเช็คให้ถูกต้อง
นายประดิษฐ์กล่าวอีกว่า ไม่ทราบว่าบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 จะขายที่ดินให้กับใครด้วยหรือไม่ ทราบแต่เพียงว่าเจ้าของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 เดิมเป็นผู้ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวนับ 1,000 ไร่ และเป็นเจ้าของตลาดไทดั้งเดิมก่อนที่ตนจะเข้าไปรับซื้อจากบงล.ทิสโก้ มาบริหารเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ที่ดินบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นที่ดินผืนใหญ่ เคยมีการเสนอขายมาตลอด ต่อมาเจ้าของตัดขายเป็นแปลงๆ ซึ่งบริษัทซื้อที่ดินจากบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 เนื้อที่กว่า 40 ไร่ และในช่วงเวลาเดียวกันยังได้ซื้อที่ดินแปลงของนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เนื้อที่กว่า 40 ไร่ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีนายหน้ามาเสนอขาย และได้ตกลงซื้อในราคาไร่ละ 10 ล้านบาทเช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของการซื้อที่ดินแปลงของนายอนันต์นั้น นายประดิษฐ์กล่าวว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ตนเป็นคนเซ็นจ่ายเช็คให้กับนายอนันต์ 3 ใบ ตามราคาที่ซื้อขายไร่ละ 10 ล้านบาท และจ่ายเช็คภาษีให้กระทรวงการคลังอีก 1 ใบ สรุปคือที่ดินทั้ง 2 แปลงซื้อมาในช่วงเวลาเดียวกันคือประมาณปี 2554 เพื่อขยายธุรกิจตลาดไทให้ครบวงจร โดยเนื้อที่ของตลาดไทเดิมมีอยู่ประมาณ 400 ไร่ หากรวมกับที่ดินอีก 2 แปลงที่ซื้อเข้ามาใหม่อีกเกือบ 100 ไร่ ทำให้ปัจจุบันตลาดไทมีพื้นที่เพิ่มขึ้นเกือบ 500 ไร่ ขณะที่ดินของบริษัท เอ็ม-โฮม เอสพีวี 2 ดั้งเดิมในบริเวณเดียวกันมีอยู่ประมาณ 1,000 ไร่
หุ้น LH ไหลรูดรับข่าว
อนันต์ชิ่ง...ชิงลาออก
หลังมีข่าวนายอนันต์ อัศวโภคิน ถูกเรียกสอบสวนโดยดีเอสไอทำให้ราคาหุ้น LH .ในขณะนั้นไหลลง 4.02% มาอยู่ที่ 9.55 บาท โดยเปิดตลาดที่ 9.65 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 9.70 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 9.50 บาท ทำให้บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ต้องออกมาชี้แจงว่าทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่กรณีของนายอนันต์ถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ LH และขอให้นักลงทุนเชื่อมั่น เพราะแผนการดำเนินธุรกิจของ LH จะไม่ได้รับผลกระทบและยังคงเป็นไปตามแผนเดิม
ต่อมาบมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า นายอนันต์ อัศวโภคิน ได้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการและกรรมการ LHBANK และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2560
ขณะที่ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) แจ้งว่า นายอนันต์ ประธานกรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากทุกตำแหน่งของบริษัท และยังขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) และประธานกรรมการและกรรมการ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2560
ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ธปท.ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งของนายอนันต์แล้ว การแต่งตั้งประธานกรรมการคนใหม่ ธนาคารจะต้องส่งเรื่องให้ ธปท.พิจารณาทันที ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า เมื่อนายอนันต์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนทั้ง 4 แห่งแล้ว ในชั้นนี้จึงไม่มีประเด็นที่ ก.ล.ต.จะต้องนำมาพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนอีก
ตลท.เกาะติด
แต่ไม่ทวงคืนรางวัล Best CEO of The Year
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีนายอนันต์ อัศวโภคิน ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการและกรรมการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ว่า ตามกฎเกณฑ์การเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินมีความเข้มงวดเรื่องคุณสมบัติมากกว่าการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั่วไป เนื่องจากบุคลากรภาคสถาบันการเงินเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินฝากของประชาชน ซึ่งตำแหน่งของนายอนันต์ในบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ นั้น ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการดำรงคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนระบุว่า จะขาดคุณสมบัติเมื่อถูกศาลพิพากษามีคำสั่งถึงที่สุดของคดีและให้ยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงิน แต่ขณะนี้กรณีของนายอนันต์ ยังอยู่ในขั้นตอนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกมารับทราบข้อกล่าวหาว่าสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยคดียังไม่สิ้นสุดและยังไม่มีคำตัดสินของคดีออกมา อย่างไรก็ตาม ตลท.ได้ส่งหนังสือไปยังกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้ชี้แจงข้อมูลทันทีหากมีความคืบหน้า
ส่วนกรณีที่นายอนันต์ เคยได้รับรางวัล Best CEO Of The Year ปี 2547 จะมีการทบทวนรางวัลดังกล่าวหรือไม่นั้น นางเกศราชี้แจงว่า การมอบรางวัลดังกล่าวเป็นการพิจารณาผลงานในแต่ละรอบปี ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการหารือในคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัลถึงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการพิจารณามากขึ้นว่าผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องมีคุณสมบัติดีตลอดไปด้วยหรือไม่ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการยังแตกต่างกันและยังไม่มีข้อสรุป แต่ ตลท.ได้เน้นย้ำเรื่องธรรมาภิบาลมาโดยตลอด กรณีนายอนันต์นั้นยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีความผิดหรือไม่มีความผิด ยังต้องรอว่าดีเอสไอจะแจ้งข้อหาอย่างไร รวมทั้งต้องรอคำตัดสินของศาล จึงยังไม่มีการทบทวนรางวัล Best CEO Of The Year แต่อย่างใด
เครดิตภาพ: http://www.koratstartup.com