top of page
347550.jpg

Thailand 4.0 นายแบงก์ สูญพันธุ์!! ยุคมืดคนใส่สูทผูกไท


ตีแผ่ความจริง Thailand 4.0 กระทบชีวิต-ครอบครัวคนทำงานแบงก์โดยตรงอย่างแรง ถูกโยกย้าย/ตกงานกันเป็นว่าเล่น หลังจากสาขา, องค์กรถูกยุบให้เปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่น ใครไม่สามารถปรับตัวได้ต้องหายไปจากระบบ สหภาพแรงงานฯเตือนคนอาชีพแบงก์ร้อยละ 40 เตรียมตัวเตรียมใจเผชิญชะตากรรมโหดในอนาคต ฟันธง! ในอนาคตอาชีพ “แบงเกอร์-นายแบงก์” อาจสูญพันธุ์ คนทำงานแบงก์ส่วนใหญ่จ้าง “เอาท์ซอร์ส” หรือ “ฟรีแลนซ์” ทำงานแทน

นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน (Bfun) เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงสถานการณ์แรงงานฝ่ายลูกจ้างธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม ต้องยอมรับว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ค่อนข้างมีผลกระทบมากพอสมควร วันนี้ได้เห็นว่านวัตกรรมเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นดิจิทัล ทำให้พนักงานที่ทำงานในภาคธนาคารได้รับผลกระทบแน่นอน

“การเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนจากเดิมเป็นอินฟราสตัคเจอร์ เช่นในเรื่องของการใช้จนถึงดิจิทัลอย่างเอทีเอ็มสมัยก่อน ส่วนนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นผ่านโมบายแบงกิ้ง ซึ่งเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว พนักงานถูกปลดออกไป มีการเปลี่ยนแปลงงาน และมีผลกระทบมากที่สุด ขณะนี้หลายธนาคารเริ่มขยับแล้ว อย่างธนาคารไทยพาณิชย์เริ่มปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อรองรับในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงมีการนำพนักงานทั้งเก่าและใหม่เข้าไปเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง และรองรับตัวนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะผลักดัน 4.0 ให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล

“ธุรกรรมของธนาคารรูปแบบเดิมมี 2 หลักใหญ่ คือ เรื่องของบริการ กับธุรกรรมที่เป็นรายได้หลักๆ ของธนาคาร คือ ฝ่ายสินเชื่อช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รูปแบบก็จะเปลี่ยนจากยุค 3.0 มีการเปลี่ยนแปลง มีผลิตภัณฑ์การเงินเพิ่มมากขึ้น แต่วันนี้ในเรื่องของแรงงานรูปแบบก็จะเปลี่ยนไป ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถใช้แทนคนได้ ทำให้พนักงานในปัจจุบันล้นตลาดแน่นอน ถ้ามีการโอนย้ายแผนกของพนักงานเหล่านี้ทำให้กดดัน เพราะรูปแบบการทำงานแต่เดิม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนในการที่จะทำงาน แต่วันนี้ก็จะมีการเปลี่ยนรูปแบบไป ไม่ว่าการจัดเก็บข้อมูลจะใช้ดิจิทัลทั้งหมด ใช้ระบบในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ใช้คนน้อยลง ดังนั้น รูปแบบต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารใดก็แล้วแต่ คนถูกจัดให้ไปดูงานบริการหลังบ้าน เช่นเรื่องของการทำธุรกรรม การไปเป็นเซลล์ หลายๆ องค์กรคงยังไม่ได้เลิกจ้าง แต่พนักงานอาจถูกจัดไปทำในส่วนธุรกรรมเสริมของธนาคารในอนาคต พนักงานกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถปรับตัวได้ในการที่จะไปทำงานในตำแหน่งงานใหม่ๆ หรือว่ารูปแบบของงานใหม่ๆ กลุ่มนี้ก็จะหายออกไปจากระบบ”

“ในส่วนของสหภาพแรงงานทั้งในส่วนไทยพาณิชย์เองรวมทั้งเครือข่ายสหภาพแรงงาน ธนาคารและสถาบันการเงินนั้น นายไวทิตเปิดเผยว่า มีการขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา เน้นปกป้องพนักงานให้ได้รับความยุติธรรมมากที่สุด ส่วนตัวในฐานะนั่งเป็นประธานพยายามรวบรวมประเด็นปัญหา แล้วก็มีการหารือกับผู้บริหารทั้งไทยพาณิชย์เอง และสหภาพแรงงาน ก็มีการหารือในภาพรวม และก็มีการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยเอง หรือสมาคมธนาคารไทย”

“ในแง่ผลตอบแทนหรือรายได้ของพนักงานธนาคารในปัจจุบัน ถือว่ายังพอรับได้ หากเป็นยุคก่อนนี้จะเป็นเหมือนแรงงานเฉพาะ โดยการเข้ามาทำงานในธนาคารค่อนข้างจะถูกคัดสรร แต่ปัจจุบันด้วยผลิตภัณฑ์ธนาคารที่มีมากขึ้น การใช้พนักงานที่จบการเงินโดยตรงก็ลดลง คือสามารถใช้แรงงานที่จบจากสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้ เช่นในเรื่องของการตลาด” นายไวทิตกล่าวและว่าสหภาพแรงงานวิตกในเรื่องของเออรี่ รีไทร์ ทุกสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถือเป็นการซ้ำเติมแรงงานทุกๆ องค์กรไม่อยากให้เกิด“

ในส่วนธนาคารไทยพาณิชย์เอง ส่วนตัวได้ยื่นหนังสือไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือจะขอหารือในตัวโครงสร้างองค์กรว่าวันนี้ที่ได้สื่อผ่านพนักงาน สื่อผ่านสหภาพแรงงานมา ความชัดเจน มันยังไม่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ ว่าการเกลี่ยคน ทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้นำร่องไปแล้ว เรียกว่าโครงสร้างขององค์กรขึ้นมาใหม่ จะดูแลพนักงานทั้งเก่าและใหม่ เรียกว่าเอสซีบีอะคาเดมี่ ตรงนี้เป็นโครงสร้างองค์กรใหม่ที่กำลังจะปรับให้พนักงานสามารถอยู่ในองค์กรได้ คือธนาคารไทยพาณิชย์เอง แจ้งผ่านสหภาพแรงงานแล้วว่าไม่มีเออรี่ รีไทร์ คือยังดูแลพนักงานทั้งองค์กรอยู่กว่า 2 หมื่นคน”

สำหรับผลกระทบต่อพนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบนั้น นายไวทิตประเมินว่ามีไม่ต่ำกว่า 40% หน่วยงานที่เป็นสินเชื่อ เดิมทีถูกฝังอยู่ตามสำนักงานเขตทั่วประเทศ ตอนนี้โครงสร้างกลายเป็นโยกย้ายและยุบ เคลื่อนย้ายหน่วยงาน พนักงานต้องย้ายจากภูมิภาคต่างๆ ไปอยู่ส่วนกลาง ตรงนี้พนักงานมีผลกระทบครอบครัวต้องแยกกันอยู่ก่อนหน้านี้ทางธนาคารไทยพาณิชย์มีการปรับ คือมีการแยกเซลล์กับเซอร์วิส ออกจากกันเซอร์วิสก็คือต้องให้บริการตามหน่วยงานสาขาให้บริการลูกค้า ทำให้จำนวนพนักงานต้องลดลง ขณะที่ในส่วนของเซลล์ มีหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ของธนาคารรูปแบบผลิตภัณฑ์ก็มากตาม พนักงานที่ไปอยู่ในส่วนของเซลล์ ปัจจุบันได้ออกจากงานเกือบครึ่ง เนื่องจากตัวเป้าหมายของธนาคารเองค่อนข้างจะสูง สุดท้ายก็ต้องออกจากองค์กรไป

“วันนี้ธุรกรรมของธนาคารได้เปลี่ยนไปชัดเจน ความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นบัญชี หรือการเงินการธนาคาร หรือเศรษฐศาสตร์เมื่อก่อนหน้านี้ รูปแบบของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารเปลี่ยนไป ดังนั้น คนที่จะมาทำงานธนาคารต่อไปนี้ อาจจะเป็นลักษณะของฟรีแลนซ์ด้วยซ้ำไป หรือเป็นเอาท์ซอร์สที่ทำงานทดแทนกันได้ ดังนั้น พนักงานที่เป็นแบงก์เกอร์จริงๆ อาจจะเหลือน้อย และคงเหลือแค่คอนโทรลในเรื่องของตัวระบบและดูแลทั่วไปเท่านั้นเอง” นายไวทิตกล่าวและพูดถึงการรับพนักงานใหม่ในปัจจุบันของธนาคาร/สถาบันการเงินว่า น่าวิตกอย่างมาก มีการรับกลุ่มงานหรือแรงงานที่เป็นลักษณะงานแบบเอาท์ซอร์ส ซึ่งงานบางอย่างได้ให้เอาท์ซอร์สทำแทนได้ ดังนั้น งานด้านโอเปอร์เรชั่นแน่นอนว่ามีผลกระทบมากที่สุด ส่วนงานหน้าบ้าน จำนวนอัตราถือว่าลดลง

“มองจากตัวภาพรวมที่เกิดขึ้น เรื่องของแรงงานสัมพันธ์แน่นอนว่าพนักงานเองจะต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ ขณะนี้มีธนาคาร 4-5 ธนาคาร ที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่สามารถปกป้องพนักงานขององค์กรนั้นๆ ได้ ดังนั้น จะต้องรวมตัวกันให้ได้ วันนี้นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้ คือไม่ผิดกฎหมายด้วย กฎหมายของประเทศไทยไม่สามารถใช้ได้จริง ไปอยู่ในกระบวนการศาลแล้วก็ไปอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ย ดังนั้น สิ่งที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไหนก็แล้วแต่ จะต้องมีการเจรจา แล้วมุ่งไปสู่ในเรื่องของความเป็นหุ้นส่วนไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนของแรงงาน และตัวองค์กร ต้องมุ่งเป้า และดำเนินทุกๆ วิธีการ เพื่อจะปกป้องสิทธิ์พนักงานหรือแรงงานทั้งหมดเลย”

นายไวทิตกล่าวถึงบทบาทของสหภาพแรงงานธนาคารไทยพาณิชย์กับเครือข่าย Bfun ที่ผ่านมา ไม่ได้พยายามที่จะปกป้องแค่พนักงานในองค์กรนั้นๆ เท่านั้น ยังได้เข้าไปดูแลในส่วนของประชาชนทั่วไปด้วย เราเองเคยนำเสนอเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในเรื่องของการลดค่าธรรมเนียมที่ซ้ำซ้อนอยู่ ส่งผลให้ปัจจุบันดีขึ้นแล้ว จากที่ส่งหนังสือถึงคสช. และยังมีการทำหนังสือไปที่สมาคมธนาคารไทย ทำให้รูปแบบทุกวันนี้ดีขึ้น ขณะที่ประชาชนผู้บริโภคทั่วไปได้รับค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรมมากขึ้น ส่วนนี้ยังไม่ใช่คำตอบที่อยากได้ แต่สิ่งที่อยากได้ คือที่มันเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเราเองพยายามที่จะปกป้องทั้งในเรื่องของแรงงานที่ทำงานในภาคธนาคารและก็ประชาชนทั่วไป

“เวลานี้คนที่ทำงานเป็นผู้นำแรงงานได้รับผลกระทบแน่นอน เพียงแต่ว่าองค์กรเขาจะยังไม่แตะโดยตรงแต่ใช้วิธีบีบแบบอ้อมๆ ที่ผ่านมา ส่วนตัวที่ทำงานก็จะมีผลกระทบแน่นอนทั้งในเรื่องของการพิจารณาความดีความชอบ เคพีไอเราชัดเจน แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่เป็นตามที่เคพีไอตกลงกัน ดังนั้น วันนี้เราควรช่วยกันปกป้องเพื่อทำให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาคธนาคารเองหรือสังคมโดยรวมของประเทศ เดินไปสู่เป้าหมายและจุดมุ่งหมายเดียวกัน และพยายามที่จะปกป้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้คนทั้งประเทศได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานตามที่ควรจะเป็น” นายไวทิตกล่าวและเปิดเผยว่า

“วันนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานมีผลกระทบแน่นอน คือมีการเคลื่อนย้ายง่าย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทำให้มีผลกระทบในภาพกว้าง ส่วนตัวคาดว่าการสูญพันธุ์ของภาคธนาคาร ต่อไปนี้พนักงานที่เป็นแบงก์เกอร์จริงๆ แล้วต่อไปนี้จะเหลือน้อย ขณะเดียวกันวันนี้ส่วนตัวจะยังอยู่จนกว่าองค์กรจะไม่เห็นความสำคัญ มองว่าสหภาพแรงงานไม่ได้ปฏิปักษ์กับองค์กร แต่เป็นเสมือนตัวกลางที่จะคอยประสานพนักงานกับองค์กร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้ แต่ถ้าวันนี้ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แน่นอนว่าผลกระทบยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จากนี้จะเกิดอะไรขึ้น”

4,298 views
bottom of page