top of page

KBANK ชี้คนใช้พร้อมเพย์น้อย..บุกตลาดสดปลุกยอดโต 10 เท่า


กสิกรไทยแจงคนยังใช้บริการพร้อมเพย์น้อยแค่ 2.35 หมื่นรายการต่อวันเมื่อเทียบกับจำนวนที่ลงทะเบียน 3 ล้านรหัส เหตุคนยังห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่รายการโอนเงินมากขึ้น 130% เมื่อเทียบกับการโอนเงินแบบเก่า เชื่อต่อไปโตก้าวกระโดดหลังคนคุ้นเคย ล่าสุดโดดร่วมร้านค้ารายย่อย ตลาดสดให้รับชำระเงินด้วยพร้อมเพย์ หวังกระตุ้นยอดลงทะเบียนเพิ่มเป็น 5 ล้านรหัส ยอดธุรกรรมโต 10 เท่า ด้านติดตั้งเครื่อง EDC ให้กระทรวงคลังส่อเค้าเหลว เจ้าของกิจการไม่สนใจ

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เปิดบริการโอนเงินพร้อมเพย์แก่ลูกค้าบุคคลธรรมดาเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผ่านช่องทาง K-ATM, K-Cyber และ K-Mobile Banking PLUS โดยสามารถโอนเงินให้ผู้รับเงินที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้แล้วกับทุกธนาคาร ซึ่งการใช้บริการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารกสิกรไทยราว 3 ล้านรหัส โดยมีลูกค้าโอนเงินออก รับโอนจากธนาคารอื่น และโอนภายในธนาคารเองเฉลี่ย 23,500 รายการต่อวันในช่วงเดือนมีนาคม คาดว่าลูกค้าที่ยังไม่ใช้บริการอาจยังมีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นบริการใหม่

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าเริ่มคุ้นเคยในการทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์มากขึ้น โดยมีรายการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ของธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการทำรายการผ่านระบบเดิมของธนาคารในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่มีประมาณ 10,000 รายการต่อวัน หรือเติบโตขึ้นมากกว่า 130% ซึ่งประมาณ 80% ของธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์บนช่องทางธนาคารกสิกรไทยในเดือนมีนาคมเป็นรายการโอนข้ามธนาคาร

ทั้งนี้ เชื่อว่าในช่วงต่อไปแนวโน้มปริมาณธุรกรรมและยอดผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเป็นระบบที่มีความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดค่าธรรมเนียม เช่นเดียวกับช่วงแรกที่ธนาคารเปิดให้บริการ K-Mobile Banking ลูกค้าสนใจใช้บริการน้อย แต่เมื่อลูกค้ามีความรู้ ความเข้าใจ มีความคุ้นเคย และมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย จำนวนผู้สมัครใช้บริการและการทำธุรกรรมผ่าน K-Mobile Banking กลับพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“ในระยะต่อไปลูกค้าจะใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางหลักอย่างต่อเนื่อง การที่ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมผูกบริการพร้อมเพย์กับบัญชีหลักที่ใช้เป็นประจำ จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารจะรุกตลาดได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีฐานกลุ่มลูกค้าทั่วไป (Mass) ที่ใช้บริการของธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารหลักถึงประมาณ 30% และกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลาง (Middle Income) ประมาณ 23% ในขณะที่มีลูกค้าผูกเบอร์โทรศัพท์มือถือกับบัญชีพร้อมเพย์ในปัจจุบันเพียง 5.5 ล้านเลขหมาย จากหมายเลขโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศเกือบ 90 ล้านเลขหมาย โดยเป็นสมาร์ทโฟนราว 90%” นายพัชร กล่าวและเผยต่อไปว่า

ในไตรมาส 2 นี้ ธนาคารจึงได้เปิดตัวแคมเปญ “พร้อมเพย์ K สุด มั่นใจ ใครๆ ก็เพย์” เพื่อเพิ่มยอดผู้สมัครใช้เคแบงก์พร้อมเพย์ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าจากปัจจุบัน 3 ล้านรหัส เป็น 5 ล้านรหัสภายในสิ้นปีนี้ และจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า ส่งผลช่วยผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในชีวิตประจำวันของคนไทย ช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารลดลง แต่ในทางกลับกันธนาคารสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ทั้งการสำรองเงินสด การขนย้ายและเติมเงินสด การทำประกันเงินสด ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีได้

ทั้งนี้ ธนาคารมีเป้าหมายเดินสายลงพื้นที่ในตลาดสด ตลาดนัด เช่น ตลาด อตก. ร้านค้า รายย่อย โดยเมื่อพ่อค้าและแม่ค้าสมัครใช้พร้อมเพย์แล้ว ต่อไปลูกค้าที่ซื้อของจะสามารถโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้

นายพัชร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาบริการพร้อมเพย์สามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะผู้โอนเงิน ที่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างมั่นใจ เนื่องจากจะมีชื่อผู้รับเงินปลายทางขึ้นมาก่อนที่จะยืนยันรายการโอนทุกครั้ง นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดโปรโมชั่นให้ลูกค้าบุคคลที่สมัครเคแบงก์พร้อมเพย์ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ทุกธนาคาร ทุกวงเงิน ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2560

สำหรับในปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานบริการพร้อมเพย์ กับธนาคารกสิกรไทยมากกว่า 3 ล้านรหัสพร้อมเพย์ แบ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน 52% และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 48% โดยช่องทางที่ลูกค้าใช้ลงทะเบียนพร้อมเพย์มากที่สุดคือ ช่องทาง K-Mobile Banking PLUS สำหรับการลงทะเบียนของลูกค้านิติบุคคล ธนาคารเริ่มให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยลูกค้าจะใช้บัญชีธนาคารผูกกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีผ่านช่องทางสาขาและผู้จัดการสัมพันธ์ลูกค้าของธนาคาร และเปิดใช้งานเมื่อต้นมีนาคม 2560 เป็นต้นมา โดยกำลังเร่งสร้างความเข้าใจและประโยชน์ของบริการพร้อมเพย์ให้กับกลุ่มดังกล่าว ทั้งการลดต้นทุนและลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการเงินสดและเช็ค บริหารเงินได้สะดวกคล่องตัว ลดภาระการจัดส่ง จัดเก็บใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี โดยใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนกรณีที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับธนาคารกรุงเทพ ในชื่อกลุ่ม "กิจการการค้าร่วมโครงการอีเพย์เมนต์" และมีอีกกลุ่ม 5 ธนาคารในชื่อกลุ่ม TAPS ในการติดตั้งเครื่องรับบัตร (EDC) ให้กระทรวงการคลัง ตามเป้าหมายขยายเครื่องรับบัตร 5.6 แสนเครื่องทั่วประเทศ ปัจจุบันธนาคารได้เข้าพบกิจการต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังได้นำเสนอรายชื่อให้เพื่อเสนอให้ติดตั้งเครื่องรับบัตร โดยคิดค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate) หรือ MDR ในอัตราถูกกว่าปกติเพียง 0.55% ของมูลค่าสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม กิจการที่ธนาคารเข้าพบมีความสนใจที่จะติดตั้งเครื่องรับบัตรน้อยมาก เพียงไม่ถึง 10% ของกิจการที่ธนาคารได้เข้าพบ

“ตามเป้าหมาย ธนาคารต้องเข้าพบกิจการตามที่กระทรวงการคลังส่งรายชื่อมาให้ได้ 25% ของ 5.6 แสนรายภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งธนาคารสามารถทำในประเด็นการเข้าพบตามจำนวนเป้าหมายได้แน่นอน แต่การจะให้กิจการเหล่านั้นติดตั้งเครื่องรับบัตรยังเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีกิจการเหล่านั้นมีเครื่องรับบัตรอยู่แล้วและส่วนใหญ่ก็เป็นเครื่องรับบัตรของธนาคารกสิกรไทยที่เป็นเจ้าตลาดเครื่องรับบัตรกว่า 2 แสนเครื่อง จากที่ทั้งประเทศมีเครื่องรับบัตรทั้งหมดราว 4 แสนเครื่อง นอกจากนี้หลายกิจการคุ้นเคยกับการรับเงินสดจึงไม่ต้องการติดตั้งเครื่องรับบัตร หลายกิจการเป็นโรงงานไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งเครื่องรับบัตร หลายกิจการกังวลว่าต้องเสียภาษีเพิ่มเมื่อเชื่อมต่อกับระบบชำระเงินที่ตรวจสอบการเงินได้ และหลายกิจการก็ปิดตัวไปแล้ว ทำให้คาดว่าน่าจะติดตั้งเครื่องรับบัตรได้เพียง 10% ของกิจการที่เข้าพบเท่านั้น และจะนำปัญหาเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป”

ส่วนกรณีที่ธนาคารบางแห่งของกลุ่ม TAPS ได้แข่งขันด้วยการลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรลงเหลือเพียง 0.3% นายพัชร กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยคงไม่ไปแข่งขันในเรื่องนี้ เนื่องจากกิจการต่างๆ ไม่ต้องการติดตั้งเครื่องรับบัตรอยู่แล้ว การลดค่าธรรมเนียมลงไม่ได้จูงใจอยากให้กิจการเหล่านั้นอยากติดตั้งเครื่องรับบัตรมากขึ้น ทำให้การลดค่าธรรมเนียมลงอีกจากที่เมื่อก่อนคิดค่าธรรมเนียม 3-5% จึงไม่มีประโยชน์

1 view
bottom of page